icon
giftClose
profile

5 ทักษะกู้ใจ เติมไฟการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม

27112
ภาพประกอบไอเดีย 5 ทักษะกู้ใจ เติมไฟการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม

บางส่วนจากเนื้อหาในกิจกรรม Webinar ปฏิบัติการด่วน ! ชวนคุณครูมาเป็น “หน่วยกู้ใจ” ด้วยการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ (SEL) ในวันที่ 20 สิงหาคม 2565 เวลา 10.00-12.00 น. ที่ผ่านมา

insKru ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจัดขึ้นเพื่อเติมมุมมองด้านการดูแลจิตใจและวิธีที่จะเยียวยาหัวใจ ฟื้นฟูทักษะที่ขาดหายไปในช่วงภาวะถดถอยทางการเรียนรู้

คุณบีน ภก.ณภัทร สัตยุตม์ นักจิตบำบัดความคิดพฤติกรรมและนักพฤติกรรมศาสตร์มาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยกับคุณครูกว่า 50 คนที่เข้าร่วมปฏิบัติการเป็นหน่วยกู้ใจ ทำความเข้าใจ การเรียนรู้อารมณ์และสังคม (Social Emotional Learning: SEL) ไปด้วยกัน ผ่านการยกตัวอย่างที่เชื่อมโยงกับบริบทของคุณครูตลอดการพูดคุย 



5 ทักษะกู้ใจที่จะทำให้คุณครูสร้างการเรียนรู้อารมณ์และสังคมไปกับนักเรียนได้


1

รู้จัก รับรู้ และสามารถจัดการอารมณ์ 

นักวิทยาศาสตร์ทางสมองอธิบายว่า เมื่อเราเผชิญกับสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดหรือพบกับปัญหา อารมณ์จะถูกกระตุ้นทำให้เราแปลความสิ่งต่าง ๆ และมีพฤติกรรมต่างไป อารมณ์จะเป็นตัวที่ควบคุมเรา หากเป็นอารมณ์โกรธก็ทำให้เราเตรียมที่จะสู้คิ้วขมวด กัดฟัน อยากทุบตีทำร้าย หรือพูดคำที่ไม่ดีออกมา อารมณ์นั้นทำให้เราสามารถตอบสนองได้ไว เพื่อให้เรามีชีวิตรอด แต่การตอบสนองนั้นอาจไม่ใช่การตอบสนองที่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้น

เมื่อผู้ปกครองดุ หรือครูเสียงดังใส่ปุ๊บ อารมณ์โกรธของเด็ก ๆ จึงพุ่งขึ้นมาทันที แต่เราไม่สามารถที่จะสั่งอารมณ์ตรง ๆ ได้ การจะควบคุมอารมณ์จะต้องอาศัยการผ่อนคลายร่างกายให้เย็นลง การตอบสนองด้วยทางเลือกที่ต่างไป หรือการสำรวจและจัดการความคิด แต่แม้ว่าจะไม่สามารถสั่งอารมณ์ตรง ๆ ได้ แต่การ “บอกชื่ออารมณ์ได้” (Affect labelling) จะช่วยทำให้อารมณ์สงบลงได้ไว ระงับการทำงานของสมองส่วนอารมณ์ทางลบที่อะมิกดาลา (Amygdala) แล้วไปใช้สมองส่วนหน้าที่เป็นการใช้ตรรกะและเหตุผลแทน 

จริง ๆ แล้วอารมณ์มีมากมายหลายสิบชื่อ แต่ให้เราทำความรู้จักกับอารมณ์หลัก ๆ ที่เราพบเจอบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ “เศร้า กลัว โกรธ ดีใจ” เพื่อให้อารมณ์สงบลงและสามารถจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เราจึงควรฝึกให้เด็ก ๆ แปะป้ายชื่ออารมณ์ด้วยตัวเขาเองได้ และบอกขนาดว่ามากหรือน้อย โดยอาจใช้เลข 0-10 หรือทำมือว่าขนาดใหญ่แค่ไหน จะช่วยทำให้เด็กทำความรู้จัก รับรู้ และจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น แล้วจึงค่อย ๆ หาวิธีการจัดการกับอารมณ์ เช่น

1. จัดการร่างกาย ชวนให้ลองหายใจช้าลงเมื่อโกรธ ยืดเส้นสายผ่อนคลายร่างกาย ชวนให้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเมื่อรู้สึกเศร้าซึม

2. จัดการความคิด ชี้ให้สังเกตเห็นความคิด ความเชื่อ คุณค่าที่เรายึดถือ ในเรื่องต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังอารมณ์นั้น ๆ 

3. จัดการพฤติกรรม โดยชวนคิดให้เห็นทางเลือกว่ามีวิธีตอบสนองได้หลายวิธีโดยแต่ละวิธีก็ต่างมีข้อดี ข้อเสีย และผลกระทบที่จะตามมาต่างกัน 

คราวหน้าหากคุณครูเห็น เด็ก ๆ กำลังงอแง นั่งซึมอยู่ อาจจะลองถามว่าเขารู้สึกอย่างไร อาจลองสังเกตและถามออกไปเพื่อให้เด็ก ๆ ได้ทบทวนและยืนยันความรู้สึกของตัวเอง เช่น “ดูเหมือนเธอกำลังกังวลใจ ไม่แน่ใจว่าใช่หรือเปล่า” “ฟังแล้วรู้สึกว่าเธอกำลังเศร้าอยู่ เธอเศร้าอยู่หรือเปล่า ?”

เมื่อสามารถบอกชื่อของอารมณ์ได้ ก็จะค่อย ๆ สืบสาวไปถึงความคิดที่ทำให้รู้สึกเช่นนั้นและหาทางออกร่วมกันได้ การฝึกฝนแปะป้ายชื่ออารมณ์ จะทำให้เด็ก ๆ เรียนรู้ที่จะรับมือกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นในตัวเอง ตั้งหลักกับตัวเองได้ก่อนที่จะไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น


ทำความเข้าใจว่าคนอื่นคิดอะไร และยอมรับได้แม้คิดไม่เหมือนกัน

คนส่วนมากมักกระโจนไปที่ความคิดแรกที่เกิดขึ้นในหัว แล้วปักใจเชื่อความคิดนั้นทันที โดยไม่ทันได้พิสูจน์ ดังนั้น ก่อนที่เราจะสอนให้เด็ก จัดการอารมณ์ได้ เราควรให้เวลากับการฝึกฝนทักษะที่เด็ก จะได้ลองค่อย ๆ ใช้เวลาพิสูจน์ความคิดก่อน 

หากมีนักเรียนคนหนึ่งเดินร้องไห้มาหาคุณครู แล้วบอกว่า “เพื่อนเกลียดหนู หนูเสียใจมากเขาไม่แบ่งขนมให้หนูกิน” ได้ยินแบบนี้ คุณครูอย่าเพิ่งตัดสินว่าใครถูกหรือผิด หรือมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่อยากเสียเวลาด้วย แต่ควรเริ่มต้นจากการให้เด็ก ๆ ได้เรียบเรียงความคิดก่อนว่า “เล่าให้ครูฟังหน่อยว่าเกิดอะไรขึ้น” จากนั้นพยายามชวนให้เด็ก ๆ เว้นระยะห่างจากความคิดออกมาตั้งหลักก่อนว่า “เพื่อนเกลียดหนู” กับ “หนูกำลังคิดว่าเพื่อนเกลียดหนู” นั้นแตกต่างกัน การสะท้อนให้เห็นว่านั่นคือความคิด ยังไม่ใช่ความจริง จะทำให้เราสามารถพิสูจน์และจัดการความคิดต่อได้ง่ายขึ้น โดยอาศัย 3 คำถามสำคัญ ได้แก่ 

1.) “จริงไหม จริงแค่ไหน” ลองให้เด็กอธิบายตัวอย่างพฤติกรรมสนับสนุนความคิดนั้น และพฤติกรรมที่คัดค้านความคิดนั้น เพื่อให้เห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้านก่อน เด็กอาจจะได้เห็นว่า เพื่อนไม่แบ่งขนมให้กินก็อาจจะหมายถึงไม่รักจริง ๆ แต่จริงเพียงบางส่วน เพราะเพื่อนก็ยังทักทายชวนคุย หรือยังชวนให้เราทำงานกลุ่มด้วยได้ เพราะนั้น เพื่อนอาจจะไม่ได้เกลียดเรา 10/10 ถ้าจะเกลียดจริงก็อาจเป็นเพียง 3/10 เท่านั้น  

2.) “คิดเป็นอย่างอื่นได้ไหม” คุณครูชวนตั้งคำถามต่อไปว่า จากการกระทำที่เล่ามา หากไม่ได้หมายความว่า เพื่อนเกลียด จะหมายความเป็นอย่างอื่นได้อีกไหม เช่น อาจจะแปลว่าเพื่อนหิว อาจจะแปลว่าเพื่อนขี้งก อาจจะแปลว่าเพื่อนไม่แน่ใจว่าบูดไหมจึงไม่กล้าแบ่ง ซึ่งความคิดแต่ละทางเลือก ก็จะนำไปสู่อารมณ์และพฤติกรรมที่แตกต่างกัน อาจจะใช้การวาดตาราง 3 แถวง่าย ๆ ให้เด็กเห็นว่ามีมุมมองของตัวเอง มุมมองของเพื่อนที่ไม่แบ่งขนม และความเป็นจริงที่เกิดขึ้น โดยไม่ใช่มุมมองของคุณครูเข้าไปตัดสิน 

3.) "คิดแบบไหนที่เป็นประโยชน์" ทางเลือกของความคิดแต่ละแบบนำไปสู่อารมณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นแล้วหากทุกความคิดเป็นความคิดที่เป็นไปได้ ทำไมเราจึงเลือกคิดในมุมที่เป็นทางร้ายและทางลบ ให้ตั้งคำถามชวนให้เด็ก ๆ เลือกมองความคิดและอารมณ์ที่จะเกิดขึ้นตามมา


3

บริหารและจัดการความสัมพันธ์

อีกหนึ่งทักษะกู้ใจที่สำคัญในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม คือการจัดการกับความขัดแย้งได้อย่างมีวุฒิภาวะ เมื่อเกิดความขัดแย้งไม่ลงรอยกันขึ้น การใช้อำนาจกดทับ การแปะป้ายผลักไส หรือการหนีปัญหา ไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน คุณครูจึงควรสอนให้เด็ก ๆ เรียนรู้ที่จะใช้ การสื่อสารอย่างสันติ (Non-violent Communication) ด้วยเครื่องมือ I-Message

I feel …(ความรู้สึก)...
When you …(สิ่งที่สังเกตเห็น ไม่ใช่การตีความ)... 
Because …(ความต้องการ)... 
Request ….(สิ่งที่อยากร้องขอ)...

โดยที่คุณครูไม่ต้องทำหน้าที่เป็นกรรมการตัดสิน แต่เป็นคู่ซ้อมให้เด็กได้ลองฝึกที่จะสื่อสาร เพื่อจัดการปัญหาด้วยตัวเอง ช่วยแนะนำ ลองตั้งคำถามจนเด็กมั่นใจที่จะไปพูดเรื่องยาก ๆ กับคนอื่นด้วยตัวเอง เรื่องนี้เป็นสิ่งที่คุณบีนย้ำว่าสำคัญมาก ๆ เพราะการพูดเรื่องยาก ๆ ก็เป็นสิ่งที่ต้องพบเจอ และไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ไม่ว่าเราจะเป็นใคร หรืออายุเท่าไรก็ตาม

ในสังคมไทยเราอาจไม่ค่อยคุ้นเคยกับการพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันมากนัก ทำให้หลายครั้งเราสับสนระหว่าง การยืนกราน (Assertive) ที่จะถกเถียงกันด้วยเหตุผลหรือเป็นการสื่อสารเพื่อแสดงจุดยืน กับความก้าวร้าวรุนแรง (Aggression) ที่เป็นการใช้กำลัง คำพูดร้าย ๆ เข้าห้ำหั่นเชือดเฉือนกัน หรือการใช้ความรุนแรงทางสังคม เช่น การนินทาว่าร้ายลับหลังทำให้คนตีตัวออกห่าง

เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นในห้องเรียน คุณครูจึงเป็นคนสำคัญที่ช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียนแต่ละคนได้เรียนรู้ที่จะบริหารความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วยการฝึกใช้ I-Message ที่สื่อสารความต้องการของตัวเองไปพร้อมกับถนอมหัวใจของเพื่อน ๆ


4

วางแผนและลงมือทำ

หลาย ๆ ครั้งระบบการศึกษาไทยทำให้เราติดกรอบกับการตัดสินว่าไม่ขาวก็ดำ หากไม่ถูกที่สุดแปลว่าผิด หากไม่ชนะก็แปลว่าแพ้ กลายเป็นความกดดันที่ทำให้เด็ก ๆ เข้าใจไปว่า การสอบได้ 10 คะแนนเท่ากับสำเร็จ น้อยกว่านั้นเท่ากับล้มเหลว จึงทำให้การสอบได้ 7 คะแนนแปลว่าไม่สำเร็จ ซึ่งในความเป็นจริง การได้ 7/10 ก็เท่ากับ 7/10 ไม่ได้เท่ากับ 0

การตั้งเป้าหมายแบบนี้ไม่ดีต่อการจัดการอารมณ์ และไม่สอดคล้องกับชีวิตจริงที่ไม่มีอะไรถูกหรือผิด 100% เพราะปัญหาในชีวิตจริงซับซ้อนกว่านั้น ลองชวนให้เด็ก ๆ ตั้งเป้าหมายว่าพวกเขาอยากทำอะไร ความสำเร็จในมุมมองของพวกเขาต้องเป็นแบบไหน สังเกตจากอะไร ครึ่งทางก่อนไปถึงความสำเร็จหน้าตาเป็นยังไง โดยทำให้เด็ก ๆ ได้ลองฝึก 2 อย่างนี้

  • การวางแผน (Planning) ออกแบบวิธีการไปให้ถึงเป้าหมายในแบบของตัวเอง กำหนดหน้าตาของความสำเร็จในนิยามของตัวเอง 
  • การแก้ไขปัญหา (Problem Solving) กำหนดปัญหา ไล่เรียงว่าปัญหานี้มีที่มาอย่างไร จากนั้นค่อย ๆ ชวนให้เด็กออกแบบทางเลือกในการแก้ปัญหา ตัวเลือกที่เด็กพูดออกมาอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเสมอไป แต่คุณครูยังไม่ต้องตัดตัวเลือกออก แต่ค่อย ๆ ถามต่อไปเรื่อย ๆ ชวนคิดทางเลือกอื่น ๆ แล้วช่วยให้เขาลองเทียบข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบของแต่ละทางเลือก ทั้งต่อตัวเอง ต่อคนใกล้ชิด และสังคมรอบข้างด้วย


5

เปิดใจและยืดหยุ่น

เราทุกคนต่างมีพื้นที่ที่ให้ความสบายใจ รู้สึกคุ้นเคยจนทำให้บางคนไม่กล้าก้าวออกไปทดลองทำอะไรใหม่ ๆ เพราะกลัวจะผิดหวัง บาดเจ็บ พ่ายแพ้ แต่คงจะไม่ดีนัก ถ้าเด็ก ๆ ไม่มีโอกาสได้เผชิญความเปราะบางเลย คุณครูเป็นคนสำคัญที่จะผลักดันให้เด็ก ๆ กล้าลองก้าวไปสู่ภาวะที่ไม่แน่นอน ได้ลองอะไรที่ไม่คุ้นเคย เจอคู่แข่งใหม่ ๆ เพื่อที่พวกเขาจะได้พบตัวเองในเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิมไปด้วย แต่การบอกเพียงว่า “ไม่ต้องกลัว” ไม่ได้ทำให้ความกลัวหายไป แต่คุณครูควรฝึกฝนให้เด็ก ๆ พร้อมที่จะเปิดใจทดลองสิ่งใหม่ ๆ ได้ด้วย 3 ประโยคเหล่านี้ 

  • “ถ้าสิ่งที่เธอกลัวเกิดขึ้นจริง เราจะทำยังไงกันต่อดี” 

ชวนให้เด็กคิดไปให้สุด ให้เห็นภาพตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น เด็กไม่อยากไปแข่งกีฬา เพราะกลัวจะล้มจนขาหัก คุณครูสามารถชวนคิดต่อไปเรื่อย ๆ ได้ ว่าแม้จะขาหัก ใส่เฝือก ไม่ได้เล่นกีฬาไปหลายเดือน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะรักษาหาย และฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง 

  • “มาลองคิดแผนสำรองกันเถอะ” 

ความรู้สึกกลัวเกิดจากการที่เรามีแผนเพียงแผนเดียว ให้คุณครูลองชวนนักเรียนคิดหาวิธีรับมือหลาย ๆ แบบ หากวิธีนี้ไม่ได้ผล ลองอีกวิธีก็ได้ วิธีการนี้จะช่วยลดความกังวลในใจลงได้

  • “ไม่ว่าผลการแข่งขันจะเป็นยังไง เธอก็ยังเป็นนักเรียนคนเดิมของครูนะ” 

แสดงให้เด็ก ๆ เห็นว่าความพ่ายแพ้จากการแข่งขัน ความล้มเหลวไม่ได้ทำให้คนรอบข้างรักเขาน้อยลง ช่วยยืนยันให้รับรู้ว่าจะยังมีกำลังใจมอบให้เสมอ 

สิ่งสำคัญอีกหนึ่งสิ่งที่ควรจะค่อย ๆ ฝึกฝนให้เด็ก ๆ มี คือ การรักและเมตตาต่อตัวเอง (Self-Love & Self-Compassion) โดยการรักตัวเองนั้น ไม่ใช่การเห็นแก่ตัว แต่คือการที่ในวันที่เราเหนื่อยล้าหมดแรง เราบอกกับตัวเองอย่างให้กำลังใจ อนุญาตให้ตัวเองพักได้ และหากในวันที่เราขี้เกียจหรือวิ่งหนีไม่ยอมทำสิ่งที่ควรทำ ก็ปลุกตัวเองให้ลุกขึ้นมาทำอย่างเป็นมิตร ฝึกให้เราพูดกับตัวเองอย่างใจดี อย่างที่เราใจดีกับคนอื่น ๆ เราพูดปลอบใจคนอื่นแบบไหน เราก็ควรจะปลอบใจตัวเองแบบนั้นบ้าง


หากจะกล่าวโดยสรุปแล้ว การเรียนรู้อารมณ์และสังคม (Social Emotional Learning: SEL) คือ การที่เราสามารถรับรู้ถึงอารมณ์ของตัวเอง จัดการความคิด ร่างกาย พฤติกรรมของตัวเองได้ รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น จัดการความสัมพันธ์กับผู้อื่น ด้วยการสื่อสาร ใช้เหตุผล อดทนรอคอยได้ และตั้งเป้าหมาย วางแผนรับมือความไม่แน่นอนเมื่อเจอผิดพลาดก็พร้อมแก้ไข ไม่ ท้อแท้ไปก่อน รับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตัวเองได้อย่างมั่นใจ 

ที่กล่าวมาทั้งหมดอาจจะต้องอาศัยเวลาอยู่สักหน่อยสำหรับการทดลองปรับให้เข้ากับห้องเรียนที่แตกต่างกัน บริบทที่ไม่เหมือนกันของคุณครู หากกลัวว่าจะจดจำรายละเอียดทั้งหมดไม่ได้ คุณครูเพียงจำตัวอักษร 5 ตัวนี้ นั่นคือ RULER ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะทางอารมณ์และสังคม เพื่อการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  

R-Recognizing การรับรู้อารมณ์และความรู้สึก

U-Understanding การเข้าใจสาเหตุและอารมณ์ที่เกิดขึ้น

L-Labeling การแยกแยะอารมณ์และความรู้สึก

E-Expressing การเรียนรู้ที่จะแสดงอารมณ์และความรู้สึก

R-Regulating การจัดการอารมณ์และความรู้สึก


อ้างอิงจาก Brakett M. Ruler - An Evidence-based approach to Social and Emotional Learning. New Haven: Yale University

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(5)
เก็บไว้อ่าน
(3)