icon
giftClose
profile

ไอเดียเปลี่ยนห้องเรียนเป็น "สภาวิทยาศาสตร์"

7680
ภาพประกอบไอเดีย ไอเดียเปลี่ยนห้องเรียนเป็น "สภาวิทยาศาสตร์"

เมื่อห้องเรียนกลายเป็นสภาวิทยาศาสตร์ ที่ไม่มีใครยอมเชื่ออะไรง่าย ๆ จากครูนัท-นัฐวุฒิ สลางสิงห์

🤩 คาบนี้เจ๋ง เดอะซีรีส์ ตอนที่ 1 ขอนำเสนอ!

เมื่อห้องเรียนกลายเป็นสภาวิทยาศาสตร์ที่ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ

โดยครูนัท-นัฐวุฒิ สลางสิงห์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปทุมธานี

.

กิจกรรม “เพื่อนอัลเฟรด (Alfred Wegener)” เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์ระดับชั้น ม.4 ที่ครูนัทได้นำเอาประเด็น “ทวีปเลื่อน” มาเป็นโจทย์สำคัญในการสร้างการถกเถียงทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการที่นักเรียน ๆ จะได้ทำการสืบค้น ตั้งข้อสังเกต หยิบหยกหลักฐาน ขึ้นมาสนับสนุนหรือหักล้างทางทฤษฎี

ดังนั้นหากถามว่า ความน่าสนใจของกิจกรรมนี้น่าสนใจอย่างไร คงต้องบอกว่า ประกอบด้วย ความเจ๋ง 2 แบบ

.

ความเจ๋งที่ 1 "ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่เปลี่ยนการทดลองเป็นการถกเถียง”

หลายคนอาจมีภาพจำว่าการเรียนวิทยาศาสตร์ คือการจดจำทฤษฎีแนวคิดให้ได้เยอะที่สุด ใครพูดอะไร เขาพูดว่าอะไร แต่สำหรับครูนัท ได้ทำให้การเรียนวิทยาศาสตร์มีคำถามว่า

“ทฤษฎีหรือแนวคิดนี้ถูกเสนอโดยใคร”

“เขาเสนอแนวคิดหรือทฤษฎีไว้อย่างไร”

“อะไรคือหลักฐานที่สนับสนุนความคิดนี้”

พร้อม ๆ กับเปิดให้มีคำถามอีกว่า แล้วมีข้อโต้แย้งอะไรต่อทฤษฎีดังกล่าว เราจะยอมรับหรือปฏิเสธแนวคิดที่กล่าวอ้างเหล่านั้นหรือไม่ นี่คือความเจ๋งในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่เราไม่ค่อยได้พบเจอ และมีภาพติดตาว่าวิชาวิทยาศาสตร์เกิดมาเพื่อการท่องจำหรือทำการทดลองอย่างเดียวเท่านั้น

.

ความเจ๋งที่ 2 “จำลองสถานการณ์การโต้แย้งทฤษฎีผ่าน ‘สภาวิทยาศาสตร์’”

ครูนัทยังได้ออกแบบห้องเรียนเป็น “สภาวิทยาศาสตร์” พื้นที่จำลองที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ “สวมบทบาทจำลอง” ที่ต่างออกไป ได้แก่

บทบาทที่ 1 : อัลเฟร็ด เวเกเนอร์ ในฐานะเจ้าของทฤษฎี

บทบาทที่ 2 : กลุ่มเพื่อนอัลเฟร็ด ที่เห็นด้วยกับทฤษฎี

บทบาทที่ 3 : กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ ที่ไม่เห็นด้วยกับทฤษฎี

บทบาทที่ 4 : กลุ่มสภาวิทยาศาสตร์ ผู้ตัดสินข้อถกเถียง

โดยสองบทบาทแรกจะมีหน้าที่ในการหาหลักฐานเพื่อมาสนับสนุนทฤษฎีที่อัลเฟร็ด เวเกเนอร์ เป็นผู้เสนอ บทบาทของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จะต้องค้นหาหลักฐานเพื่อมาหักล้างทฤษฎีดังกล่าว โดยมีกลุ่มสภาวิทยาศาสตร์เป็นผู้ตัดสินข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นบนฐานของเหตุผลที่ทุก ๆ ฝ่ายนำเสนอ

.

การให้นักเรียนได้สวมบทบาท บนจุดยืนที่แตกต่าง ได้เป็นไฮไลท์สำคัญที่ช่วยให้การเรียนวิทยาศาสตร์ต้องอาศัยการคิดเชิงวิพากษ์ในการวิเคราะห์ และประเมินคุณค่า สุดท้ายการที่เขาจะเชื่ออะไรหรือไม่เชื่ออะไร การจะสนับสนุนหรือคัดค้านอะไร นักเรียนจำเป็นต้องกล่าวอ้างด้วยหลักฐานและเหตุผล

.

มากไปกว่านั้น คาบนี้จึงไม่ใช่แค่การพานักเรียนไปทำความเข้าใจการถกเถียงทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงการสร้างพลเมืองประชาธิปไตยที่พร้อมจะรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันผ่านวิชาวิทยาศาสตร์อีกด้วย

.

ติดตามความเจ๋งที่เกิดขึ้นภายในห้องเรียนของครูนัทได้ที่

https://www.facebook.com/nattawut.salangsingha/posts/pfbid02WNEo8GuQ2gExcidLi3K2eQBHiS7bCQZ72VU9W5FaneGr2642psw8izbXGzm2hDmyl

.

บทความโดย ครูพล-อรรถพล ประภาสโนบล

เรียบเรียงโดย มะพร้าว-ฉัตรบดินทร์ อาจหาญ

.

.

#insKru #inspotlight #คาบนี้เจ๋ง

#พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(1)