สมมติว่าในคาบเรียนของวันพรุ่งนี้ คุณครูจะต้องออกไปสอนในหัวข้อเรื่อง 'บทบาทของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ'
และพบว่ามีตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
.
ตัวชี้วัด
ส 3.2 ม.3/1 อธิบายบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลในระบบเศรษฐกิจ
ส 3.2 ม.3/2 แสดงความคิดเห็นต่อนโยบายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของรัฐที่มีต่อบุคคล กลุ่มคน และประเทศ
คุณครูจะออกแบบไอเดียการสอนยังไงให้ตอบโจทย์ตัวชี้วัด ครอบคลุมเนื้อหาที่นักเรียนต้องรู้ดีนะ?
ให้เวลาคิดทั้งหมด 10 วินาที เริ่ม!!
.
.
.
.
.
หมดเวลา!
นี่อาจเป็นตัวอย่างไอเดียที่คุณครูอาจจะคิดขึ้นเร็ว ๆ ได้ในตอนนี้
ไอเดียที่ 1 นำบทบาทของรัฐบาลมาแต่งเป็นเพลง กลอน หรือทำนอง ให้นักเรียนท่องจำ
จุดเด่น : นักเรียนสนุกสนานกับบทเพลง กลอน จดจำเนื้อหาผ่านท่วงทำนองสุดสร้างสรรค์
ไอเดียที่ 2 แข่งขันกันตอบคำถามเกี่ยวกับบทบาทของรัฐบาลด้วย Kahoot!, Quizizz
จุดเด่น : สร้างความตื่นเต้นในการตอบคำถาม ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในห้องเรียน
ไอเดียที่ 3 แบ่งกลุ่มนักเรียนในห้องเพื่อออกมานำเสนอบทบาทของรัฐบาลหน้าชั้นเรียน
จุดเด่น : นักเรียนทุกคนในห้องเรียนมีส่วนร่วม ฝึกฝนการนำเสนอข้อมูลที่มีปริมาณมาก
ถ้าลองให้คุณครูลองเลือกสัก 1 ไอเดียการสอนเพื่อนำไปใช้จริง คุณครูจะเลือกวิธีการไหนดีนะ?
อันไหนน้าที่จะทำให้ห้องเรียนเกิดความสนุกสนาน? ไอเดียไหนที่จะทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด?
.
ติ๊กตอก ๆ ๆ ๆ
.
.
เฉลย!
ไอเดียเหล่านี้อาจไม่ได้ผลเลยสักไอเดียเดียว ...
ทำไมกันนะ ทั้ง ๆ ที่ไอเดียที่อ่านแล้วก็ดูสนุกและก็ใช้งานได้จริง กลับดูเหมือนจะไม่ได้ผลสักอันเดียว มีทั้งเพลง แต่งกลอน เล่นเกม แบบนี้เราจะรู้ได้ยังไงว่าไอเดียการสอนแบบไหนเหมาะสมกับคาบเรียนที่จะถึง
.
.
ก่อนที่เราจะหาคำตอบกัน อยากชวนให้คุณครูกลับมาทบทวนแนวคิดในการสร้างการเรียนรู้อีกครั้งหนึ่ง โดยแนวคิดในการสร้างการเรียนรู้นั้นจะถูกแบ่งออกเป็นทั้งหมด 2 รูปแบบที่เราคุ้นเคยกัน ได้แก่
ที่อยากคุณครูให้กลับมาทบทวนแนวคิดนี้ ก็เพราะว่าหลายครั้ง ที่คุณครูพยายามจะออกแบบไอเดียการสอนโดยอ้างอิงจาก 'เนื้อหา (content)' และ 'ตัวชี้วัด (indicator)' ว่านักเรียนจะต้องเรียนรู้อะไร ต้องผ่านกิจกรรมแบบไหนถึงจะบรรลุตัวชี้วัดได้ เช่น การเปิดหนังสือหรือแบบเรียนดู แล้วก็ออกแบบว่าเนื้อหาแบบนี้ ตัวชี้วัดแบบนี้ เลือกกิจกรรมแบบไหนดี นั้นอยู่บนฐานแนวคิด การจัดการเรียนรู้ที่เน้นครูเป็นศูนย์กลาง (Teacher-Centered Approch) มาก ๆ
.
"เนื้อหาแบบนี้ ตัวชี้วัดแบบนี้ ฉันคิดว่าการชวนนักเรียนมาเล่นเกมตอบคำถาม มันต้องเป็นคาบเรียนที่ดีมากแน่ ๆ!"
.
เอาจริงก็ไม่ได้เป็นวิธีที่ผิดอะไรหรอกนะ ตอบโจทย์ทั้งเนื้อหา ตอบโจทย์ทั้งตัวชี้วัด แต่ว่าหารู้ไม่ว่า คาบเรียนนั้นอาจจะไม่ได้สร้างการเรียนรู้อะไรให้กับนักเรียนเลย เนื่องจากการออกแบบนั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อนักเรียน แต่ถูกออกแบบมาจากความต้องการส่วนตัวของคุณครูเอง จึงอยากชวนคุณครูหันกลับมามองว่านักเรียนของตนเอง 'เป็นอย่างไร' ก่อนที่จะออกแบบไอเดียการสอนกัน
คาบเรียนที่สนุก อาจจะไม่ใช่คาบเรียนที่มีเสียงหัวเราะเสมอไป แต่คาบเรียนที่สนุก อาจจะเป็นคาบเรียนที่นักเรียนเห็นความสำคัญในการเรียนรู้เรื่องนั้น ๆ เห็นว่าสิ่งที่ตนเองกำลังเรียนรู้นั้นสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ หรือว่าคาบเรียนนั้นเข้ามากระแทกกับความเชื่อเดิมที่นักเรียนมีอยู่จนเกิดความสั่นคลอนทางความคิด
การเปลี่ยนมาใช้แนวคิด การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-Centered Approch) จะช่วยตอบโจทย์ตรงนี้ได้ เนื่องจากคุณครูจะไม่ต้องเดาอีกต่อไปว่าไอเดียการสอนแบบนี้จะทำให้เกิดคาบเรียนที่มีคุณค่า
เพียงแค่หันกลับมามองว่า 'เนื้อหา (content)' แบบนี้ 'ตัวชี้วัด (indicator)' แบบนี้ ผสมกับ 'สิ่งที่นักเรียนเข้าใจอยู่ตอนนี้ (prior knowledge)' และ 'ความสนใจของนักเรียนตอนนี้ (interesting)' จะออกแบบไอเดียการสอนแบบไหนดีนะ?
ไอเดียการสอน = เนื้อหา + ตัวชี้วัด + ความรู้เดิม + ความสนใจ
ตัวอย่างการออกแบบ
เนื้อหา - บทบาทของรัฐบาลในระบบเศรษฐกิจ
ตัวชี้วัด - อธิบายบทบาทและแสดงความคิดเห็นกับนโยบายได้
ความรู้เดิม - นักเรียนเข้าใจอยู่แล้วว่าบทบาทของรัฐบาลคือการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ
ความสนใจ - นักเรียนอยากรู้ว่านโยบายต่าง ๆ มันส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างไร
.
พอเห็นแบบนี้แล้ว ไม่ว่าจะใช้ไอเดียเกม ไอเดียเพลง หรือไอเดียนำเสนอ ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์เลยก็ได้ หากคุณครูไม่ได้รับรู้มาก่อนว่านักเรียนมีความรู้เดิมต่อเรื่องนี้อย่างไร และนักเรียนสนใจอะไรในเรื่องนี้
.
แต่ถ้าคุณครูออกแบบกิจกรรมที่นักเรียนได้รับผลกระทบจากนโยบายที่รัฐบาลกำหนดขึ้นมา (เพราะนักเรียนสนใจว่านโยบายต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างไร) อย่างเช่น 'กิจกรรม Policy walk' ที่ให้นักเรียนเดินหน้าเมื่อนโยบายนั้นทำให้นักเรียนได้ประโยชน์ หรือเดินถอยหลังเมื่อนักเรียนเสียประโยชน์ และอภิปรายกันว่าทำไมถึงเลือกเดินหน้าหรือถอยหลัง ก็อาจจะตอบโจทย์มากกว่าการใช้เพลงเพื่อการท่องจำก็ได้นะ
.
การออกแบบไอเดียการสอนโดยไม่สนใจผู้เรียน ก็คงจะไม่ต่างอะไรกับการยิงปืนที่ไม่รู้ว่าเป้าอยู่ตรงไหนใช่ไหมละ?
.
.
จริง ๆ แล้วมีเทคนิคมากมายที่คุณครูสามารถล้วงข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการออกแบบการสอนได้ เช่น
ใช้ชุดคำถามเหล่านี้กับนักเรียนก่อนที่จะเริ่มออกแบบการเรียนรู้
K (Know) - นักเรียนรู้อะไรมาบ้างแล้วเกี่ยวกับเรื่องที่จะสอน
W (Want) - นักเรียนต้องการรู้อะไรเพิ่มเติมจากการเรียนเรื่องนี้
L (Learn) - นักเรียนได้เรียนรู้อะไรบ้างจากคาบเรียนที่เพิ่งผ่าพ้นไป
ถ้าคุณครูได้เห็นว่านักเรียนเขียนตอบในหมวด K (รู้อะไรมาบ้าง) และ W (อยากรู้อะไรเพิ่ม) แค่นี้ก็ทำให้การออกแบบไอเดียการสอนเป็นไปได้อย่างงายดายเลยล่ะ!
ใช้ชุดคำถามเหล่านี้กับนักเรียนหลังจากเรียนจบในแต่ละคาบ
I like - นักเรียนชอบอะไรจากการเรียนในวันนี้
I wish - นักเรียนอยากให้เกิดอะไรขึ้นในคาบถัดไป
I wonder - นักเรียนยังสงสัยอะไรบ้างจากการเรียน
และนำข้อมูลท้ายคาบนั้นมาออกแบบคาบเรียนถัดไป จากความต้องการของนักเรียนเอง
การค้นหาว่าเรื่องที่กำลังจะสอนนั้น มีประเด็นไวรัลอะไรในสังคมอยู่บ้าง ข่าว ประเด็นที่กำลังพูดคุยในสื่อโซเชียล ซึ่งมีโอกาสสูงมากที่นักเรียนกำลังสนใจประเด็นเหล่านี้อยู่ เช่น นโยบายล่าสุดที่รัฐบาลเพิ่งประกาศออกมา ไม่ว่าจะเป็น 'คนละครึ่ง' 'เราเที่ยวด้วยกัน' หรือ 'มารดาประชารัฐ'
ถ้าคุณครูไม่มีเวลาที่จะเก็บข้อมูลจากวิธีการข้างบน อาจจะต้องใช้วิธีการลอง 'นึกว่าถ้าคุณครูเป็นนักเรียน ในหัวข้อที่จะสอนนี้ เขาจะอยากรู้อะไร เขาสนใจอะไร' แล้วออกแบบจากการตั้งสมมติฐานจากตัวคุณครูเอง
จากเครื่องมือทั้งหมด คุณครูจะเห็นว่าทุกเครื่องมือพยายามจะค้นหาว่า 'นักเรียนชอบอะไร สนใจอะไร สงสัยอะไร อยากรู้อะไร' มากกว่าเป็นการมองว่า 'ไอเดียแบบไหนที่สนุกที่สุด'
.
ไม่มีไอเดียการสอนไหนดีที่สุด มีแต่ไอเดียการสอนที่เหมาะสมกับห้องเรียนของคุณครูมากที่สุด
.
หลายครั้งที่เรานั่งกังวลว่าไอเดียการสอนไหนจะเหมาะกับห้องเรียนเรามากที่สุด ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว
'ล้านห้องเรียน ล้านไอเดียการสอน'
ไม่ใช่เพราะว่าคุณครูจะต้องออกแบบไอเดียการสอนที่แปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา แต่เพราะว่านักเรียนในแต่ละห้องเรียนนั้นแตกต่างกัน คุณครูจึงต้องออกแบบไอเดียการสอนให้เหมาะสมกับหน้างานที่แต่ละคนเจอ
นอกจากนี้การได้รับรู้ว่านักเรียนของคุณครูเป็นแบบไหนก่อนที่จะออกแบบไอเดียการสอน ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจในการสอนให้กับคุณครูได้อีกด้วย เพราะคุณครูจะรู้อยู่แล้วว่า คาบเรียนนี้ ฉันออกแบบมาเพื่อนักเรียนของฉัน
หมดปัญหา 'ไอเดียนี้ใช้ไม่ได้หรอก เพราะมันคนละบริบทกัน' + สร้างการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน (initiator)
ลองแลกเปลี่ยนพูดคุยกันได้น้าา หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับคุณครูทุกๆ คนนะ ⭐️
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!