ไอเดียนี้ได้มาจากครูเห็นเด็ก ๆ ชอบเล่นขายของเวลาพัก เลยจับมาเป็นแม่ค้าในวิชาภาษาไทยซะเลย
เราปรับประยุกต์หน่วยการจัดการเรียนรู้จากตัวชี้วัดหลักสูตรภาษาไทย ป.2 ให้เกิดเป็นนวัตกรรมครู
สู่นวัตกรรมนักเรียน ด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้ GPAS 5 STEPs เพื่อให้นักเรียนเกิดการพัฒนาความสามารถในการอ่านออก เขียนได้ และสามารถถักทอองค์ความรู้เกิดการนวัตกรรมเล็ก ๆ อย่างสร้างสรรค์ เพราะเรามองว่า "นวัตกรรม เป็นอะไรก็ได้ ที่มีคุณค่าไม่ว่าจะทางใดก็ตาม" เมื่อนักเรียนได้ลงมือทำย่อมนำไปสู่การจดจำที่ถาวร และคงทน ส่งผลให้นักเรียนเรียนภาษาไทยและกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
สำหรับการจัดการเรียนการสอนไอเดียนี้ใช้ เวลา 4 ชั่วโมง (มีแผนการสอนหน้าเดียวให้ดูด้วยนะ) ขอเล่าให้ฟังพอสังเขป ใครสนใจนำไปประยุกต์ใช้ได้เลย
- คำในลูกชิ้นมาจากกิจกรรมคัดเลือกคำ จากบทอ่านสั้น ๆ 1 เรื่อง แล้วให้นักเรียนเลือกคำมา 5 คำครูเขียนคำของนักเรียนลงบนกระดาน แล้วชวนนักเรียนสังเกตคำ บางคำอาจไม่มีตัวสะกด บางคำมีตัวสะกด ทั้งตรง และไม่ตรงมาตรา พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กัน จนครูแน่ใจแล้วว่าที่คุยแลกเปลี่ยนกันนั้นนักเรียนเริ่มจำแนกตัวสะกดตามแม่ต่าง ๆ ได้แล้วจึงจะไปในขั้นตอนต่อไป
- นักเรียนทำ mmp ลงในสมุด โดยได้คำจากที่ครูสอน หรือหาคำจากหนังสือเรียนและเล่มคำพื้นฐาน ป.2 ใครหาครบ 5 คำ มาเขียนลงกระดาน เพื่อนที่เสร็จทีหลังห้ามซ้ำคำ ถ้าซ้ำหาคำใหม่ ทำทีละแม่ โดยกำหนดเวลาด้วยนะ ไม่งั้นยาวววว
*อ๋อครูอย่าลืมตรวจดูให้ได้คำที่มีความหมายนะ - นำคำมาเขียนใส่ในลูกชิ้น โดยนักเรียนจับคู่กันเลือกคำจากสมุดตนเอง แม่ละ 3 คำ ใช้เป็นกระดาษร้อยปอนด์ตัดวงกลมขนาดตามใจครูชอบ เมื่อเขียนคำ/ระบายสีแล้ว ให้ใช้ 2 แผ่นทากาวประกบไม้ยาว(เราใช้ไม้เสียบลูกชิ้นแบบยาว) คราวนี้ 2 คน ก็จะได้แม่ละไม้ ไม้ละ 6 คำ


- แวะมาแต่งประโยคกันสักนิด ให้รวมลูกชิ้นใส่เข่งไว้ก่อน แล้วสุ่มหยิบไปคนละ 1 ไม้คราวนี้เด็ก ๆ ได้จินตนาการไปถึงดาวพลูโตแน่ ๆ 555 เพราะคำที่ติดบนลูกชิ้นไม่ได้มีการวางแผนให้เข้ากัน แต่ตลกดี ลองดูค่ะ

ครูต้องช่วยหน่อยนะคะคาบนี้ แต่เราจะเห็นจินตนาการที่เกินจริงไปมาก ๆ บางคนยังเขียนไม่ได้ แต่ก็สามารถแต่งประโยคได้ดีเลยค่ะ - อย่าลืมฝึกการนำเสนอการสร้างสรรค์ประโยคพร้อมอธิบายภาพประกอบจากจินตนาการ
- คราวนี้ต้องให้นักเรียนระดมความคิดพัฒนาเพิ่มคำที่มีมาตราตัวสะกด ให้มีลูกชิ้นหลายไม้ มากขึ้นสร้างสรรค์เป็นสถานการณ์จำลองการขายลูกชิ้น จนได้สื่อนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ เรื่อง ""ลูกชิ้นยืนกิน ถิ่น BK"" ขั้นตอนนี้ครูต้องมีวิธีพูดโน้มน้าวเก่ง(ตีกรอบเบา ๆ ) เหมือนกับว่าไม่ได้วางแผนให้นักเรียน

- ครูก็เพิ่มเติมจานใส่ลูกชิ้นที่เขียนมาตราตัวสะกดแต่ละแม่ไว้ เพื่อย้ำให้นักเรียนจำแนกให้แม่นยำกว่าเดิม

พอได้นวัตกรรมจากนักเรียน(ที่ครูลุ้นให้เป็นแบบนี้) มาดูวิธีเล่นกันค่ะ (จริง ๆ แล้วตั้งกติกาใหม่ก็ได้นะคะ ตามบริบท ตามความอยากเลยค่ะ)
1.ให้มาหยิบลูกชิ้นคนละไม้ (1ไม้มี6คำ) ให้เวลา5นาที ฝึกสะกดคำของตัวเอง (หรือจะจับคู่เก่ง/อ่อน ช่วยกัน)
2.ออกมาอ่านคำหน้าชั้น เพื่อนอ่าน พร้อมจดลงสมุด ครูควบคุมความถูกต้องของการสะกดคำ
3.ย่างลูกชิ้นตามลีลาของตัวเอง แล้ววางในจานให้ถูกแม่ (จำแนก)
4.ทำวนไป ไม่มีเบื่อ เพราะอยากย่างเหลือเกิน อ่านผิด/อ่านไม่ได้ ไม่ให้ย่าง
ขอบคุณที่เข้ามาดูนะคะ ถ้าหากผิดพลาดตรงไหนไป ก็ขอโทษด้วยนะคะ ถ้ามีไอเดียใหม่ ๆ จะเข้ามาแชร์อีกนะ (ถ้าว่าง)