icon
giftClose
profile

มหาสมุทร มหาสนุก

9811
ภาพประกอบไอเดีย มหาสมุทร มหาสนุก

การเรียนรู้โลกใต้ท้องสมุทรผ่านการทดลอง (Trial and error) ตั้งแต่การมีอยู่ของสิ่งมีชีวิต จนถึงการทำลายล้างของธรรมชาติ

ถ้าถามถึงทะเล หลายๆคน คงจะนึกถึงคลื่น ชายหาด พระอาทิตย์ตกดิน ฉลาม ฟังดูตื่นเต้นและมีความสุขทุกครั้งเมื่อนึกถึง เด็กๆ ที่นี่เช่นกัน เมื่อเราบอกว่าสัปดาห์นี้เราจะเรียนเรื่อง Ocean ต่างมีเรื่องเล่ามากมายพรั่งพรูออกมาเล่าสู่กันฟัง เรานึกในใจแล้วว่า "สนุกแน่" จะสนุกแค่ไหนไปติดตามกันเลย


เริ่มด้วยการรู้จักคุณสมบัติอย่างหนึ่งของน้ำทะเลนั่นคือความเค็มนั่นเอง ซึ่งเมื่อถามเด็กๆ ว่าน้ำทะเลมีรสชาติอย่างไร ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "เค็ม" จากนั้นก็โยนคำถามไปว่า รู้ไหมว่า "เมื่อเราลอยน้ำอยู่ในน้ำจืด กับน้ำเค็มมันต่างกันอย่างไร" เด็กๆก็ลองคาดคะเนคำตอบมาค่อนข้างดีเลยทีเดียว

จากนั้นแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะได้น้ำต่างชนิดกัน ได้แก่ กลุ่มที่ 1 น้ำเปล่า กลุ่มที่ 2 น้ำเกลือ และสุดท้าย น้ำเบกกิ้งโซดา และให้แต่ละกลุ่มไปเลือกวัตถุมากลุ่มละ 3 ชิ้น ที่สามารถใส่ลงไปในแก้วน้ำได้พอดี ไม่ว่าจะเป็น บล็อกพลาสติก บล็อกไม้ โมเดลไดโนเสาร์

ผลการทดลองคือ..............ผลปรากฎว่า เหมือนกันทุกกลุ่ม คือวัตถุที่มีน้ำหนักเยอะจะจม เช่น ไม้ โมเดลสัตว์ และวัตถุที่มีน้ำหนักเบาจะลอย แม้ว่าน้ำที่ใช้จะต่างกัน เราก็แบบเฮ้ยยยยย ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หน่า ไม่เป็นไรสรุปตามแบบทดลองที่เราทำเนี่ยแหละ พรุ่งนี้เอาใหม่

จริงๆ แล้ว เกลือกับเบกกิ้งโซดามีคุณสมบัติคล้ายกัน แต่ที่เราทำน่าจะเกิดจากปัจจัยหลายๆอย่างทั้งขนาดของภาชนะ ปริมาณน้ำ ความเข้มข้นของสารละลาย

วันต่อมาเปลี่ยนวัตถุเป็นไข่ไก่ และน้ำที่ใช้ ได้แก่ น้ำเปล่า น้ำสบู่ และน้ำเกลือ วันนี้ไม่นกแล้วค่าาาา ผลการทดลองเป็นไปตามเป้า ไข่ลอยในน้ำเกลือจริมๆ จากนั้นก็สรุปผลการทดลอง โดยน้ำเกลือจะช่วยพยุงไข่ไม่ให้จม ส่วนที่จมในน้ำเปล่าเพราะไม่มีตัวพยุง

ศิลปะจากเม็ดเกลือที่เด็กๆชิมแล้วบอกเค็มมากคุณครู โดยการให้เด็กๆ โรยเกลือลงบนกระดาษจากนั้นหยดสีลงไปให้เกลือจับตัวเป็นก้อนรูปร่างต่างๆ

ทะแด่มมมมม และนี่คือผลงานชิ้นเอกของศิลปินตัวจ้อย

วันที่ 2 เป้าหมายของเราคืออยากให้เด็กรู้จักการเชื่อมโยงเหตุการณ์ โดยการสังเกตบริบทแวดล้อมของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นๆ แล้วจัดวางตามความคิด และสอดแทรกคำศัพท์ภาษาอังกฤษเข้าไป ซึ่งถือได้ว่าเด็กให้ความสนใจดีมาก เมื่อเราหยิบสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งขึ้นมา เขาจะตอบเป็นภาษาอังกฤษออกมาโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าคำไหนที่นึกไม่ออก เขาก็ตอบเป็นภาษาไทยแต่ใส่สำเนียงเป็นอังกฤษ 555+

ซึ่งเราจะให้เด็กสุ่มหยิบสัตว์คนละตัวจากนั้นให้นำมาติดตามชั้นต่างๆ ของทะเล แต่ก่อนที่เด็กจะติดเราก็จะเล่าความเป็นมาและความสัมพันธ์ของสัตว์ให้ฟังก่อนรอบหนึ่ง พอเด็กมาติดจริงๆ เขาก็จะสังเกตสัตว์ที่อยู่ข้างๆ ว่ามีตัวอะไรบ้างแล้ว แต่ก็จะมีบางคนที่เป็นพลายกระซิบเพื่อนด้วยความหวังดี

ต่อด้วย Bingo เมื่อเราขานชื่อสัตว์ แต่ละกลุ่มก็จะรีบวางหมากลงไป ซึ่งต้องเข้าใจว่าเด็กยังใหม่กับเกมนี้ เราก็จะย้ำว่ากลุ่มนี้ถ้าได้ ฉลามแค่ตัวเดียวจะเกมเลยนะ ถ้ากลุ่มไหน bingo แล้วเราก็จะให้นับว่าครบ 4 แล้วใช่ไหม เพื่อตรวจสอบความถูกต้องกันอีกรอบ

วันที 3 เริ่มวันด้วยการดูวิดีโอโลกใต้ท้องทะเล และสัตว์ต่างๆ ที่เด็กสนใจ จากนั้นเราก็โยนโจทย์ไปว่า เด็กๆรู้ไหมว่าวาฬมันใหญ่มากๆ ใหญ่กว่าโรงเรียนของเราอีก ถ้าจะให้วาดขนาดจริงพื้นที่คงไม่พอ เราจึงไปเจอฉลามขาว ที่มีขนาด 4 เมตร นิดๆ ก็เลยเก็บอุปกรณ์ เตรียมชอล์ก พร้อมออกไปท่องโลกใต้ท้องทะเล

เริ่มด้วยการวัดขนาดความยาว 4 เมตร จากนั้นก็วาดฉลามขาว แล้วลองให้เด็กๆ เข้าไปยืนด้านในเพื่อเปรียบเทียบขนาดเด็กๆ กับฉลามขาว แต่พื้นที่ก็ยังเหลือๆ เราจึงลองให้เด็กๆ นอนลงไปดู ปรากฎว่า ก็ยังมีพื้นที่ว่างอยู่ เราจึงสรุปได้ว่า ฉลามเมื่อเทียบกับเด็กๆ จำนวน 12 คนแล้ว ฉลามมีขนาดใหญ่กว่ามากกกกก

ศิลปินผู้สร้างมหาสมุทร ด้วยสองมือและสีชอล์ก โดยชอล์กที่เราใช้จะแช่น้ำไว้ก่อนเพื่อภาพที่ออกมาจะมีความสด และเส้นที่คมชัด

จริงๆ มีเยอะมากกกก เด็กคือสร้างผลงานเต็มถนน จนมีเด็กคนหนึ่งถามว่า "คุณครู ภารโรงจะไม่ด่าเราใช่ไหม" แต่วันนั้นฝนตกโปรยปราย นำเสนอผลงานได้คนหนึ่ง วิ่งหลบฝนเป็นพัลวัน วันต่อมาภาพเหล่านี้ก็จางหายไป

วันที่ 4 เป็นวันที่ใจตุ้มๆต่อมๆ ที่สุด เพราะเราได้นัดหมายกับเด็กๆ ว่าจะทำสไลม์ เราก็สาธิตวิธีการทำโดยใช้น้ำยาล้างคอนแท็กเลนส์ ซึ่งผลที่ออกมาก็เป็นแหละ แต่พอจะให้เด็กๆ ทำวิธีเหมือนคุณครูก็กระไรอยู่ เราจึงให้เด็กทำอีกวิธีหนึ่งโดยใช้น้ำเกลือ

น้ำเกลือที่เราใช้คือน้ำต้มสุกผสมเกลือ เมื่อเทลงไปปรากฎว่ากาวสุกจับตัวกันเป็นก้อน จนเด็กๆ บอกว่า เอี่ยยย เละเหมือนโจ๊กเลยคุณครู เราก็เทกาวลงไปอีก แต่ผลก็เป็นเหมือนเดิม ทั้งทำทั้งขำกันไป สุดท้ายไปเอาไปเททิ้ง

แก้ตัวรอบ 2 ใส่กาวใส ใส่แป้ง ใส่สบู่เหลว ใส่น้ำยาคอนแท็กเลนส์ คนๆๆๆ ผลคือเหลวเหมือนเดิม ฉุกคิดขึ้นได้ว่า มีสูตรหนึ่งใส่น้ำยาซักผ้าด้วย เราก็แบบ ไอเทมสุดท้ายแล้ว เอาผงซักฟอกมาผสมน้ำ แล้วไปหยดลงไปในถ้วยของเด็ก ๆ ผลปรากฎว่า มีความหนืดเกิดขึ้น เสียงเจื้อยแจ้ว เริ่มแสดงความดีใจ เด็กก็คนๆๆๆ จนสุดท้าย

จากที่หน้านิ่วคิ้วขมวดกันมานานนับชั่วโมง แล้วรอยยิ้มแห่งความยินดีก็ปรากฎ สิ่งที่เด็กได้มากกว่าการทดลองคือการลองผิดลองถูก เรียนรู้จากความผิดหวัง พร้อมที่จะแก้ไข และทำสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

และนี่คือเป้าหมายของวันนี้คือ Slime ocean ถ้าถามว่าทำไมไม่เอาสไลม์แบบสำเร็จรูปมาให้เด็กๆ ทำเลย จริงๆ ทำได้แต่เด็กจะไม่ได้เรียนรู้กระบวนการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ยิ่งกว่านั้นเด็กจะไม่ได้เรียนรู้การมีอยู่ของความผิดพลาด

วันสุดท้ายของสัปดาห์กับการสู้ชีวิตของเด็ก แต่โดนครูสู้กลับ มีเกิดก็ต้องมีดับเป็นธรรมดาของธรรมชาติ สิ่งที่เด็กๆ จะได้ทดลองคือคลื่นสึนามิซึ่งเราและเด็กคุยกันบ่อยมาก เนื่องจากเป็นเรื่องที่สนใจ มากไปกว่านั้นคือมลพิษทางทะเลที่เป็นผลพวงจากการกระทำของมนุษย์ได้แก่ น้ำมันรั่วในทะเล ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต สภาพแวดล้อม ทั้งระบบ

เริ่มจากการเกิดของทะเล ภายใต้ความร่วมมือของเด็กๆ

สู่การทำลายล้างของคลื่นยักษ์

ผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ เราให้เด็กๆ หยดน้ำมันพืชลงในกล่องจากนั้นทิ้งไว้ 2 วัน แล้วมาดูผลลัพธ์กัน

เปิดห้องมาคือเหม็นหืนมาก เด็กบอกกลิ่นเหม็นมากคุณครู เราจึงให้เด็กๆ สังเกตการเปลี่ยนแปลง จะเห็นได้ว่า บริเวณผิวน้ำและก้อนหิน ดิน เต็มไปด้วยคราบน้ำมัน ชี้ให้เห็นผลกระทบของการกระทำที่ไม่รอบคอบของมนุษย์ ส่งผลให้เกิดการสูญเสียของสิ่งมีชีวิตต่างๆ


ถือเป็นสัปดาห์ที่ทดลองเกือบทุกวัน ซึ่งหวังว่าสิ่งที่เด็กๆ จะได้รับมากกว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการคิดแล้วเด็กๆ ยังได้เรียนรู้การผิดพลาด การแก้ปัญหา และทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้จนสำเร็จอีกด้วย สุดท้ายแล้วชีวิตเราไม่มีใครไม่เคยล้มเหลว แต่เราจะอยู่และตั้งรับกับความล้มเหลวนั้นได้อย่างไร นั่นแหละคือชีวิต

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(0)