icon
giftClose
profile

👀 5 เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ PLC

51150
ภาพประกอบไอเดีย 👀 5 เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ PLC

‘ผี-แอล-ซี’

Photo learning community’

คำพูดหยอกล้อที่คนในวงการครูมักจะหยิบยกขึ้นมาเมื่อมีการพูดถึง

‘ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community; PLC)’

ก็แหงล่ะ เมื่อเจอ PLC ทีไร ก็ต้องหนีไม่พ้นการประชุม ถ่ายรูป ทำเอกสารบันทึก ความเป็นทางการขั้นสูง แทบจะไม่ได้มีการพูดคุยอะไรให้มันเกิดประโยชน์แบบจริง ๆ จัง ๆ สักที แบบนี้เรียกว่า ‘ผีแอลซี’ ที่ตามหลอกหลอนก็คงจะไม่แปลกใจอะไร บรื๋ออออ~

เนื่องจาก PLC สำหรับครูไทยนั้นถูกทำให้กลายเป็นสิ่งที่น่าลำบากใจและเป็นอุปสรรคในการทำงาน ทั้งที่จริงแล้ว PLC นั้นเป็นทั้ง ‘วัฒนธรรม (Culture)’ ‘วิถีปฏิบัติ (Way of being)’ และ ‘เครื่องมือ (Tool)’ ที่สำคัญมาก ๆ สำหรับวิชาชีพครู ทั้งช่วยเติมไฟในการทำงาน ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่พบเจอ แลกเปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกัน

แต่ทำไมนะ PLC ที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะผิดแปลกจากสิ่งที่ควรจะเป็นไป พวกเราจึงลองรวบรวมความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นกับ PLC และมาดูกันว่า ‘PLC ที่ควรจะเป็น’ นั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร

5 เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ PLC

⏰ ข้อที่ 1 PLC คือการนัดประชุมอย่างเป็นทางการ

หลายโรงเรียนมักเข้าใจว่าการ PLC นั้นต้องเป็นการนัดประชุมอย่างเป็นทางการ บางโรงเรียนมีชั่วโมงสำหรับ PLC ในตารางสอนของคุณครู กำหนดช่วงเวลาอย่างชัดเจน กำหนดห้องประชุม การแต่งกาย แต่งสูท ผูกไทด์ มีทีมผู้บริหารมากล่าวเปิดงาน มีผู้จดบันทึกการประชุม โอ้โห! แค่นึกภาพตามก็กดดันจะแย่

แต่ในความเป็นจริงแล้วหากเราสังเกตคำว่า ‘PLC (Professional Learning Community)’ ดูดี ๆ แล้ว เราจะเห็นว่า ไม่มีคำไหนที่บ่งบอกว่าต้อง ‘ประชุม (meeting)’ สักคำเดียว แต่จะใช้คำว่า ‘ชุมชน (Community)’ แทน

เพราะฉะนั้นปลายทางของ ‘ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC)’ นั้นไม่ใช่การประชุม แต่เป็นการสร้าง ‘บรรยากาศและวัฒนธรรมในโรงเรียน’ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่าง ครูกับครู ครูกับผู้บริหาร หรือผู้บริหารกับผู้บริหาร (หากจะตีความให้กว้างกว่านี้ อาจจะมีผู้ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย เช่น ผู้ปกครอง ศึกษานิเทศก์ หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย)

เพราะฉะนั้น เมื่อใช้คำว่าชุมชน การพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน จะเกิดที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องประชุมเท่านั้น เกิดในห้องเรียน เกิดในห้องพักครู เกิดในวงรับประทานอาหารกลางวัน เกิดขึ้นตอนที่เดินทางกลับบ้านด้วยกัน หรือจะเป็นวงหมูกระทะนอกโรงเรียนก็ได้!

จะเห็นว่าโจทย์สำคัญในการสร้างวัฒนธรรมแบบนี้ขึ้นมา ไม่ใช่การกำหนดช่วงเวลาและรูปแบบการประชุม แต่เป็นการตั้งคำถามว่า “เราจะต้องทำอย่างไรให้ทุกคนรู้สึกว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของซึ่งกันและกัน” มากกว่า


✏️ ข้อที่ 2 PLC ต้องเกิดขึ้นภายในหมวด/กลุ่มสาระของตนเอง

เรามักจะเห็นภาพวง PLC ของครูวิทยาศาสตร์, วง PLC ของครูสังคมศึกษา หรือวง PLC ของครูภาษาต่างประเทศ ที่คุยเกี่ยวกับการสอนและปัญหาที่พบภายในรายวิชาที่ตนเอง เนื่องจากการพูดคุยกับคุณครูในกลุ่มสาระของตนเองเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ทุกคนเห็นภาพเดียวกัน เพราะสอนในรายวิชาเดียวกัน

ซึ่งความเป็นจริง PLC นั้นสามารถเกิดข้ามหมวด/กลุ่มสาระได้ด้วยนะ เช่น การ PLC กันระหว่างกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์และกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ เพื่อการบูรณาการเนื้อหาและการจัดการเรียนรู้เข้าด้วยกัน

เราอาจจะเห็นภาพของการพิจารณาตัวชี้วัดร่วมกันว่าตัวชี้วัดใดสามารถรวมกันอยู่ภายในคาบเรียนเดียวกันได้ การวางแผนการประเมินนักเรียนผ่านชิ้นงานที่สามารถตอบตัวชี้วัดได้ทั้งสองรายวิชา หรือการวางแผนการสอนร่วมกันแบบ Co-teaching เช่น การสอนเรื่อง ‘ภาษี-ผลไม้ มะเขือเทศควรอยู่ในหมวดไหน และเก็บภาษีเท่าใด’ ที่จำเป็นต้องใช้วิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ร่วมกัน

หรือถ้า PLC ในวงนั้นเกิดขึ้นในระดับโรงเรียน ก็สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนในเชิงของนโยบาย วิสัยทัศน์ แนวทางของโรงเรียน เพื่อทำให้คนทั้งโรงเรียนเห็นเป้าหมายร่วมกัน


📷  ข้อที่ 3 PLC ต้องถ่ายรูปเพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานการประเมิน

แน่นอนว่า ‘Photo learning community’ ที่หลายคนแซวกันนั้น มาจากความพยายามในการเก็บหลักฐานการประเมินของคุณครู นำไปใส่แฟ้มประเมินเพื่อตอบโจทย์ตัวชี้วัดการพัฒนาทางวิชาชีพ จนทำให้ในบางครั้งเกิดหลงลืมหัวใจหลักของการประเมิน นั่นก็คือ ‘วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน’

“รวมตัวกัน - ถ่ายรูป - เปลี่ยนชุด - ถ่ายรูป - กลับบ้าน”

แต่ถ้าหากเราพิจารณากันดูดี ๆ เราจะพบว่าหลักฐานหรือร่องรอยในการ PLC ของคุณครูนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นรูปภาพที่ทุกคนนั่งรวมกันเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นชิ้นงานของนักเรียนที่เกิดจากการ PLC ของคุณครู รายวิชาใหม่ ๆ ที่เกิดจากการบูรณาการข้ามกลุ่มสาระ หรือจะเป็น Visual note ประเด็นสำคัญในการพูดคุย หลักฐานเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันได้เช่นเดียวกัน

แต่ก็อดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่า PLC ที่เป็นวัฒนธรรม และควรเกิดการพูดคุยอย่างเป็นธรรมชาติ เมื่อนำมาจับคู่กับการใช้หลักฐานในการประเมิน ถ้าคุณครูที่พูดคุยถึงวิธีการสอนในวงหมูกระทะข้างโรงเรียน แบบนี้จะต้องถ่ายรูปมายืนยันไหมนะว่าเกิด PLC ขึ้นมา

เราควรให้ครูสร้างหลักฐานในการ PLC จริง ๆ หรือเปล่า อันนี้ก็น่าสนใจ


💭 ข้อที่ 4 PLC ต้องพูดคุยเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน

PLC ที่หลาย ๆ คนรู้จัก อาจจะเกิดขึ้นจากวงสนทนาที่คุณครูมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียน และต้องการแก้ไขปัญหานั้น ๆ ด้วยวิธีการสอนรูปแบบใหม่ ๆ หรืออาจจะเกิดจากการวางแผนการสอนร่วมกันที่จะเกิดขึ้นในคาบถัด ๆ ไป

แต่ความเป็นจริงแล้ว เราสามารถทำให้ PLC ในโรงเรียนนั้นมีบทสนทนาที่กว้างก็นั้นได้ เช่น การแลกเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ (Paradigm) การพูดคุยเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตในอาชีพ (Career path) หรือการแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการที่คุณครูไปเข้าร่วมกิจกรรมหรืองานเสวนานอกโรงเรียน

น่าตื่นเต้นไม่น้อยเลยใช่ไหมละ ถ้าคุณครูจะพูดคุยกันในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ น่าจะช่วยเติมไฟในการทำงานของแต่ละคนได้ไม่น้อยเลยล่ะ


🏫 ข้อที่ 5 PLC ต้องเกิดขึ้นภายในโรงเรียนเท่านั้น

เมื่อก่อนอาจจะใช่ แต่ในปัจจุบันนี้ วง PLC นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการ PLC กันภายในโรงเรียน หรือการ PLC กันข้ามโรงเรียน เช่น การนัดพูดคุยกันระหว่างโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่พบเจอ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร นโยบาย หรือจะเป็นปัญหาการจราจรรอบรั้วโรงเรียน และความปลอดภัยของนักเรียน ก็สามารถเกิดขึ้นได้นะ!

และด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น Zoom meeting, Skype หรือว่า Facebook group ทำให้วง PLC นั้นเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นไปอีก การ PLC กันในรายวิชาเดียวกัน หรือเป็นการ PLC กันเกี่ยวกับเทคนิคการสอน เราจะพบเจอวงสนทนาเหล่านี้ได้ง่ายมากขึ้น

การเข้ามาของแพลตฟอร์มเหล่านี้ ทำให้เรามองเห็นภาพ PLC ที่กว้างไปกว่าเดิม ไม่ใช่แค่ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพในโรงเรียน แต่เราอาจจะเห็นชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพระดับโลก ที่ทุกคนเชื่อมต่อและพูดคุยกันได้แม้ว่าจะอยู่ต่างสถานที่กัน

แต่ภาพ PLC ที่เราใฝ่ฝันจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ายังมีสิ่งเหล่านี้อยู่

การที่คุณครูต้องรับผิดชอบงานในฝ่าย ๆ ต่าง ๆ จนไม่มีเวลามาจัด PLC ร่วมกัน, การยึดถือความคิดเห็นจากคนเพียงไม่กี่คนด้วยอำนาจที่มากกว่า, การขาดความเข้าใจว่าแท้จริงแล้ว PLC ควรเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคทำให้วง PLC ที่ควรจะเป็นนั้นเกิดขึ้นไม่ได้

ถ้าเราทุกคนอยากให้เกิด PLC ที่เป็นประโยชน์ต่อตัวครู จึงต้องทำมากกว่าการเรียกร้องให้ครู PLC แต่ต้องมีการจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมให้เอื้อให้ครูได้ PLC กันอย่างมีประสิทธิภาพด้วย


บทความโดย

มะพร้าว-ฉัตรบดินทร์ อาจหาญ

Content Creator จากเพจ insKru

อ้างอิง

Why Don’t Professional Learning Communities Work?

https://www.educationworld.com/a_admin/professional-learning-community-pitfalls-best-practices.shtml#:~:text=Poor infrastructure (especially lack of,upon teachers by administrators);

‘A Professional Learning Community Is Not a Faculty, Grade Level, or Department Meeting’

https://www.edweek.org/leadership/opinion-a-professional-learning-community-is-not-a-faculty-grade-level-or-department-meeting/2021/04

It’s Not a Meeting; It’s a Way of Being!

https://www.allthingsplc.info/blog/view/331/its-not-a-meeting-its-a-way-of-being

PLC ไม่ใช่แค่การประชุม แต่คือ ‘วิถีของโรงเรียน’

https://www.starfishlabz.com/blog/837-plc-ไม่ใช่แค่การประชุม-แต่คือ-ว-ถ-ของโรงเร-ยน

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(3)