icon
giftClose
profile
frame

What if จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าระบบประเมินครูหายไป!?

23020
ภาพประกอบไอเดีย What if จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าระบบประเมินครูหายไป!?

เหตุผลใด ทำไมครูไทยถึงถูกประเมินบ่อยเหลือเกิน?

ถ้าให้ทุกคนลองจินตนาการเล่น ๆ ว่า หากนับตั้งแต่วันพรุ่งนี้ ระบบประเมินครูได้หายไป ไม่ว่าจะเป็น ‘ประเมินการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม (ตั้งแต่เป็นครูผู้ช่วย)’ ‘ประเมินเลื่อนขั้นเงินเดือน (ตอนที่บรรจุแล้ว)’ หรือ ‘ประเมิน วPA (อันใหม่ล่าสุด)’

ถ้าการประเมินเหล่านี้หายวับไปทั้งหมด คุณครูคิดว่าจะเกิดอะไรบ้างน้า~


“ก็ดีน่ะสิ พวกเราจะได้มีเวลาเต็มที่กับการสอน”
“ไม่ต้องเสียเวลาจัดแฟ้ม ตั้งโต๊ะประเมินแล้วสินะ!”
“คงมีเวลาคิดกิจกรรมสนุก ๆ ให้กับเด็ก ๆ สักที”


ไม่ว่าจะมองมุมไหนก็มีแต่เรื่องดี ๆ เกิดขึ้นกับคุณครู ได้เวลาเตรียมสอนกลับมา บอกลาการจับจีบผ้าและป้ายไวนิลขนาดมโหฬาร สุขภาพจิตอาจจะดีขึ้นจากปริมาณงานและเอกสารที่ลดลง มีกำลังใจในการทำงานไม่น้อยเลยทีเดียวเชียว


แต่ช้าก่อน! ในอีกมุมหนึ่งของสังคม อาจจะมีคนโต้แย้งขึ้นมาว่า


“ถ้าไม่มีระบบประเมินครู ครูก็คงไม่ทำงานกันหรอก!”
“แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าการสอนของครูมีคุณภาพ!”
“แบบนี้เราจะควบคุมคุณภาพของการศึกษาได้ยังไง!”


ไม่ว่าแต่ละคนจะมีความคิดเห็นอย่างไร จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการประเมิน เราอยากชวนทุกคนกลับมามองที่จุดเริ่มต้นก่อน ว่าเรามีระบบประเมินครูไปเพื่ออะไรกัน?


ย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้น เรามีระบบประเมินครูไปเพื่ออะไร?

การประเมินนั้นเป็นเรื่องที่พบเจอได้บ่อยในระบบการศึกษา ทั้งการประเมินการเรียนรู้ของนักเรียน หรือประเมินการทำงานของคุณครู แต่เมื่อสังเกตดูดี ๆ ไม่ว่าผู้ถูกประเมินจะเป็นใคร จุดร่วมและหัวใจหลักก็คือ

‘การทำให้ผู้ถูกประเมินได้รับรู้ถึงศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ และมองเห็นแนวทางในการพัฒนาตนเอง’

เมื่อนักเรียนถูกประเมิน นักเรียนของเราก็ควรจะได้รับรู้ว่าตอนนี้เขามีความสามารถมากแค่ไหน และเขาจะพัฒนาต่อไปได้อย่างไร และในขณะเดียวกัน เมื่อคุณครูถูกประเมิน คุณครูก็ควรจะได้รับรู้ว่าตอนนี้เรามีความสามารถมากแค่ไหน และเราจะเป็น ‘ครูที่ดีขึ้น’ ได้อย่างไร

ตัวอย่างไอเดียการประเมินเพื่อพัฒนาจาก insKru

และหัวใจสำคัญของการประเมินอีกข้อหนึ่ง คือ

‘การประเมินนั้นจะต้องรบกวนผู้ถูกประเมินให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้’

เช่น การที่ผู้ประเมินเข้าไปประเมินการทำงานของคุณครูในห้องเรียน คอยให้คำแนะนำคุณครูหลังจบคาบเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียน เรียกร้องภาระงานเพิ่มเติมที่สุด เพื่อไม่ให้การประเมินไปบดบังการทำงานของคุณครู

ถ้าทุกคนมองเห็นภาพเดียวกันแบบนี้ ระบบการประเมินก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเลยใช่ไหมล่ะ และเป็นระบบที่น่าจะทำให้เราไม่หมดไฟ ได้รู้สึกว่าตัวเองเติบโตขึ้นทุก ๆ ครั้งหลังจากการประเมิน

แต่ที่ครูหลาย ๆ คนกำลังเจ็บปวดอยู่ เพราะว่าในความเป็นจริงกลับตรงกันข้ามเลยน่ะสิ


เมื่อการประเมินเป็นเพียงพิธีกรรม ที่ไม่ได้มีอยู่เพื่อการพัฒนาครู

จากภาพการประเมินที่เราใฝ่ฝัน กลับกลายเป็นวัฒนธรรมการประเมินผ่านแฟ้มเอกสารหลากสี ที่มีไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการทำงาน ซึ่งวัฒนธรรมเช่นนี้ ส่งผลกระทบให้คุณครูจำเป็นต้องโฟกัสกับการเก็บหลักฐานระหว่างการทำงานอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นใบงาน ชิ้นงาน เอกสารประกอบการเรียน หรือต้องพะว้าพะวังกับการถ่ายรูปเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานว่าตนเองได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมของโรงเรียน

“ไม่มีรูป ถือว่าไม่ทำงาน”

ประโยคตลกร้ายนี้จึงไม่เกินจริง แถมยังผลักครูให้อยู่ในภาวะจำนนต่อการ ‘สร้างหลักฐานการประเมิน’ ขึ้นมาจำนวนมาก เพื่อให้ตัวเองเอาชีวิตรอดกับการประเมินในรูปแบบนี้ แม้ว่าเอกสารเหล่านั้นจึงจะไม่มีความจริงผสมอยู่ภายใน แต่ก็ทำให้สามารถผ่านการประเมินไปได้ด้วยดี

แผนการสอนกลายเป็นแผนการส่ง รูปภาพกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากการวนใช้ซ้ำในทุก ๆ ปี บางทีต้องใช้วิธีการนำเอกสารเก่ามาเปลี่ยนวันที่ อยู่ในสภาพที่ไม่มีเวลาไปเตรียมสอน เพราะต้องเอาเวลามาใช้กับการสร้างหลักฐานในการประเมินมากจนเกินไป


มองระบบการประเมินครูผ่านแว่นตาทุนนิยมและการศึกษาสร้างชาติ

หากมองด้วยแว่นตาของระบบทุนนิยม ระบบประเมินครูที่พยายามรีดศักยภาพครูออกมาให้ได้มากที่สุดด้วยการจับตามองการปฏิบัติงานและประเมินผลงานด้วยเกณฑ์ที่กำหนด กดดันให้ครูพัฒนาตัวเองออกมา มองว่าครูจะต้องก้าวหน้า ‘เพื่อเป็นครูที่ดีขึ้น’ ในทุก ๆ ปี เพื่อสร้างผลผลิต (คุณภาพการสอน) ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สิ่งเหล่านี้สร้างความกดดันให้กับครูเป็นอย่างมาก

และหากมองด้วยแว่นตาของการศึกษาที่มีไว้เพื่อการสร้างชาติ การวางตำแหน่งให้ครูเป็น ‘ตัวแทนจากภาครัฐ (government agent)’ ในการกำหนดทิศทางพลเมืองตามที่รัฐต้องการ ด้วยการกำหนดสเปค (spec) หรือคุณสมบัติที่ครูควรจะมี ผ่านการกำหนดตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่ใช้ในการประเมินครู เช่น ครูต้องรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ครูต้องเคารพกฎกติกาของสังคม หรือต้องปฏิบัติตนอยู่ในกรอบวัฒนธรรมหรือประเพณีที่ดีงามของไทย

เมื่อลองสวมแว่นตาในมิติต่าง ๆ เราจะเห็นว่าความดีงามหรือความเลวร้ายของระบบประเมินนั้นขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจในการหยิบใช้ขึ้นมา หากนำมาใช้ผิดวิธีการ นำมาตรวจสอบการทำงาน และอยู่ในฐานของความไม่ไว้วางใจครู ระบบประเมินก็จะกลายเป็นตัวร้ายได้ไม่อยากเลยใช่ไหมละ


ตกลงแล้ว ยังควรมีระบบประเมินครูต่อไปไหม?

ถ้าเราตอบว่า ‘ควรมี’ คำถามต่อมาคือ เราจะทำให้การประเมินที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเข้าใกล้กับสิ่งที่ควรจะเป็นได้อย่างไร

ตัวอย่างระบบประเมินครูจาก ผอ.ศุภโชค ปิยะสันติ์ โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/supachoke.piyasant/posts/pfbid027Qyoo8jUbMApPDVTZ8G1gbYrSAgcDL1LHdoSnKqv8sfF3QQgUrmPgvyy8UFTpB3ol

ตัวอย่างระบบประเมินครูจาก อ.อรรถพล อนันตวรสกุล จากโรงเรียนพุทธจักรวิทยา

อ่านเพิ่มเติมได้ที่

https://www.facebook.com/athapol/posts/pfbid0rpPDjHffi91sJhDMYZc5KBopbyiABc8Yft2aEw4aKRyQeKQgzngg7BHAoTNBDU3Wl

แต่ถ้าเราตอบว่า ‘ไม่ควรมี’ คำถามต่อมาคือ เราควรประเมินค่าคุณภาพของระบบการศึกษาหรือไม่ และอะไรจะทำให้สังคมมั่นใจว่าการศึกษาเป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็น

เมื่อเราได้มีโอกาสกลับมาทบทวนบทบาทหน้าที่ของระบบการประเมินครูอีกครั้ง และลองสวมแว่นตาหรือมุมมองที่หลากหลาย อาจจะทำให้เราได้ถอยออกมาและมองเห็นภาพใหญ่หรือกลไกของสังคมที่กำลังทำงานอยู่ อาจจะทำให้เราเกิดบทสนทนาที่น่าสนใจมากขึ้นก็ได้

แล้วคุณครูล่ะ คิดเห็นอย่างไรกันบ้าง?


บทความโดย

มะพร้าว-ฉัตรบดินทร์ อาจหาญ

อ้างอิงภาพจาก

https://www.facebook.com/KaninTheMovie/posts/pfbid02zBHUD4PRSNsUSqtH9J97eCcRJ5DefpBNKmwfQ1dLZR6EATjnAG7EsnKU7whcgz4nl

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(1)