“โอ้ยยยย เครียดดดดด!”
เชื่อเลยว่าไม่มีใครชอบเรื่องเครียดอย่างแน่นอน นอกจากจะทำให้อารมณ์เสียแล้ว ยังจะต้องไปแก้ไขปัญหาที่ชวนทำให้เครียดอีก แต่จะทำยังไงได้ งานที่โรงเรียนก็ชวนเครียดเหลือเกิน ไม่ว่าจะต้องเตรียมสอน ประชุม รับมือกับเหตุการณ์ในห้องเรียนที่ไม่คาดคิด หรือเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างเพื่อนครูด้วยกันเอง
ในเมื่อความเครียดมันห้ามให้เกิดไม่ได้ และสุดท้ายแล้วคุณครูก็ต้องเผชิญกับเรื่องเครียดอยู่ดี จึงอยากชวนมองว่าความเครียดหรืออารมณ์เชิงลบนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติของชีวิตที่เราจะต้องพบเจอ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ “คุณครูรับมือกับความเครียดหรือความกดดันด้วยวิธีการแบบไหน”
จึงชวนคุณครูลองมาสำรวจผ่านมุมมองจากทฤษฎี “Virginia Satir coping stances” ที่แบ่งมนุษย์ออกเป็นทั้งหมด 4 กลุ่ม ตามลักษณะการรับมือกับความเครียดหรือความกดดันที่ได้พบ มาดูกันว่าแต่ละคนรับมือกับความเครียดด้วยกลไกรูปแบบไหนกัน
ความผิดใครไม่รู้ แต่ที่รู้ ๆ ไม่ใช่ฉันที่เป็นคนผิดแน่นอน
ลักษณะของมนุษย์กลุ่ม ‘นักโทษ’
เมื่อเกิดความเครียดหรือปัญหาที่สร้างความกังวลใจ คนกลุ่มนี้เลือกที่จะหา “เหยื่อ” ที่เป็นต้นตอของปัญหา และใช้การดุด่า ว่ากล่าว หรือตำหนิให้รู้สึกเจ็บปวด เพื่อปิดบังความรู้สึกไม่ดีที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตน
“เพราะคุณนั่นแหละ ที่ทำให้เรื่องนี้มันวุ่นวายไปหมด!”
วิธีรับมือกับมนุษย์กลุ่ม ‘นักโทษ’
เข้าหาด้วยความใจเย็น เข้าใจในธรรมชาติของพวกเขา ถ้าการ ‘กล่าวโทษ’ เกิดขึ้นเพื่อปิดบังความรู้สึกกังวลใจ ให้ชวนคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าไม่มีใครผิดเพียงผู้เดียว พยายามคุยให้มองไปข้างหน้า เราจะทำอะไรต่อจากนี้ดี มองปัญหาให้เป็นปัญหาร่วม และแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ
หลาย ๆ คนมองคนกลุ่มนี้ว่ามีพฤติกรรมที่ ‘ไม่น่ารักเลย’ แต่ความเป็นจริงแล้ว พวกเขากำลังป้องกันตัวเองอย่างสูง เนื่องจากบริบทที่เขาเติบโตมา ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ร้ายแรงและเป็นความผิดพลาดที่ให้อภัยไม่ได้ หากลองชวนพูดคุยดี ๆ เขาอาจจะมีบาดแผลเล็ก ๆ ในจิตใจอยู่ก็ได้นะ
ทุกคนอย่าโทษตัวเองเลย ยกให้เป็นหน้าที่ฉันดีกว่า
ลักษณะของมนุษย์กลุ่ม ‘นักเอาใจ’
เรื่องที่ถนัดคนกลุ่มนี้ที่สุดคือทำให้ผู้อื่นรู้สึกสบายใจ ไม่ว่าปัญหาอะไรจะเกิดขึ้นมา ‘ฉันขอรับผิดเอาไว้เอง’ มักพูดบ่อย ๆ ว่า “ฉันขอโทษ” “เรื่องนี้ฉันเป็นคนผิด” คนกลุ่มนี้มักจะใจดีกับทุกคน ยกเว้นใจดีกับตัวเอง และไม่ค่อยอยากนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ ในที่ประชุม เพราะคิดว่าไอเดียของผู้อื่นนั้นดีกว่าของตนเองเสมอ
“ไม่เป็นไรหรอก เรื่องนี้ฉันผิดเอง ฉันขอโทษนะ”
วิธีรับมือกับมนุษย์กลุ่ม ‘นักเอาใจ’
ต้องเตือนให้พวกเขาได้รับรู้ในบางเรื่องที่เขาไม่ได้ทำผิด ชวนคุยเพื่อค้นหาว่าคนกลุ่มนี้มีความต้องการใดซ่อนอยู่ เปิดโอกาสหรือพื้นที่ให้พวกเขาได้พูดในสิ่งที่พวกเขาคิด ย้ำให้เขารับรู้ว่าการโทษตัวเองจะส่งผลเสียในระยะยาว ทั้งเรื่องของสุขภาพจิต และวิธีในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
มองเผิน ๆ คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่เราอยู่ด้วยแล้วสบายใจ เพราะพวกเขามักพยายามเอาใจใส่คนรอบตัวตลอดเวลา แต่ถ้าพวกเขาไม่ได้มีพื้นที่สำหรับการ ‘ใจดีกับตัวเอง’ บ้าง อาจจะเป็นการทำร้าย ‘นักเอาใจ’ โดยที่ทุกคนอาจไม่รู้ตัว
มองข้ามความรู้สึกของแต่ละคน เพราะโลกใบนี้หมุนด้วยเหตุผล
ลักษณะของมนุษย์กลุ่ม ‘นักคำนวณ’
คนกลุ่มนี้มักไม่ใส่ใจในเรื่องของอารมณ์และความรู้สึก เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ก็จะมองหาคำตอบ ‘เพียงหนึ่งเดียว’ ยึดหลักการและเหตุผลเป็นที่ตั้ง เพื่อสิ่งที่ถูกต้องที่สุด บางครั้งถึงกลับมองข้ามความรู้สึกของคนรอบตัวไป
“ไม่รู้ว่าจะรู้สึกยังไงกัน แต่ตามหลักการต้องเป็นแบบนี้!”
วิธีรับมือกับมนุษย์กลุ่ม ‘นักคำนวณ’
พยายามทำให้พวกเขาได้รับรู้ว่าคนรอบตัวนั้นเป็นมนุษย์ ต่างคนต่างมีความรู้สึกต่อปัญหาที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไป ชวนทำความเข้าใจว่าเหตุผลและหลักการนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องพยายามใส่ใจกับความรู้สึกของคนรอบข้างด้วย ให้ฟีดแบกบ่อย ๆ เมื่อเขานำหลักการไปตัดสินคนรอบตัว
คนกลุ่มนี้มักถูกมองว่าเป็น ‘มนุษย์คอมพิวเตอร์’ อยู่บ่อย ๆ แม้ว่าเหตุผลที่จะเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการแก้ปัญหา แต่คนรอบตัวต้องพยายามให้ฟีดแบกกับคนกลุ่มนี้อยู่เรื่อย ๆ เนื่องจากเขาเองก็ไม่รู้ตัวว่ากำลัง ‘ใช้เหตุผลมากจนเกินไป’
ลอยตัวเหนือทุกปัญหา มาร่วมเฮฮากันดีกว่าพวกเรา
ลักษณะของมนุษย์กลุ่ม ‘นักตลก’
เมื่อเกิดปัญหาขึ้น คนกลุ่มนี้เลือกที่จะ ‘เปลี่ยนประเด็น’ มองทุกอย่างให้เป็นเรื่องสนุก โดยไม่สนแก้ไขปัญหา พยายามทำให้คนรอบตัวไปสนใจสิ่งอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ทำตัวดึงดูดความสนใจ จนอาจทำให้คนอื่นไม่สบายใจ
“ทุกคนจะเครียดกันไปทำไมเนี่ย มาเฮฮากันดีกว่า!”
วิธีรับมือกับมนุษย์กลุ่ม ‘นักตลก’
เมื่อพูดคุยกับคนกลุ่มนี้ ต้องมีโครงสร้างการคุยที่ชัดเจน ‘เป้าหมายในการพูดคุยคืออะไร’ ‘ปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร’ แจ้งให้พวกเขาได้รับรู้ว่าการกระทำดังกล่าวนั้นรบกวนผู้อื่น เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับปัญหา และบอกว่า ‘ความตลก’ อาจทำให้ผู้อื่นเกิดความไม่สบายใจ
ในสังคมไทย คนกลุ่มนี้มักเป็นบุคคลที่ได้รับความสนใจ เนื่องจากความสนุก ตลก เฮฮา อยู่ด้วยแล้วรู้สึกไม่เครียด แต่ฟังก์ชั่นของความตลกนั้นต้องถูกใช้ให้ถูกจังหวะเวลา การชวนพูดคุยเพื่อให้พวกเขาได้รับรู้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
แต่เดี๋ยวก่อน! ไม่ใช่ว่าแต่ละคนจะรับมือกับความเครียดด้วยกลไกเพียงรูปแบบเดียวนะ หลายครั้งที่เราเจอกับความเครียดหรือความกดดันและเกิดกลไกรับมือกับความเครียดหลากหลายรูปแบบก็ได้!
ในช่วงแรกที่พบกับความเครียด เราอาจจะกลายเป็น “นักโทษ” ไล่โทษให้คนอื่นมีความผิด แต่ก็อาจคิดขึ้นมาได้ว่าจริง ๆ แล้วฉันเองก็มีส่วนผิดกับเรื่องนี้ จึงกลายมาเป็น “นักเอาใจ”
พอเวลาผ่านไปสักพักก็เริ่มเห็นเหตุผลต่าง ๆ รอบด้านมากขึ้นจึงกลายเป็น “นักคำนวณ” และเมื่อเห็นว่าเรื่องนี้ตัวเองไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วยก็อาจจะกลายร่างเป็น “นักตลก” ก็ได้
เพราะฉะนั้น การทำความเข้าใจกลไกรับมือกับความเครียดนั้น ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อนำไปตีตราผู้อื่นว่าใครอยู่ในกลุ่มไหน แต่ใช้ในการทำความเข้าใจตนเองและผู้อื่นว่าแต่ละคนกำลังใช้วิธีการแบบไหนในการรับมือกับความเครียดอยู่ต่างหาก
เอ๊ะ! ตอนนี้คุณครูเครียดอยู่หรือเปล่า แล้วกำลังใช้วิธีการแบบไหนรับมือกับมันอยู่ อย่าลืมสังเกตตัวเองบ่อย ๆ ล่ะ จะได้ไม่ไหลไปตามอารมณ์ที่เราไม่รู้ว่าจะต้องจัดการกับมันอย่างไร
🔎 อ้างอิงจาก
https://www.choojaiproject.org/2017/03/4-coping-stances-part-1-placating-stance-and-blaming-stance/
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!