อย่าว่าแต่เด็กนักเรียนเลยค่ะ แม้แต่ผู้ใหญ่เอง ตอนที่กำลังเบื่อหรือสมาธิขาดตอน เราก็มักจะหยิบมือถือขึ้นมาเล่นแก้เบื่อใช่มั้ยล่ะ เพื่อช่วยให้นักเรียนมีสมาธิได้ง่ายขึ้น ก็เลยช่วยนักเรียนโดยการฝากมือถือไว้ที่ครูก่อนเริ่มคาบเรียน ไม่ใช่การยึด ริบ หรือทำโทษนักเรียน แต่เพื่อช่วยลดสิ่งเร้า เลยรับฝากโทรศัพท์มือถือไว้ที่ครูก่อนระยะเวลาหนึ่ง โดยใส่ไว้ในช่องเลขที่ของตัวเอง ครูจะเช็คชื่อตามช่องที่มีโทรศัพท์วางอยู่ (หากนักเรียนไม่มีโทรศัพท์ หรือชาร์จอยู่ ไม่นับว่าขาดเรียน) การใช้โทรศัพท์มือถือแทนการขานเช็คชื่อ มีประโยชน์ช่วยให้ลดความสับสนในการรับคืน และที่สำคัญกว่าคือการสื่อสารกับนักเรียนว่ากิจกรรมนี้ไม่ใช่การทำโทษ นักเรียนไม่ได้ทำผิด เพียงแต่เราจะมาลองมีสมาธิกับการเรียนให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้กันดูสักตั้ง
กิจกรรมนี้จะได้ผลดีเมื่อครูมีทัศนคติเชิงบวกต่อนักเรียน และสื่อสารสร้างข้อตกลงกับนักเรียนเพื่อใช้กิจกรรมนี้เป็นกติกาในการเช็คชื่อเข้าเรียน หากในระหว่างคาบนักเรียนจะขาดสมาธิไปบ้าง ก็ต้องถือว่านักเรียนได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว ควรให้โอกาสนักเรียนค่อย ๆ เพิ่มพูนสมาธิให้มากขึ้นตามลำดับ หรือแม้แต่รักษาไว้ที่ระดับเดิมได้ก็ยังถือว่าไม่เลวนัก หากครูมองว่ากิจกรรมนี้คือการทำโทษ แสดงออกโดยการทำตำหนิที่นักเรียนเคยเล่นโทรศัพท์มือถือระหว่างเรียน จะทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความอึดอัด และขาดความร่วมมือเท่าที่ควร เพราะแท้จริงแล้ว สมาธิในการเรียนไม่ใช่สิ่งที่บังคับให้เกิดขึ้นได้ เมื่อนักเรียนไม่สามารถบังคับให้ตัวเองมีสมาธิได้ นักเรียนจึงไม่มีความผิด ไม่ควรถูกตำหนิ การช่วยกันสร้างปัจจัยทำให้นักเรียนมีสมาธิ หรือช่วยลดปัจจัยที่ทำให้นักเรียนเสียสมาธิต่างหาก คือการช่วยให้นักเรียนมีสมาธิจดจ่อกับบทเรียนได้มากขึ้น
ครูควรให้ความเคารพความเป็นส่วนตัวของนักเรียน เคารพสิทธิในความเป็นเจ้าของทรัพย์สินของนักเรียน ไม่แสดงออกในลักษณะเปรียบเทียบความแตกต่างของโทรศัพท์มือถือที่นักเรียนฝากไว้ รวมถึงไม่อ่านข้อความที่ปรากฏบนหน้าจอ หรือภาพถ่ายบนโทรศัพท์มือถือ เมื่อนักเรียนได้รับการเคารพ ก็จะรู้สึกเคารพครูและเต็มใจที่จะทำตามกติกาที่ตกลงกันไว้
กิจกรรมนี้ ไม่ได้มองว่านักเรียนขาดความสามารถในการจัดการตนเอง เพียงแต่เห็นว่า การจัดการสมาธิของตัวเองในขณะที่มีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัวนั้นยากไม่ต่างกับผู้ใหญ่ทุกคนที่โทรศัพท์มือถือสามารถรบกวนให้เสียสมาธิได้เช่นกัน ความรู้สึกเข้าใจกันเช่นนี้จะเป็นพื้นฐานให้การสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียนมีเหตุผล สามารถสร้างความเข้าใจกันได้ง่าย และผลลัพธ์ของกิจกรรมเกิดจากความตกลงด้วยความเต็มใจระหว่างกัน ไม่เกิดความรู้สึกอึดอัด ถูกบังคับ ซึ่งกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
และในท้ายที่สุด เมื่อนักเรียนมีสมาธิมากขึ้น ตั้งใจเรียนได้มากขึ้น ก็เป็นเพราะนักเรียนแต่ล่ะคนต่างได้พยายามมาด้วยกันอย่างมาก ทำให้ทุกคนสามารถภาคภูมิใจในตนเอง เป็นการเสริม seft esteem ให้กับนักเรียน ช่วยให้นักเรียนมีทัศนคติภาคภูมิใจในตนเองเป็นเกราะป้องกันจิตใจให้กับนักเรียนยิ่งขึ้นต่อไป
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!