icon
giftClose
profile

สอนยังไง ในวันที่เด็ก “อยู่ไม่เคยนิ่ง”

56031
ภาพประกอบไอเดีย สอนยังไง ในวันที่เด็ก “อยู่ไม่เคยนิ่ง”

คุยกับคุณนีท-เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น

Concentrate! Concentrate! Concentrate!

2 กิจกรรมเพื่อเพิ่มสมาธิ และการจดจ่อให้แก่นักเรียน

สวัสดีค่ะ คุณครูทุกท่าน

วันนี้เราก็กลับมาพบกันอีกแล้วนะคะ ซึ่งวันนี้นีทก็มีเรื่องเล่ามาฝากคุณครูทุกคนค่ะ แต่ก่อนอื่นเลย นีทอยากถามคุณครูทุกคนค่ะว่า

“คุณครูท่านไหนเคยดูรายการ The Face Thailand บ้าง ยกมือขึ้น!”

นีทเชื่อว่าน่าจะมีคุณครูหลาย ๆ ท่านดูรายการ The Face Thailand กันมาบ้าง

คือว่า เรื่องมันมีอยู่แบบนี้ค่ะ ในฉากหนึ่งของรายการ The Face Thailand พี่บีเขาได้พูดกับน้อง ๆ ในทีมตอนทำแคมเปญว่า

https://web.facebook.com/thefaceth/photos/a.1517723435110450/1678754205674038/

“Concentrate! Concentrate! Concentrate!”

ทำไมพี่บีถึงเลือกใช้คำว่า Concentrate! กันล่ะ นีทคิดว่าการที่คนเรามีสมาธิ จดจ่อกับการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะช่วยทำให้เราทำงานนั้นออกมาได้ดี ซึ่งคำว่า “Concentrate” หรือ “การมีสมาธิจดจ่อ” นั้น ****ก็เป็นเรื่องที่สำคัญกับนักเรียนของพวกเราเช่นกันค่ะ

มีงานวิจัยของ Hassanbeigi และคณะ (2011) ที่เขาได้ทำการศึกษาถึงทักษะที่สำคัญในการเรียนแล้วพบว่า

“การมีสมาธิจดจ่อนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้นักเรียนมีผลการเรียนที่ดีขึ้น เนื่องจากพวกเขาสามารถตั้งใจเรียนและไม่วอกแวกต่อสิ่งที่มารบกวน”

คราวนี้ค่ะ นีทอยากจะชวนคุณครูทุกคนมานั่งไทม์แมชชีนกลับไปดูเรื่องราวในห้องเรียนของเรากันค่ะ ว่านักเรียนเราหลุดโฟกัส หรือไม่จดจ่อช่วงไหนกันบ้าง โดยคำตอบของพวกเรานั้น ก็น่าจะมีหลากหลายเลย เช่น

  • เป็นช่วงบ่ายของวัน
  • เป็นช่วงที่สอนเนื้อหาเยอะ ๆ
  • เป็นช่วงที่ให้ทำชิ้นงานแล้วก็ไม่ค่อยทำ
  • เป็นช่วงที่ใกล้จะถึงเวลากินข้าวหรือเลิกเรียน
  • เป็นช่วงเวลาที่ใกล้จะมีกิจกรรมพิเศษ จึงทำให้นักเรียนใจลอยไปแล้ว เช่น ตอนนี้ 11 โมงกำลังเรียนอยู่ แต่ใจนักเรียนลอยไปงานคอนเสิร์ตตอนบ่ายโมงเรียบร้อยแล้ว

เราทุกคนมักจะเจอปัญหาเรื่องสมาธิจดจ่อของนักเรียนกันแทบทุกคน เพียงแต่ระดับปัญหาที่เจอนั้นก็แตกต่างกันออกไปค่ะ

โดยวันนี้ นีทก็มี 2 กิจกรรมที่จะมาช่วยคุณครูแก้ปัญหานักเรียนที่ไม่ค่อยมีสมาธิจดจ่อค่ะ


2 กิจกรรมเพื่อเพิ่มสมาธิและการจดจ่อให้กับนักเรียน

☝️ กิจกรรมที่ 1 คาบนี้มีอะไรบ้าง

ในกิจกรรมนี้จะเน้นไปในเรื่องของการสร้างห้องเรียน การสร้างวิธีการสอนที่ช่วยให้เด็กๆ นั้นมีสมาธิจดจ่อได้ค่ะ โดย Academic Learning centre ของ University of Manitoba ได้ให้เทคนิคดี ๆ เพื่อสร้างห้องเรียนแห่งการจดจ่อไว้ โดยนีทขอสรุปมาเป็น 4 เทคนิคที่สำคัญ และนำมาใช้กับห้องเรียนของเราได้นะคะ


⏰ เขียนตารางเวลา

เขียนตารางเวลาออกมาเพื่อให้เรารู้ว่าตัวเรานั้นต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งเราสามารถนำมาปรับใช้ในห้องเรียนได้คือ ต้นคาบ เราอาจจะมีการบอกนักเรียนเลยว่าวันนี้เราจะทำอะไรบ้าง

😮‍💨 จัดหาช่วงเวลา “มินิเบรค”

มีช่วงเวลาพักบ้าง หากเป็นการเรียนที่ติดกัน เราควรจัดให้มีการพักสัก 5-10 นาที เพื่อให้สมองได้พักและมีเวลาสำหรับการเพิ่มพลังงานต่อไป

🔻 ย่อกิจกรรมให้เล็กลง

เราควรแตกกิจกรรมใหญ่ ๆ ให้เป็นกิจกรรมเล็ก ๆ เพื่อให้นักเรียนจดจ่อได้ในทุกกิจกรรม

🤩 สับเปลี่ยนวนเวียนกิจกรรมที่แปลกใหม่

สร้างกิจกรรมให้สนุกสนาน น่าสนใจ และดึงดูดเด็ก เพราะหลายครั้ง เรามักจะใช้กิจกรรมเดิม ๆ หรือไม่ค่อยดึงดูดเด็ก เช่น ให้อ่าน ให้เขียน ดังนั้นหากเรามีการแทรกกิจกรรมที่สนุก ๆ ก็จะช่วยเพิ่มความสนใจ ได้


โดยนีทก็อยากจะชวนคุณครูทุกคนมาลองออกแบบคาบเรียน โดยให้มีทั้ง 4 เทคนิคนี้ประกอบกันนะคะ เพื่อที่เราจะได้สร้างห้องเรียนแห่งการจดจ่อให้แก่เด็ก ๆ กันค่ะ ซึ่งในการออกแบบกิจกรรมในห้องเรียน อาจจะยึดจากฟอร์มนี้ก็ได้นะคะ จะได้ไม่ลืมว่า เราต้องมีเทคนิคอะไรบ้าง โดยในแต่ละครั้ง อาจจะไม่จำเป็นต้องมีทุกเทคนิคก็ได้นะคะ

ตัวอย่างการผสมผสาน 4 เทคนิคเพื่อสร้างห้องเรียนแห่งการจดจ่อ

Step 1 - จะเป็นการบอกว่า วันนี้เราจะเรียนหรือมีกิจกรรมอะไรบ้าง ซึ่ง ยิ่งเราแตกกิจกรรมเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ ได้มากเท่าไร ก็จะช่วยทำให้เด็ก ๆ จดจ่อได้มากขึ้น (เทคนิคที่ 1 และเทคนิคที่ 3)

Step 2 - เป็นการบริหารการพัก ว่าเราอยากให้เด็ก ๆ พักช่วงไหนบ้าง เพื่อให้พวกเขาได้บูสต์พลัง (เทคนิคที่ 2)

Step 3 - เป็นการออกแบบกิจกรรมพิเศษ เพื่อให้เด็กรู้สึกสนุกมากขึ้นในการเรียน (เทคนิคที่ 4)

โดยนีทลองออกแบบมาคร่าว ๆ สมมติว่าตนเองต้องสอนวิชาภาษาอังกฤษ

เมื่อถึงเวลาสอน นีทจะบอกเด็ก ๆ ว่า

“วันนี้เราจะมีกิจกรรมทั้งหมด 3 กิจกรรม นั่นคือ เราจะมีเรียนบทสนทนาภาษาอังกฤษกัน จากนั้นเราจะเล่นเกมทายคำศัพท์ ซึ่งจะเป็นคำศัพท์ใหม่ ๆ และสุดท้าย เราจะลองมาสร้างบทสนากันดูนะ แต่ขอบอกเด็ก ๆ ไว้นิดนึงว่า วันนี้จะมีกิจกรรมพิเศษแทรกอยู่ด้วยนะคะ มารอลุ้นกันว่าคือกิจกรรมอะไร”

โดยหลังจากที่เรา ทำกล่องที่ 1 เสร็จแล้ว (คือ ดูคลิป อ่านตาม ถอดรหัส Grammar) นีทก็จะชวนทุกคนมาทายคำศัพท์ (ซึ่งมันคือกล่องที่ 2 และนีทมองว่า กิจกรรมทายศัพท์นี้ เป็นทั้งกิจกรรมพิเศษและกิจกรรมที่ให้เด็ก ๆ ได้สนุกและได้พักด้วยเช่นกัน) ก่อนจะเข้าสู่กล่องที่ 3 (สร้างบทสนทนา) นีทจะชวนเด็ก ๆ ทำกิจกรรมพิเศษ นั่นคือ การบริหารลิ้น เพราะในภาษาอังกฤษ มันจะมีเสียง L และ R ที่ออกเสียงยาก เลยจัดเป็นกิจกรรมบริหารลิ้น เพื่อช่วยให้เด็กสนุกและออกเสียง L และ R ได้ดีมากขึ้น

นี่ก็เป็นตัวอย่างคร่าว ๆ ที่อยากชวนคุณครูไปลองออกแบบกันนะคะ

✌️ กิจกรรมที่ 2 เป่า เป่า เป่า

ในกิจกรรมนี้ จะเป็นกิจกรรมที่พาเด็ก ๆ ฝึกการมีสมาธิ การจดจ่อที่สนุกสนาน โดยจะไม่เกี่ยวข้องกับวิชาเรียน แต่จะเน้นในการฝึกการจดจ่อไปเลย ซึ่งหลาย ๆ ครั้ง เวลาที่เราพูดถึงกิจกรรมฝึกสมาธิ เรามักจะนึกถึงการนั่งสมาธิเป็นอันดับแรก ๆ แต่ว่า วันนี้ นีทมีกิจกรรมใหม่ มาเสนอ นั่นคือ กิจกรรม “เป่า เป่า เป่า”

อุปกรณ์ คือ ลูกโป่ง (จะเป็นลูกโป่งรูปร่างใดก็ได้)

วิธีการเล่น คือ ให้เด็กทุกคนพยายามเป่าลูกโป่งที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ให้มันแตก

นีทมองว่ากิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมที่ฝึกสมาธิและการจดจ่อมาก เพราะตอนที่เด็ก ๆ เป่าเจ้าลูกโป่งนั้น พวกเขาจะต้องค่อย ๆ เป่าอย่างระมัดระวัง ใส่ใจกับการใส่แรงเป่า พร้อมกับจดจ่อขนาดของลูก และเฝ้าสังเกตว่าลูกโป่งของตนเองจะแตกเมื่อไร ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะฝึกให้เด็กมุ่งสมาธิและจดจ่อเพื่อที่จะเป่าลูกโป่งให้สำเร็จ

นีทจึงมองว่า เราทุกคนสามารถหากิจกรรมที่เพิ่มการจดจ่อที่สนุกสนานได้ค่ะ ลองเอากิจกรรมเป่าลูกโป่งไปเล่นกับเด็ก ๆ ดูนะคะ


อ้างอิง

Hassanbeigi, A., Askari, J., Nakhjavani, M., Shirkhoda, S., Barzegar, K., Mozayyan, M. R., & Fallahzadeh, H. (2011). The relationship between study skills and academic performance of university students. Procedia-Social and Behavioral Sciences, 30, 1416-1424.

https://umanitoba.ca/student/academiclearning/media/Tips_for_Improving_Concentration_NEW.pdf

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(3)
เก็บไว้อ่าน
(9)