icon
giftClose
profile

ทำไงดี เมื่อนักเรียนเสพติดความสมบูรณ์แบบ

24031
ภาพประกอบไอเดีย ทำไงดี เมื่อนักเรียนเสพติดความสมบูรณ์แบบ

คุยกับคุณนีท-เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น

สวัสดีค่ะคุณครูทุกคน เรากลับมาพบกันอีกแล้วนะคะ โดยวันนี้ นีทมีคำถามมาชวนคุณครูคุยค่ะ คือ

“การที่นักเรียนของเราเป็นคนยึดติดความสมบูรณ์แบบ หรือภาษาอังกฤษที่เราคุ้นหูกันจะเรียกว่า Perfectionism นั้นเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดี?”

ใครเลือกว่า “ดี” ยกมือขึ้น!

ใครเลือกว่า “ไม่ดี” ยกมือขึ้น!


เอาล่ะค่ะ ก่อนที่นีทจะเฉลยนะคะ นีทอยากชวนคุณครูมาเข้าใจคำว่า “Perfectionism” ด้วยกันก่อน ว่ามันมีความหมายและแสดงออกมาในเชิงพฤติกรรมอย่างไร

Sutton (2021) ได้กล่าวไว้ว่า พฤติกรรมของคนที่เป็น Perfectionism นั้นจะมีการตั้งมาตรฐานการทำงานไว้สูง ซึ่งบางครั้งมักอาจจะสูงมากเกินไปจนไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้คนที่มีความ Perfectionism มักจะกลัวและกังวลกับความผิดพลาด จนไม่อยากทำผิดพลาด ซึ่งโดยส่วนตัว นีทมองว่า การที่นักเรียนของเราเป็น Perfectionism นั้นมักจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีค่ะ

ในกรณีที่เด็ก ๆ มีความเป็น Perfectionism เขาก็อาจจะตั้งเป้าหมายที่ไม่สามารถไปถึงได้ เพราะเขาตั้งจะตั้งเป้าหมายสูงเกินความจริง ซึ่งก็เป็นผลเสียต่อตัวเขาเอง เพราะมันเหมือนเป็นการตั้งเป้าหมายเพื่อทำลายกำลังใจหรือความพยายามตนเอง มากกว่าที่จะพัฒนาไปให้ถึงได้

“Perfectionism นั้นจะมีการตั้งมาตรฐานการทำงานไว้สูง ซึ่งบางครั้งมักอาจจะสูงมากเกินไปจนไม่สามารถทำได้ และมักจะกลัว กังวลกับความผิดพลาด”

นอกจากนี้ หากเด็กของเรามีความ Perfectionism เขาก็อาจจะหวาดกลัวความผิดพลาด รู้สึกอับอายหากเขาทำผิดพลาด และอยากจะหลีกเลี่ยงเจ้าความผิดพลาดนี้ ทั้ง ๆ ที่ คนเราควรที่จะยอมรับและเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น (Marzano& Marzano, 2003)

โดยวันนี้ นีทก็มีกิจกรรมดี ๆ เพื่อลดความ Perfectionism ของเด็ก ๆ มาฝากกันค่ะ


กิจกรรมที่ 1 set ระดับความสมบูรณ์

นีทเชื่อว่า ในการที่คุณครูมอบหมายงานให้เด็ก ๆ ในแต่ละชิ้นนั้น คุณครูน่าจะเจอนักเรียนที่มีความคิดที่หลากหลายแบบ เช่น


ยึดติดความสมบูรณ์แบบมาก : “ฉันต้องทำให้ดีที่สุด สมบูรณ์แบบที่สุด ฉันจะผิดพลาดไม่ได้!”

ตั้งเป้าหมายไว้อย่างสมดุล : “ลองดูว่าเราทำได้ดีที่สุดเท่าไหน คอย ๆ ลองใช้ความสามารถดู”

ไม่ตั้งเป้าหมายอะไรเลย : “ทำ ๆ ให้มันผ่านไปละกัน อย่าไปอะไรมาก รีบปั่นให้มันเสร็จ”


โดยหากเรามามองเด็กทั้ง 3 แบบนี้ เราก็จะพบว่า เด็กที่ยึดติดความสมบูรณ์แบบมากก็อาจจะเครียดและกดดันตนเองมากจนเกินไป หรือเด็กไม่ตั้งเป้าหมายอะไรเลยก็อาจจะไม่ได้พัฒนาตนเองเท่าไร ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหานี้ นีทจึงออกแบบกิจกรรมที่ชื่อว่า “set ระดับความสมบูรณ์”


วิธีการดำเนินกิจกรรม

นีทแนะนำว่าเราควรใช้กิจกรรมนี้ตอนมอบหมายงานในครั้งแรก ๆ ของการเปิดเทอม เพื่อพาเด็ก ๆ ทุกคนมาตั้งมาตรฐานการทำงานรวมกัน เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถตั้งเป้าหมายหรือผลลัพธ์ของงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเอง เป็นงานที่เป็นไปได้ และทำได้จริง โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

(1) ให้คุณครูบอกโจทย์ของงานที่นักเรียนจะต้องทำ

(2) ให้คุณครูและนักเรียนช่วยกันออกแบบ และ set ระดับความสมบูรณ์แบบของงาน หรือหน้าตาของผลงาน หรือความคาดหวังในชิ้นงาน โดยเราจะแบ่งเป็น 3 ระดับคือ

น้อย หมายถึง ทำแบบรีบ ๆ ให้จบไปแบบไม่คิดอะไร คะแนนที่น่าจะได้คงไม่ถึงครึ่ง หรือถ้าครูใจดีก็ได้ครึ่งนึง

พอดี หมายถึง มุ่งมั่นในการทำงาน ตั้งใจ พยายาม หากประมาณเป็นคะแนน น่าจะได้สัก 8-10

มาก หมายถึง ระดับความพยายามที่มากจนเกินตัว เช่น อยากจะทำให้ได้ขนาดนี้น่าจะต้องใช้เวลามากกว่านี้ สัก 2 เท่า หรือ ทำงานเกินเงื่อนไขซึ่งการทำเกินนั้นอาจจะไม่มีประโยชน์อะไรต่อต่องาน เป็นต้น

(3) ขอคำประกาศของเด็ก ๆ ว่าตนเองตั้งใจจะทำงานชิ้นนี้ในขั้นไหน

(4) หลังจากที่เด็ก ๆ ทำงานที่มอบหมายเสร็จแล้ว คุณครูอาจจะเสริมกิจกรรมให้เด็กสะท้อนความรู้สึกว่า ตนเองรู้สึกอย่างไรกับงานชิ้นนี้ (ฉันว่าฉันชอบอะไรบ้างในการทำงานชิ้นนี้, งานชิ้นนี้มีความผิดพลาดไหม, เราได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งนั้น)

ตัวอย่าง

โจทย์ คุณครูให้แต่ละกลุ่ม ทำเขียนโน้ต (note taking) สูตรของ “ตรีโกณมิติ” ภายใน 1 วัน

set ระดับความสมบูรณ์

น้อย ก็เขียน ๆ ใส่กระดาษแล้วส่ง ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก

พอดี เราเริ่มต้นจากการแบ่งสูตรของตรีโกณมิติตามหนังสือ อาจจะแบ่งเป็นชุด ๆ เพื่อให้จำง่าย จากนั้น ออกแบบการเขียนสูตรให้แต่ละชุด อยู่ใน 1 หน้า ไม่มากเกินไปจนทำให้เราไม่อยากจำ ถัดมาเราอาจจะใช้สี หรือมีการตกแต่งให้น่าจดจำ

มาก เราจะแต่งสูตรของตรีโกณมิติให้เป็นเพลงที่ไพเราะ ร้องง่าย และแต่งให้ได้หลาย ๆ เพลง หลาย ๆ แนว

กิจกรรมสะท้อนตนเอง : “ฉันรู้สึกว่า พอได้แบ่งสูตรเป็นชุด ๆ ทำให้เราจำได้ง่ายขึ้นจริงๆ นะ”

กิจกรรมที่ 2 หามุมสวยให้หน่อย

กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมที่ให้เด็ก ๆ ลองมาเปิดใจเปิดมุมมองว่า ทุกอย่างบนโลกนี้สวยและงามในแบบของมันเอง เพื่อให้เด็ก ๆ ฝึกการมองโลกในมุมที่ว่า “มันสวยงามแม้ว่าจะไม่สมบูรณ์แบบ”

อุปกรณ์

(1) ดอกกุหลาบ หรือดอกไม้อื่น ๆ ที่คุณครูหาได้ ซึ่งดอกไม้ที่เตรียมมานั้นเป็นรูปแบบใดก็ได้เลย เช่น อาจจะเป็นดอกกุหลาบที่กลีบมีสีดำบ้าง เป็นดอกไม้ที่ยังไม่บาน หรือบานเกินไป เป็นดอกเล็กหรือดอกใหญ่

(2) โทรศัพท์มือถือที่ถ่ายรูปได้

วิธีการ

(1) ให้เด็กแบ่งกลุ่มกัน ประมาณ 5-6 คน และแจกดอกไม้ที่เตรียมมาให้กับเด็ก ๆ

(2) ชวนเด็ก ๆ มองหาความไม่สมบูรณ์แบบของดอกไม้ เช่น ด้านที่สวย ด้านที่ไม่สวย เป็นต้น

(3) ชวนแต่ละกลุ่ม ถ่ายรูปดอกไม้ให้สวยในแบบของมัน โดยสามารถจัดภาพ ประดิษฐ์อะไรเพิ่ม ใช้อุปกรณ์เสริม ใช้ฟิลเตอร์หรือเอฟเฟกต์อะไรก็ได้

(4) ชวนเด็ก ๆ ตั้งชื่อภาพ ให้ทุกคนรู้สึกว่าภาพนี้มันสวยในแบบของมัน หรือเราได้เรียนรู้อะไรจากภาพนี้

ตัวอย่าง

กุหลาบที่เหี่ยวมาก เราจึงตัดสินใจ วางกุหลาบนี้ไว้ในขวดน้ำ แล้วถ่าย พร้อมตั้งชื่อภาพว่า “ชีวิตไม่จีรัง เพื่อเข้าใจวงจรชีวิต”

กุหลาบที่ได้มา เป็นกุหลาบที่บานมาก แถมกลีบเริ่มหลุดแล้ว เราจึงตัดสินใจดึงกลีบกุหลาบออกมา แล้วเอากลีบเหล่านั้นไปใส่ในชามที่มีน้ำ แล้วตั้งชื่อว่า “อ่างอาบน้ำในฝัน” เพื่อให้เราเข้าใจว่า ถึงแม้ว่ากลีบจะหลุดออกมาแล้ว แต่มันก็มีประโยชน์ในแบบของมันเองนะ

“กลีบกุหลาบ แม้ว่ามันจะหลุดออกมาจากตัวดอกแล้ว แต่มันก็ยังมีคุณค่าในแบบของมันเอง”

นีทคิดว่ากิจกรรมทั้ง 2 นี้ จะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถตั้งมาตรฐานของตนเองได้พอดี และยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของตนเองนะคะ


อ้างอิง

https://positivepsychology.com/perfectionism/

Marzano, R. J., & Marzano, J. S. (2003). The key to classroom management. Educational leadership, 61(1), 6-13.

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(5)