แนวคิด P.E.R.M.A หรือทฤษฎีจิตวิทยาเชิงบวก เป็นแนวคิดที่ช่วยสร้างความรู้สึกเชิงบวกให้กับผู้เรียน ซึ่งแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ คุณครูส้มโอ - พิชชาภา พงษ์พวงเพชร ได้นำมาแบ่งปันให้กับคุณครูในห้องกิจกรรมย่อยที่มีชื่อว่า “ความเชื่อที่ครูเชื่อ”
โดยคุณครูส้มโอได้เปิดโอกาสให้คุณครูพูดถึงความเชื่อของคุณครูและนักเรียนในชั้นเรียน ที่บางครั้งอาจจะมีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการเมือง ซึ่งแนวคิดที่แตกต่างกันนี้ บางครั้งก็อาจส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอนและการจัดการชั้นเรียน คุณครูส้มโอจึงได้ยกในส่วนของทฤษฎีจิตวิทยาเชิงบวก หรือแนวคิด P.E.R.M.A ซึ่งเป็นแนวคิดที่ช่วยสร้างทัศนคติเชิงบวกให้กับนักเรียน และใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้อีกด้วย โดยประกอบไปด้วยหลักการ 5 ข้อ ดังนี้
P (Positive Emotions)
สิ่งที่ทำให้รู้สึกดี มีความสุข มีความหวัง ประทับใจ
คุณครูอาจจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำให้นักเรียนเกิดความประทับใจ และมีความสุขที่ได้ทำกิจกรรมการเรียนรู้นี้ โดยอาจเป็นกิจกรรมที่นักเรียนได้ทำร่วมกันกับเพื่อน ๆ หรือเป็นกิจกรรมที่นักเรียนชอบ เป็นสิ่งที่เขามีความสุข เพราะเมื่อนักเรียนเกิดความรู้สึกประทับใจ มีความสุขแล้ว เขาจะให้ความร่วมมือกับคุณครู และคุณครูจะจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้ง่ายมากขึ้น
E (Engagement)
มีส่วนร่วม และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมนั้น ๆ
กิจกรรมการเรียนรู้ต่อมาที่จะช่วยสร้างทัศนคติเชิงบวกให้กับนักเรียน นั่นคือกิจกรรมที่ให้นักเรียนในชั้นเรียนได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมนั้น ๆ โดยคุณครูอาจจะลองเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เป็นผู้นำในการทำกิจกรรม หรือเป็นผู้ช่วยคุณครูในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ก็ได้ ซึ่งการจัดกิจกรรมเช่นนี้นอกจากจะสร้างทัศนคติที่ดีให้กับนักเรียนแล้ว ยังช่วยให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง และช่วยเสริมสร้างภาวะความเป็นผู้นำให้กับนักเรียนด้วย
R (Relationships)
การสร้างความสัมพันธ์ที่มีความสุข สงบ คอยซัพพอร์ต เป็นกำลังใจ
หลักการอีกข้อหนึ่งที่จะช่วยในการจัดการเรียนรู้ที่สร้างความรู้สึกเชิงบวกให้นักเรียนได้นั่นคือ การสร้างความสัมพันธ์ที่มีความสุข คอยซัพพอร์ต และเป็นกำลังใจให้กัน คุณครูอาจจัดกิจกรรมในคาบโฮมรูม เป็นกิจกรรมสะท้อนความรู้สึกของนักเรียน เมื่อนักเรียนได้เล่าถึงความรู้สึกภายในใจของตนเองแล้ว คุณครูก็คอยให้กำลังใจและเสริมพลังบวกให้นักเรียน เพื่อให้นักเรียนเกิดความสบายใจ และรู้สึกว่ายังมีคุณครูที่พร้อมจะเข้าใจเขาอยู่เสมอ ซึ่งเมื่อนักเรียนเกิดความสบายใจแล้ว นักเรียนก็จะมีทัศนคติเชิงบวกต่อคุณครูตามไปด้วยนั่นเอง
M (Meaning)
รู้สึกมีคุณค่า มีความหมาย เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
หลักการอีกข้อที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือ การทำให้นักเรียนรู้สึกมีความหมาย มีคุณค่าในตัวเอง จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี โดยคุณครูอาจจัดกิจกรรมที่ทำให้นักเรียนรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความหมายต่อคุณครู เพื่อนในชั้นเรียนและคนอื่น ๆ ให้นักเรียนเกิดความรู้สึกดีต่อตนเอง ไม่มองว่าตัวเขาเองไม่ใช่คนสำคัญ เพราะเมื่อนักเรียนตระหนักถึงคุณค่าในตัวเองแล้ว ก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเองไปในทางที่ดีด้วย
A (Accomplishment)
รู้สึกถึงความสำเร็จจากการร่วมมือ เห็นพัฒนาการของตนเอง
หลังจากจัดกิจกรรมการเรียนรู้แล้ว คุณครูอาจมีการฟีดแบคเกี่ยวกับกิจกรรม หรือแจ้งผลลัพธ์ของการทำกิจกรรมให้นักเรียนทราบว่าผลลัพธ์ออกมาเป็นอยางไรบ้าง เพื่อให้นักเรียนเห็นถึงความสำเร็จของการร่วมมือร่วมใจกันทำกิจกรรมการเรียนรู้นี้ รวมถึงได้เห็นพัฒนาการของตนเองด้วยว่ามีพัฒนาการที่คืบหน้าไปอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้านักเรียนได้เห็นว่าตนเองทำสำเร็จแล้ว และมีผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ นักเรียนก็จะเกิดความภาคภูมิใจ และเกิดทัศนคติเชิงบวกต่อตนเอง รวมถึงเพื่อน ๆ ในชั้นเรียน และคุณครูด้วย
5 หลักการนี้ก็เป็นหลักการที่คุณครูส้มโอได้นำมาแชร์ให้กับเพื่อนครู โดยเป็นหลักการที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการจัดกิจกรรมในชั้นเรียนได้จริง คุณครูสามารถนำไปใช้ได้เลยนะ ถ้าใช้แล้วมีผลลัพธ์เป็นอย่างไรบ้าง ก็สามารถเข้ามาแชร์กับพวกเราผ่านช่องทางคอมเมนต์ด้านล่างนี้ได้เลย
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!