icon
giftClose
profile

เงินทองต้องเรียนรู้

12621
ภาพประกอบไอเดีย เงินทองต้องเรียนรู้

อยากเสริมความรู้เรื่องการเงินให้กับเด็ก ๆ แต่ไม่ได้สอนคณิตศาสตร์ ไม่รู้จะรวมเข้ากับวิชาตนเองยังไง เรามีคำตอบ ตามไปดูหลากหลายไอเดียจากห้องบริจาคไอเดีย ในกิจกรรม ครูปล่อยของ PLC Day 2 ประจำเดือนตุลาคม 2565 กัน

        เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การสอนเรื่อง “การเงิน” มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเงินเป็นสิ่งที่ผูกติดอยู่กับชีวิตประจำวันของทุกคน ทุกช่วงวัย ยิ่งสอนเรื่องการเงินให้กับเด็ก ๆ เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งปลูกฝังนิสัยทางการเงินที่ดีให้กับพวกเขาได้เร็วเท่านั้น การที่พวกเขาได้เติบโตมาอย่างรู้จักใช้ หา ออม และลงทุน จะทำให้พวกเขาสามารถตั้งเป้าหมายทางการเงิน พร้อมทั้งดูแลตัวเองได้ และลดโอกาสในการติดกับดักทางการเงิน งานครูปล่อยของ PLC Day 2 ประจำเดือนตุลาคม 2565 นำโดย ครูจูดี้ วิทยานนท์ อุดมา จึงชวนคุณครู หรือบุคลากรทางด้านการศึกษา มาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเงินทอง และแลกเปลี่ยนไอเดียวิธีการสอนการเงินในวิชาของตนเองกัน

              เริ่มด้วยการชวนคุณครูมาเล่าเรื่อง หา ใช้ ออม ลงทุน ของตนเอง โดยภาพรวม คุณครูจะพูดคุยกันในเรื่องการแบ่งสัดส่วนเงินว่า ใน 100% จะแบ่งใช้ ออม และลงทุนกี่เปอร์เซ็นต์ โดยจะปรับสัดส่วนไปตามสไตล์ชีวิต และรายได้ของแต่ละคน นอกจากนี้ในเรื่องของการลงทุน ครูจูดี้ได้ช่วยเสริมให้กับคุณครู เช่น คอยติดตามสถานการณ์การลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ และศึกษาให้ดี จนเข้าใจความแตกต่างของรูปแบบการลงทุนที่สนใจ แล้วค่อยลงทุน สุดท้ายคือการมีพันธมิตรทางการเงินเพื่อช่วยเสริมความรู้ และวินัยให้แก่กัน

              “ครูได้เปรียบ และเหมาะมาก ครูมีความอดทน ระเบียบวินัย และพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ สำหรับสอนเรื่องการเงิน และการเป็นนักลงทุน” ครูจูดี้ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อได้เปรียบของอาชีพครูที่หลายคนอาจมองข้าม ว่าเป็นอาชีพที่เหมาะสมกับการเป็นนักลงทุนมาก ทำให้สามารถสอนเรื่องการเงินการลงทุน และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก ๆ ได้ไม่ยาก

ในลำดับถัดไป ครูจูดี้ได้ชวนคุณครูมาร่วมแชร์ไอเดีย โดยการสอดแทรกความรู้การเงินเข้าไปในคาบเรียนของคุณครู ดังนี้

ตัวอย่างจากครูจูดี้ ครูจูดี้เล่าว่าในเทอมที่แล้วตนเองได้สอนวิชาการออกแบบตามกระบวนการวิศวกรรม ที่ผู้เรียนจะต้องสร้างสรรค์เทคโนโลยี หรือชิ้นงานตามกระบวนการวิศวกรรม เมื่อนำวิชาของครูจูดี้มารวมกับความรู้การเก็บเงินลงทุน จึงได้มาซึ่งกิจกรรมการออกแบบ กระบวนการลงทุน หรือกระบวนการการออม ผ่านกระบวนการวิศวกรรมนั่นเอง

เรามาดูกันดีกว่าว่าในห้องที่ 6 ห้องบริจาคไอเดีย “เงินทองต้องเรียนรู้” เราได้ไอเดียอะไรมาบ้าง

ครูปอย “สอนคณิตศาสตร์ โดยมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง อย่างเรื่องการคิดดอกเบี้ย อาจจะนำความรู้การเงินไปสอดแทรกในเนื้อหา รวมถึงวิธีการวางแผนการใช้เงิน” โดยครูปอยจะใช้ใบงาน หรือสร้างสถานการณ์ในห้องเรียน ให้เด็ก ๆ ได้สวมบทบาทเป็นพ่อค้าแม่ค้า มีการวางแผน คำนวณต้นทุน และกำไรในการค้าขายของตนเอง ครูปอยเลือกรูปแบบจำลองสถานการณ์ เพราะจะเข้าถึงเด็กม.ต้นได้มากกว่าการเขียนในสมุด

ครูมอส “วิชาสังคม มีสาระในเรื่องของพระพุทธศาสนา อาจจะสอนเรื่องของสติ” โดยครูมอสได้ยกตัวอย่างในเรื่องของ ‎Cryptocurrency ที่เราได้ยินกันเยอะว่าได้ผลตอบแทนดี และฮิตในหมู่วัยรุ่นมาก ทำให้มีหลายคนเข้าไปลงทุนโดยที่ไม่ได้ไตร่ตรอง ไม่ได้มีสติ หรือหาความรู้ให้ดีเสียก่อน จนพลาดพลั้งและไม่อาจนำเงินที่เสียไปกลับมาได้ ดังนั้นการเสริมเรื่องสติในการลงทุนให้กับนักเรียน จะกลายเป็นเกราะให้พวกเขาไม่หลงเชื่อ และหาข้อมูลให้ดีก่อนลงทุน

ครูช่า เล่าว่าเคยใช้เนื้อหาสถิติมาสอนให้เด็ก ๆ เอาราคาทองที่มีขึ้นมีลงอยู่ตลอดเวลามาสร้างกราฟ Histogram และตั้งคำถามว่า “ถ้าเราอยากจะซื้อทองให้กับตนเอง จะซื้อในช่วงเวลาไหน” ซึ่งนอกจากราคาทองแล้ว ยังมีราคาน้ำมันที่สามารถนำมาจัดกิจกรรมแบบเดียวกันได้

ครูบิว เล่าว่าในวิชาคณิตศาสตร์ ม.ปลาย ที่มีเรื่องการคิดดอกเบี้ยและฟังก์ชัน สามารถนำมาจัดกิจกรรมที่ทำให้เด็ก ๆ ได้เห็นว่าการลงทุนในหุ้น กองทุน หรือ crypto กับการฝากเงินอย่างเดียว แต่ละรูปแบบจะเพิ่มพูนเงินให้เรามากน้อยแค่ไหน ในระยะเวลาเท่าใด

ครูFawkes “สอนภาษาอังกฤษ อาจจะให้เด็กบริหารเงิน อย่างคุณแม่ให้เงินไปตลาด 100 บาท คุณแม่อยากกินอาหารชนิดนี้ เราจะซื้อแบบสำเร็จรูปหรือซื้อวัตถุดิบไปทำเอง” แม้แต่ในวิชาภาษาอังกฤษก็ยังสามารถนำความรู้หรือแนวคิดทางการเงินเข้าไปสอดแทรกได้อย่างแนบเนียน เพราะทั้งภาษาอังกฤษและการเงินก็เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน

พี่มะโหนก เล่าว่าวิชาชีวะ เรื่องอาณาจักรสัตว์ ก็สามารถนำมาผนวกกับเรื่องธุรกิจได้ โดยให้เด็ก ๆ ได้ไปศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจที่ค้าขายเกี่ยวกับสัตว์ ทั้งการค้าเนื้อวัว การทำประมง และมาถอดในเรื่องของการเงิน การบริหารธุรกิจ รวมไปถึงการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ทำเกี่ยวกับอาหารที่มาจากสัตว์

ครูจูดี้ ได้เสริมเพิ่มอีกว่า “สิ่งที่ทำให้การลงทุนของผมมันราบรื่นไปได้ เพราะผมใช้ความรู้จากวิชาชีววิทยา” โดยใช้ความรู้ห่วงโซ่อาหาร ระบบนิเวศ มาเชื่อมโยงกับเกมการเงิน ที่มีทั้งผู้ล่า เหยื่อ และปรสิต ทำให้สามารถจับสังเกตสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ผู้ล่าสร้างขึ้นมา เพื่อล่อเหยื่อให้เข้ามาติดกับ หรือช้อนหุ้น ช้อน crypto จนนำมาซึ่งแนวทางการลงทุนที่มีกลยุทธ์มากขึ้น

ห้องบริจาคไอเดีย เงินทอง ต้องเรียนรู้ ในวันนี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ความรู้หรือแนวคิดทางการเงินสามารถผนวกเข้ากับวิชาอะไรก็ได้ โดยที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นวิชาคณิตศาสตร์เพียงเท่านั้น แค่เอาวิชาที่ครูสอน เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง รวมกับเรื่องการลงทุน การใช้จ่าย การออม หรือการทำธุรกิจเข้าด้วยกัน ซึ่งครูสามารถเข้าถึงเด็กได้ง่ายมากขึ้นโดยการใช้เรื่องที่ทันสมัยอย่าง สกุลเงินดิจิทัลที่ต้องเข้ารหัส (Cryptocurrency) การเป็นเจ้าของธุรกิจบนโลกออนไลน์ การยกตัวอย่างเหตุการณ์หรือกระแสการลงทุนที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ และอนาคตหลังการเกษียณว่าอยากมีชีวิตแบบไหน

หวังว่าบทความนี้จะช่วยจุดประกายให้กับบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน ที่มีความสนใจอยากจะเสริมความรู้ทางเงินให้กับนักเรียนที่รักของตน ให้ได้เติบโตมาอย่างมีเกราะคุ้มภัยอันตรายจากกับดักทางการเงิน อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ให้พวกเขาต้องล้มอย่างรุนแรง แม้ว่าหลักสูตรจะไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องการเงินมากเท่าที่ควร แต่ทุกคนก็สามารถช่วยเสริมความรู้เรื่องการเงินให้กับเด็ก ๆ ได้ ไม่ว่าจะสอนวิชาอะไรก็ตาม <3
รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(1)