icon
giftClose
profile

สนุก ง่าย "อ่านออกเขียนได้" ด้วย Unplugged Coding

56192
ภาพประกอบไอเดีย สนุก ง่าย "อ่านออกเขียนได้" ด้วย Unplugged Coding

ถ้าเด็ก "อ่านไม่ได้ เขียนไม่ออก" พื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ของวิชาอื่น ๆ ก็จะถูกทำลายไปด้วยทันที... มาร่วมฟื้นฟูทักษะการฟังพูดอ่านเขียนให้นักเรียนของเรา "อ่านออก เขียนได้" ด้วยวิธี Unplugged Coding + การสอนแบบแจกลูกสะกดคำกันเถอะ!


ในยุคปัจจุบันที่กำลังอยู่ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาที่ตามมาคือภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ในนักเรียนไทย มีหลาย ๆ หน่วยงานทยอยออกมาตรการฟื้นฟูภาวะความถดถอยนี้ โดยมีการ "อ่านออกเขียนได้" เป็นหนึ่งในอาวุธสำคัญที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการสร้างการเรียนรู้ในเด็กและหมวดหมู่ภาษาไทย เพราะการอ่านออกเขียนได้นั้น นับว่าเป็นพื้นฐานหลักที่จะนำพาเด็ก ๆ ไปสู่การเรียนรู้แขนงอื่นได้อย่างยั่งยืน เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ในวิชาอื่น ๆ ได้


"แล้วพอจะมีวิธีไหนบ้างล่ะ ที่จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนของเรา "อ่านออกเขียนได้" ด้วยวิธีที่ง่าย สนุก และนำไปใช้ในห้องเรียนได้จริง"


ถ้าอยากรู้ว่าพอจะมีวิธีดี ๆ อะไรบ้าง ตามมาดูกันเลย! กับกิจกรรม "อ่านออก เขียนได้" โดยครูมาร์ช-วัทนพร บุญชู คุณครูภาษาไทยที่เคยลองนำ Unplugged Coding มาใช้พัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ให้สามารถแจกลูกสะกดคำได้ดีขึ้น ในฐานะของผู้เข้าร่วมคนหนึ่ง ขอบอกเลยว่าพลาดไม่ได้แน่นอน เพราะวิธี Unplugged Coding ที่คุณครูมาร์ชนำมาใช้กับการอ่านออกเขียนได้ในครั้งนี้ ทั้งง่าย ทั้งสนุก ขนาดเราโตแล้วยังสนุกตามไปด้วยเลย แล้วเด็ก ๆ ล่ะ จะสนุกขนาดไหน!



✏️ มาทำความเข้าใจการสอนให้ "อ่านออกเขียนได้" กันก่อน!

ก่อนอื่น ขอชวนทุกคนมาย้อนวัยกันหน่อย... ยังจำได้อยู่ไหม ตอนขึ้นชั้นประถมศึกษาใหม่ ๆ คุณครูภาษาไทยใช้วิธีไหนให้เราอ่านออกเขียนได้กันนะ? คุณครูมาร์ชเริ่มกิจกรรมด้วยการให้ทุกคนนึกย้อนกลับไปในสมัยที่เรายังเป็นเด็ก แล้วให้ทุกคนตอบใน Padlet เพื่อรวบรวมวิธีที่เป็นไปได้ต่าง ๆ


คำตอบของผู้เข้าร่วมกิจกรรม :

  • วิธีสอนอ่านแบบแจกลูกสะกดคำ (⭐⭐⭐ จำนวนคนตอบเยอะ คุณครูส่วนใหญ่สนุกตอนได้เรียน)
  • วิธีแบบเน้นย้ำ ซ้ำทวน (⭐⭐)
  • วิธีอ่านนิทาน เล่าเรื่องราวตามความสนใจ
  • วิธีดึงดูดความสนใจโดยใช้บัตรภาพ บัตรคำ
  • วิธีเขียนตามคำบอก


✏️ สอนแบบ Active Learning VS สอนแบบ Passive Learning?!

การสอนให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ จริง ๆ แล้วสามารถทำได้ทั้งการสอนแบบ Active Learning และการสอนแบบ Passive Learning แต่แบบไหนกันแน่ที่จะเหมาะสมกับเด็กมากกว่ากัน ในตอนนี้ คุณครูมาร์ชชวนให้ทุกคนช่วยกันแชร์ข้อดีและข้อเสียของการสอนทั้ง 2 แบบ เรามาดูผลลัพธ์กันดีกว่า


คำตอบของผู้เข้าร่วมกิจกรรม :

💚 ข้อดีของ Active Learning : กระตุ้นให้นักเรียนรับสิ่งที่เราสอนได้ดี เน้นการลงมือทำ ได้ฝึกการแก้ปัญหาจริง

💔 ข้อเสียของ Active Learning : บางคน ต่อให้กระตุ้นยังไงก็กระตุ้นไม่ขึ้น เด็กบางคนมีโอกาสหลุดความสนใจไปเลย

💚 ข้อดีของ Passive Learning : ทุกคนได้ทำเหมือน ๆ กัน เน้นการฟังและการอ่าน

💔 ข้อเสียของ Passive Learning : เด็กส่วนใหญ่ไม่กล้าแสดงออก ไม่ลงมือทำ รอลอกเพื่อนเอา


เมื่อทุกคนแชร์ความคิดเห็นกันเสร็จแล้ว คุณครูมาร์ชได้ลองถามว่าทุกคนอยากจะเลือกวิธีไหนไปสอนการ "อ่านออกเขียนได้" ให้กับนักเรียนของตัวเอง

คุณครู 18 คนเลือกการสอนแบบ Active Learning - คุณครู 0 คนเลือกการสอนแบบ Passive Learning


✏️ แล้ว Unpluuged Coding ที่ว่านี้... คืออะไร? จะนำมาใช้ในการสอนอ่านออกเขียนได้ยังไง?

การ Unpluuged Coding เป็นวิธีที่เน้นการทำงานอย่างเป็นระบบ เพื่อพัฒนาแนวคิดอย่างเป็นขั้นตอน โดยคุณครูสามารถนำวิธี Unplugged Coding นี้มาประยุกต์กับการสอนแบบแจกลูกสะกดคำ ซึ่งเป็นกระบวนการพื้นฐานของการแจกแจงส่วนประกอบของคำในภาษาไทยได้ (พยัญชนะต้น - สระ - ตัวสะกด - วรรณยุกต์) ซึ่งเมื่อเรานำ Unplugged Coding มาประยุกต์กับการสอนแบบแจกลูกสะกดคำ ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสอนแบบ Active Learning นั่นเอง



นอกจากนี้ การนำ Unplugged Coding มาประยุกต์กับการสอนแบบแจกลูกสะกดคำ ยังช่วยส่งเสริมให้วิธีการคิดของนักเรียนเป็นระบบมากยิ่งขึ้น มีขั้นตอน 1-2-3-4 (พยัญชนะต้น - สระ - ตัวสะกด - วรรณยุกต์) ในหัวชัดเจน เหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่ทำงานตามขั้นตอน เป็นการฝึกที่ดีต่อทักษะการคิดอย่างเป็นระบบของเด็ก ๆ ด้วยนะ


✏️ ถึงตรงนี้แล้ว เรามาลองประยุกต์ Unplugged Coding + การสอนแบบแจกลูกสะกดคำ เข้าด้วยกันด้วยการจัดกิจกรรมจริงเลยดีกว่า!

การจัดกิจกรรมสามารถทำได้ 2 วิธี แล้วแต่ความสะดวกของคุณครูและพื้นที่ที่ใช้ในการเรียนการสอนเลยน้า

⭐ พื้นที่ที่เป็นลานกว้าง ๆ สามารถจัดกิจกรรมที่พื้น ให้แบ่งตารางเป็น 9 หรือ 16 ช่อง

⭐ พื้นที่เล็ก ๆ จัดกิจกรรมในห้องเรียน สามารถจัดกิจกรรมด้วยกระดาษ ให้แบ่งตารางเป็น 9 หรือ 16 ช่อง

ตัวอย่างตามในรูปด้านล่างเลย!




✏️ มาศึกษาวิธีใช้งานกัน



1) วิธีเล่นง่ายนิดเดียว เป็นการฝึกให้เด็ก ๆ อ่านออกเขียนได้ตามแบบฉบับการแจกลูกสะกดคำจากตารางที่คุณครูเตรียมไว้ให้ โดยให้นักเรียนฝึกอ่านแบบเรียงไปตามหลัก พยัญชนะต้น - สระ - ตัวสะกด - วรรณยุกต์

ตัวอย่างเช่น กอ - อา - งอ - ไม้โท (กอ-อา-งอ-กาง-โท-ก้าง)

2) ให้นักเรียนทำสัญลักษณ์ → ตามตัวอย่างในรูป (เรียงจากพยัญชนะต้น - สระ - ตัวสะกด - วรรณยุกต์) เมื่อสามารถสะกดคำตามการแจกลูกสะกดคำได้หนึ่งคำ ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมดคำในตาราง

2) คุณครูสามารถปรับคำศัพท์ในตารางให้ตรงกับความสามารถของเด็กได้ สามารถเลือกคำยาก ๆ ให้เด็กที่ถนัดแล้ว และเลือกคำง่าย ๆ ให้เด็กที่ยังไม่ถนัด ทำให้นักเรียนในห้องไม่ต้องรอกัน ลดปัญหาการอ่านออกเสียงพร้อมกันแล้วเสียงกลบ แถมยังเห็นพัฒนาการของแต่ละคนได้ง่ายอีกด้วย


เป็นยังไงกันบ้างกับกิจกรรม "อ่านออกเขียนได้" ที่นำวิธี Unplugged Coding มาประยุกต์กับการสอนแจกลูกสะกดคำดี ๆ แบบนี้ นอกจากจะสนุกแล้วก็ยังสามารถนำไปใช้งานได้จริง อุปกรณ์ก็น้อย นักเรียนก็สนุกแน่นอน ทุกคนอย่าลืมเอาไปใช้กันนะ!


สำหรับคุณครูคนไหนที่นำวิธีนี้ไปลองออกแบบแล้วใช้งานจริงในห้องเรียนของตัวเอง ได้ผลลัพธ์ยังไงก็อย่าลืมมาร่วมกิจกรรม Show and Share ติดแฮชแท็ก #อ่านเขียนเรียนด้วยCoding และ #ครูปล่อยของPLCDay ด้วยนะ สำหรับใครที่มีไอเดียการสอนหรือกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ ก็สามารถมาแบ่งปันผ่านเว็บ insKru ได้เหมือนเดิม เจอกันใหม่กับครูปล่อยของ PLCDay ในโอกาสหน้าน้า~






 

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(32)
เก็บไว้อ่าน
(16)