icon
giftClose
profile

2 กิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียนคืนดีกันได้ง่ายขึ้น

59680
ภาพประกอบไอเดีย 2 กิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียนคืนดีกันได้ง่ายขึ้น

คุณครูทำอะไรได้บ้างเมื่อพบว่าเกิดความขัดแย้งขึ้นในห้องเรียน จนทำให้ความสัมพันธ์ในห้องเรียนนั้นเกิดรอยร้าว เราจะช่วยให้เด็ก ๆ ทำความเข้าใจและฟื้นฟูความสัมพันธ์เหล่านั้นได้อย่างไร คุยกับคุณนีท-เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น

สวัสดีค่ะคุณครูทุกคน เรากลับมาพบกันอีกแล้วนะคะ โดยวันนี้ นีทมีเรื่องมาเล่าค่ะ บ่อยครั้งที่นักเรียนของนีทมักจะมาเล่าให้ฟังว่า

“หนูไม่ชอบและไม่อยากเป็นเพื่อนกับคนนี้เลย เพราะเขาเห็นแก่ตัว ไม่ช่วยทำงานกลุ่ม”
“ผมว่าเพื่อนคนนี้ก็น่ารำคาญนิดนึงครับ”
“หนูเกลียดเพื่อนคนนี้มาก เพราะนางมาแย่งแฟนหนู”

ซึ่งเรื่องราวที่เด็ก ๆ เขาเล่าให้เราฟังนั้น มันสะท้อนหรือบอกกับเราทางอ้อมว่าพวกเขากำลังมีปัญหาในเรื่อง “ความสัมพันธ์กับเพื่อนในห้องเรียน” อยู่ ซึ่งเด็กแต่ละคนก็อาจจะมีปัญหามากหรือน้อยแตกต่างกันไป และคุณครูหลายคนก็คงเคยพบเจอปัญหาเหล่านี้ในห้องเรียน

นีทเลยอยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจกันว่า เด็ก ๆ สาเหตุใดบ้างที่ทำให้พวกเขามีปัญหาด้านความสัมพันธ์ในห้องเรียน และในฐานะของคนเป็นครู เราจะช่วยเหลือเด็ก ๆ ในการเยียวยาความสัมพันธ์ที่แตกร้าวนี้ได้อย่างไร เราไปดูกันเลย!


ทำความเข้าใจ สาเหตุใดบ้างที่เป็นต้นตอของปัญหาด้านความสัมพันธ์

การที่นักเรียนมีปัญหากัน ไม่พอใจกัน หรือทะเลาะกันนั้นมันมีสาเหตุได้หลากหลายมาก ตั้งแต่เรื่องหยุมหยิมจนไปเรื่องใหญ่โต เช่น นักเรียนไม่พอใจในพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เพื่อนแสดงออกมา ความรู้สึกเชิงลบที่เกิดขึ้นจากการที่เพื่อนไปได้รางวัล หรือมีเพื่อนมาสนิทสนมกับแฟนของเรามากจนเกินไป

โดย Öztürk และ Atli (2021) ได้ทำงานวิจัยในเรื่อง “เหตุผลที่วัยรุ่นนั้นมีปัญหากันในโรงเรียน (Reason for resentment of high school teenagers with friend)” และพวกเขาได้จัดกลุ่มเหตุผลของปัญหาเรื่องเพื่อนของเด็กนักเรียนเป็น 5 เหตุผล คือ

เหตุผลที่ 1 ความหึงหวง (Jealousy)

เนื่องจากนักเรียนในวัยรุ่นนั้นให้ความสัมพันธ์กับความมั่นคงทางความสัมพันธ์เป็นอับดับต้น ๆ ในชีวิต เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงรู้สึกหึงหวงหรือไม่พอใจเมื่อได้เห็นว่าเพื่อนสนิทของตนเองไปแสดงท่าทีสนิทกับคนอื่น ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าพวกเขาไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ได้

เหตุผลที่ 2 การนินทาหรือเผยแพร่ความลับ (Gossiping and sharing secrets)

ความเชื่อใจเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ สำหรับนักเรียน การได้รับรู้ว่าเรื่องราวของตนเองถูกพูดถึงในกลุ่มคนอื่น ๆ แล้วได้มารับรู้ภายหลัง เหตุการณ์เช่นนี้จะทำให้นักเรียนรู้สึกถูกหักหลัง และถูกละเมิดข้อมูลส่วนตัวโดยไม่ได้ขออนุญาต

เหตุผลที่ 3 ความขัดแย้งทางความคิด (Disagreement on common events)

นักเรียนในวัยรุ่นนั้นยังไม่คุ้นเคยกับความหลากหลายทางความคิด และไม่เข้าใจว่าทุกคนสามารถคิด สนใจ หรือชอบในสิ่งที่แตกต่างกันได้ แม้ในเรื่องเล็กน้อยก็ตาม เช่น เชียร์ทีมฟุตบอลคนละทีม ชื่นชอบศิลปินคนละกลุ่ม หรือชอบเล่นเกมคนละเกมกัน ความขัดแย้งจากความไม่เข้าใจนี้อาจพัฒนาไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพได้ หากคุณครูปล่อยปะละเลยเป็นระยะเวลานาน

เหตุผลที่ 4 ตกหลุมรักคนเดียวกัน (Falling in love with my friend's boyfriend/girlfriend)

แน่นอนว่านักเรียนหลาย ๆ คนเพิ่งเคยพบเจอความสัมพันธ์แบบโรแมนติกเป็นครั้งแรกในชีวิต และการได้พบว่าความสัมพันธ์ที่แสนสวยงามที่พบเจอนั้นเกิดขึ้นพร้อมกันกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง จึงเป็นชนวนให้ความขัดแย้งและไม่พอใจซึ่งกันและกัน

เหตุผลที่ 5 การหยอกล้อ (Pranks)

ใคร ๆ ก็ชอบเพื่อนที่มีบุคลิกที่ดูสนุกสนานและตลกขบขัน แต่ในบางครั้งคำพูดตลกเฮฮาเหล่านั้นอาจทำร้ายความรู้สึกเพื่อนโดยไม่รู้ตัว และนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากคำพูดนั้นก็อาจจะรับมือกับอารมณ์เชิงลบไม่ได้จนทำให้เกิดความบาดหมางทางความสัมพันธ์ขึ้นมา

และเมื่อเราเข้าใจเหตุผลของการเกิดปัญหาแล้ว คราวนี้ค่ะ ก็ถึงช่วงเวลาที่เราจะมาพูดคุยกันว่าเราจะช่วยเหลือนักเรียนเพื่อจัดการเจ้าปัญหานี้ได้อย่างไร โดยนีทมี 2 กิจกรรมมาแนะนำค่ะ คือ “fix it” และ “เปิด - ฮึบไว้”


กิจกรรมที่ 1 Fix it! เครื่องมือซ่อมแซมความสัมพันธ์ที่แตกร้าว

เวลาที่นักเรียนมีปัญหากัน บางครั้งมักจะลงเอยด้วยการตัดความสัมพันธ์ หรือทำให้ปัญหามันใหญ่โตมากขึ้น ซึ่งนีทมองว่า หากเราสอนให้นักเรียนมีทักษะในการจัดการกับความขัดแย้งหรือการแก้ปัญหาที่เหมาะสม พวกเขาอาจจะยังสามารถกลับมาเป็นเพื่อนกันได้ โดย “Fix it!” นั้นเป็นเหมือนกิจกรรมหรือเครื่องมือที่คุณครูสามารถใช้เพื่อพูดคุยกับนักเรียนที่เขามาเล่า หรือมาขอคำปรึกษาเรื่องเพื่อน โดยประโยชน์ของ fix it นั้นคือ

(1) ช่วยทำให้นักเรียนเห็นเรื่องราวปัญหาของตนเองชัดขึ้น

(2) ช่วยทำให้คุณครูเรียบเรียงสถานการณ์ของนักเรียนได้ดี เพราะหลายครั้งเวลาที่นักเรียนมาเล่าเรื่อง อาจจะเล่าวกไปวนมา

(3) ช่วยทำให้คุณครูกับนักเรียนตั้งเป้าหมายได้ว่า หลังจากที่พูดคุยกันแล้ว เราจะเริ่มต้นแก้ไขปัญหานั้นอย่างไรดี

โดยหน้าตาของเครื่องมือ Fix it! จะมีองค์ประกอบดังนี้

ซึ่งในกระดาษ Fix it! จะมี 2 ส่วน ส่วนที่ให้เด็ก ๆ เขาเขียนหรือเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยจะมีทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Situation) ความรู้สึกที่เกิดขึ้น (Feeling) สิ่งที่เราอยากจะทำ (Want) หรือสิ่งที่เราได้ทำลงไป (Previous) เพื่อให้นักเรียนเข้าใจทั้งเรื่องราว ความรู้สึกและการกระทำของตนเอง และส่วนที่ครูและนักเรียนสามารถร่วมกันหาทางออกเพิ่มเติม

เมื่อนักเรียนได้เล่าเรื่องราวความขัดแย้งที่พบเจอ ลองใช้เครื่องมือชิ้นนี้ในการชวนให้นักเรียนเห็นถึงปัญหาในภาพรวมและพูดคุยเพื่อค้นหาทางออก ก็จะทำให้นักเรียนชัดเจนกับความรู้สึกและการกระทำขึ้นมาได้


กิจกรรมที่ 2 “เปิด - ฮึบไว้”

หลายครั้ง ๆ เวลาที่นักเรียนเริ่มไม่พอใจเพื่อนสักคน พอเวลาผ่านไปกลายเป็นว่าเขาโกรธมากขึ้น ไม่พอใจและไม่ชอบมากขึ้น ซึ่งบางครั้งความไม่พอใจนี้ อาจจะไม่ได้มาจากตัวเพื่อน แต่อาจจะมาจากอคติของตัวนักเรียน ที่พอเริ่มไม่ชอบแล้ว อะไรต่าง ๆ ที่คน ๆ นั้นทำ ก็ดูไม่โอเคไปเสียหมด ดังนั้นกิจกรรม “เปิด - ฮึบไว้” จึงเป็นกิจกรรมที่ชวนนักเรียนมาหัดควบคุม “อคติ (Bias)” ในการมองของตนเอง

โดยการเล่นกิจกรรมนี้ อาจจะเล่นกันเป็นกลุ่มเพื่อฝึกและป้องกันไม่ให้นักเรียนเกิดอคติในการมอง หรือเล่นแบบตัวต่อตัว เพื่อช่วยลดการมองแบบมีอคติของเด็กก็ได้นะคะ

อุปกรณ์ การ์ดที่มีเครื่องหมายบวก และเครื่องหมายลบ อย่างละ 5 ใบ

วิธีการเล่น

  1. ให้คว่ำการ์ดเครื่องหมายไว้ ทั้ง 10 ใบ
  2. ให้เด็กตั้งสถานการณ์ที่เกิดความขัดแย้งกับใครสักคนหนึ่งในห้องเรียน
  3. ให้เด็กเปิดการ์ดที่วางอยู่ (การ์ดเครื่องหมายบวก การ์ดเครื่องหมายลบ)

หากได้การ์ดบวก : ให้จำลองสถานการณ์ว่านักเรียนมีมุมมองเชิงบวกกับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น เช่น “เอาจริง ๆ เพื่อนก็ปรับตัวดีขึ้นมากแล้วนะ” “เอาจริง ๆ สิ่งที่เพื่อนทำก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรนี่หน่า” หรือ “เพื่อนเองก็มีสิทธิที่จะทำแบบนี้”

หากได้การ์ดลบ : ให้จำลองสถานการณ์ว่านักเรียนมีมุมมองเชิงลบกับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น เช่น “ยังคงทำพฤติกรรมแย่ ๆ เหมือนเดิมสินะ” “สิ่งที่เพื่อนทำมันส่งผลเสียกับทุกคนในห้องเรียน” “มีสิทธิ์อะไรที่จะมาทำพฤติกรรมแบบนี้”

กิจกรรมนี้มีไว้เพื่อชวนนักเรียนมองว่าแท้จริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น มันขึ้นอยู่กับมุมมองของเราว่าเราจะมองมันในเชิงบวกหรือเชิงลบ และหลายครั้งที่เรามองมันในเชิงลบ เพราะเรา “อยากมองมันในเชิงลบ” ด้วยความอคติที่เกิดขึ้นจากปัญหาความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้

ชวนคุณครูลองนำกิจกรรมเหล่านี้ไปใช้กับนักเรียน เพื่อช่วยให้นักเรียนได้เลือกวิธีการจัดการกับความขัดแย้งได้เหมาะสมมากขึ้นนะคะ


อ้างอิง

Öztürk, N., & Atli, A. (2021). Reasons for resentment of high school teenagers with friends. Personal Relationships, 28(3), 667-682.

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(6)
เก็บไว้อ่าน
(7)