icon
giftClose
profile

เรื่องเล่าท้องถิ่นร้อยเอ็ด 2022 (GE3001 มมร101)

6571
ภาพประกอบไอเดีย เรื่องเล่าท้องถิ่นร้อยเอ็ด 2022 (GE3001 มมร101)

ปูเสื่อ จับจองที่นั่ง เจาะติดขอบจอ มาเที่ยวเมืองทองแห่งอู่อารยธรรมอีสาน ผสานความเป็นท้องถิ่นร่วมสมัย ตลอดจนมีวัดที่ตอบโจทย์เป็นแหล่งเสริมสร้างพลังใจ พลังปัญญา

“ใจเป็นมิตร ย่อมนำความสุข ความจรรโลงใจแก่ผู้ประพฤติธรรม” เป็นหลักธรรมะที่มีนัยยะความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ในฐานะกัลยาณมิตร และในมิติความสัมพันธ์ใดๆดำเนินไปด้วยความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ หลักธรรมดังกล่าวปรับประยุกต์ใช้กับทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพค้าขายที่มีรูปแบบหลากหลาย เช่น การขายออนไลน์ในแพลตฟอร์มยอดนิยม การไลฟ์สดในสื่อสังคมออนไลน์ (social media) ซึ่งวัดป่าจตุรพักตรพิมานมีสัญลักษณ์มิตรคือ ยันต์เมตตาค้าขาย กล่าวได้ว่ายันต์มิได้มีเพียงสัญลักษณ์ของเครื่องรางของขลังเท่านั้น แต่ยันต์เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายให้เป็นมิตรต่อกัน ซึ่งการดำเนินกิจการใดๆ หากมีความหวังดี จริงใจต่อกันฉันมิตร ผู้ซื้อได้สินค้าคุณภาพสูง ผู้ขายก็ย่อมมีกิจการค้าประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้ Mindset ลงมือทำเป็นหัวใจสำคัญหนึ่งของวัดป่าจตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด กล่าวคือ การลงมือเพื่อประโยชน์สุขทางใจต่อตนเอง และการลงมือเพื่อประโยชน์สุขทางต่อสังคม ดังจะเห็นได้จาก พระพุทธ

ชยันตีเมตตาทันใจ เป็นพระพุทธขนาดใหญ่ตั้งที่หน้าวัด ซึ่งมีความหมายทางธรรม คือ พระพุทธเจ้าเป็นพลังใจ ส่งพลังความเมตตาให้พุทธศาสนิกชนที่คิดดี ทำดี ฝ่าฟันอุปสรรค และประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งความเมตตานั้นเป็นปัจจัยให้สังคมไทยดำรงอยู่ด้วยความสุข ความสันติ แม้จะมีความหลากหลายทางความคิด ความเชื่อทางศาสนา ทางการเมือง แต่หลักการเมตตาต่อกันย่อมทำให้สังคมไทยดำรงความเป็นปึกแผ่นตราบจนปัจจุบัน

          อีกทั้ง การลงมือทำในระดับชุมชนนั้น วัดป่าจตุรพักตรพิมานก็เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่วิจัยเรื่อง “การใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาในการอนุรักษ์ป่าชุมชนด้วย 7 เสาหลัก” โดยมีองค์ประกอบ 7 ประการ ได้แก่ 1) การรวบรวมกลุ่มคน 2) การบริหารจัดการป่า 3) การจัดระบบนิเวศ 4) ผลผลิตที่ได้จากการอนุรักษ์ป่า 5) การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน 6) การดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมที่เกื้อกูลต่อการอนุรักษ์ป่า 7) การสืบทอดหรือส่งไม้ต่อจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งโครงการวิจัยนี้มีพระครูปลัดสมหมาย อัตถสิทโธ,ดร. ผู้อำนวยการหลักหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต วิทยาลัยสงฆ์ร้อยเอ็ด มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563

         จากโครงการวิจัยดังนั้นชี้ให้เห็นว่าป่าชุมชนเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของชุมชน ซึ่งทำให้ผู้มาเยือนวัดป่าจตุรพักตรพิมานได้เห็นแหล่งเรียนรู้การอนุรักษ์ป่าชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งโครงการวิจัยดังกล่าวทำให้ภาพลักษณ์ป่าและวัดป่าเป็นสถานที่ที่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง และการปฏิบัติธรรมนั้นมีทั้งญาติธรรมในชุมชน และญาติธรรมนอกพื้นที่ชุมชน กล่าวได้ว่าวัดป่าจตุรพักตรพิมานเป็นพื้นที่ศูนย์กลางเชื่อมผู้ที่สนใจปฏิบัติธรรมกรรมฐานหรือเป็นเครือข่ายทางธรรมกรรมฐานในลำดับต่อไป 

อนึ่ง หลักธรรมะของวัดป่าจตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ดมีแนวคิดสำคัญ คือ ปรับประยุกต์ธรรมะหลักการมิตรและความเมตตาใช้ในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งโลกมีความผันผวน ด้วยปัจจัยต่างๆที่คาดเดาไม่ได้ เช่น โควิด-19 น้ำมันแพง ค่าครองชีพสูง โดยหลักธรรมของวัดป่าจตุรพักตรพิมาน สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดร้อยเอ็ด แห่งที่ 12 สังกัดมหานิกาย เน้นการปฏิบัติกรรมฐานตามแนวทางของพระพุทธเจ้า คือ การเพ่งพิจารณาลมหายใจประกอบกับอาการสงบของร่างกาย มีการบริกรรมกำกับสติ เช่น พุทโธ ยุบหนอ พองหนอประกอบกับการให้ความรู้ภาคทฤษฎีของพระวิทยากร เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมเกิดทัศนคติที่ดีว่าการปฏิบัติธรรมกรรมฐานเป็นเรื่องง่าย สามารถเรียนรู้ พัฒนาความสามารถการเข้าถึงแก่นของการปฏิบัติธรร และด้วยทัศนียภาพของความสงบร่มรื่นของป่า ยิ่งทำให้เกิดสถานที่สัปปายะ หรือเอื้ออำนวยให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติธรรม และในสถานการณ์โควิด-19 ทางวัดได้ดำเนินการป้องกันการติดต่อ การแพร่กระจายของโรคอย่างเคร่งครัด โดยมีการทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อคัดกรองผู้ปฏิบัติธรรม ก่อนปฏิบัติธรรมกรรมฐาน เพี่อมิให้เกิดการติดเชื้อโควิด-19 ในระหว่างปฏิบัติธรรม

            แล้วพบกับ “ใจเป็นมิตร ย่อมนำความสุข ความจรรโลงใจแก่ผู้ประพฤติธรรม” ณ วัดป่าจตุรพักตรพิมาน สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดร้อยเอ็ด แห่งที่ 12 ต.หัวช้าง อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด ค่ะ

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(0)