"News and media shape our sense of reality"
ถ้อยคำนี้ปรากฏอยู่ในถ้อยแถลงที่แสดงถึงความตั้งใจของหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ ว่าต้องการชวนผู้ชมนิทรรศการนี้ใช้เวลาฉุกคิด ทบทวน สังเกตการรับรู้ของตัวเองที่เกี่ยวกับ "สื่อ" ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย การ์ตูน พาดหัวข่าวหน้าหนึ่ง ด้วยคำถามง่าย ๆ ว่า เราเชื่อทุกอย่างที่เห็นได้แค่ไหน ?
ส่วนที่ 1 Early Edition จัดแสดงหนังสือพิมพ์เก่าที่บอกเล่าความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์ จะเห็นได้ว่ามีหนังสือพิมพ์หลายภาษา ทั้งจีน อังกฤษ มลายู ทมิฬ
เอาไปใช้ต่อยังไงได้บ้าง - - > ลองชวนนักเรียนเข้าไปค้นคว้าหนังสือเก่า นิตยสารเก่าในห้องสมุดของโรงเรียน นำมาพลิกเปิดดูด้วยกัน อาจจะพบเจอเรื่องราวน่าสนใจ หรือข้อมูลที่ไม่คาดฝันได้ หรือจะชวนนักเรียนลองใช้บริการสืบค้นหนังสือพิมพ์ฉบับเก่าจากฐานข้อมูลของหอสมุดแห่งชาติประเทศไทยก็ได้นะ elibrary-nlt.hibrary.me
ส่วนที่ 2 Behind Every Story ตัดพาดหัวข่าวสำคัญในประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์มาส่องดูบริบททางสังคมในยุคนั้น มุมมองของแต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งกัน ว่าต่างคนต่างใช้สื่อเป็นเครื่องมือส่งสารเพื่อต่อรองความชอบธรรมของตนเองอย่างไรบ้าง
เราได้กดฟังเรื่องเกี่ยวกับการที่สิงคโปร์ประกาศแยกตัวออกจากมาเลเซียในปี ค.ศ. 1965 ซึ่งหนังสือพิมพ์ The Strait Times เลือกลงภาพนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้นลงหน้าหนึ่ง ภาพของเขามีสีหน้าเศร้าซึม ผิดหวัง วางอยู่เคียงข้างคำแถลงการณ์ที่แสดงถึงความเสียใจ และกล่าวหาว่าลีกวนยู (ผู้นำสิงคโปร์ในขณะนั้น) เป็นฝ่ายที่ไม่ให้ความร่วมมือ คอยก่อกวน และไม่ซื่อสัตย์ต่อประเทศชาติ แต่หากเปิดเข้าไปอ่านในหน้า 12 ซึ่งรายงานการแถลงข่าวของลีกวนยู ที่อยู่ในภาวะอารมณ์ที่ดูแน่วแน่ มุ่งประเด็นไปที่วิสัยทัศน์ นโยบายระหว่างประเทศ และการค้า เน้นแนวทางการสร้างประเทศใหม่ที่ทุกชาติ ศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ แต่เมื่อหยิบหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ Berita Harian ของมาเลเซียมาดูก็จะเห็นการเลือกภาพที่แตกต่างกันไป โดยให้นำ้หนักกับความคิดเห็นของฝั่งมาเลเซียมากกว่า ขณะที่หนังสือพิมพ์ Nanyang Siang Pau เล่าเหตุการณ์นี้ด้วยน้ำเสียงปกติ ให้พื้นที่กับแถลงการณ์ของลีกวนยูเต็มที่ และแสดงความเห็นว่านี่เป็นเพียงการทะเลาะกันของ 2 รัฐบาลที่ไม่น่ากังวลแต่อย่างใด ให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจ
เอาไปใช้ต่อยังไงได้บ้าง - - > จะเห็นได้ว่า ข่าวเดียวกันแต่หนังสือพิมพ์แต่ละหัวเลือกนำเสนอข่าวแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หากเราจะนำวิธีการนี้มาชวนนักเรียนวิเคราะห์ อาจจะเริ่มจากการให้นักเรียนลองตัดหน้าหนังสือพิมพ์ แคปหน้าจอข่าวออนไลน์ จากสื่อที่แตกต่างกัน มาเทียบและมองหาน้ำเสียง | ภาพที่เลือกใช้ | คำพูดที่เน้นตัวใหญ่ ๆ | คำที่ใช้พาดหัวหลัก | บุคคลที่สำนักข่าวเลือกสัมภาษณ์ | มุมมองของผู้เขียนข่าว ไม่แน่ว่านักเรียนอาจจะได้เห็นเหตุการณ์เดียวกันในมุมมองที่แตกต่างกันสุดขั้วก็เป็นไปได้
หากคุณครูสนใจวิธีการออกแบบกระบวนการวิเคราะห์ข่าวในมุมมองที่ต่างกัน ลองเข้าไปเลือกชมได้ฟรี ๆ ที่ Behind Every Story
อีกส่วนที่คิดว่าสามารถนำมาออกแบบการเรียนรู้ร่วมกับนักเรียนได้เช่นกัน คือการนำภาพ 2 ภาพในเหตุการณ์เดียวกันมาเทียบ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด น่าจะเป็นภาพเจ้าชาววิลเลียมที่ภาพมุมตรงจะเห็นมือชูนิ้ว 3 นิ้ว แต่ภาพมุมข้าง กลับดูเหมือนกำลังชูนิ้วกลางเพียงนิ้วเดียว !?
เอาไปใช้ต่อยังไงได้บ้าง - - > ลองให้นักเรียนจำลองสถานการณ์บางอย่างขึ้นมา แล้วให้นักเรียน 2-3 คนถ่ายภาพจากมุมที่แตกต่างกัน จากนั้นนำภาพมาเทียบให้เห็นว่าการยืนในจุดที่แตกต่างกันก็อาจทำให้มองเห็นความจริงไม่เหมือนกันตามไปด้วย
ส่วนที่ 3 Fact or Fake ? จริงหรือหลอก บอกได้ไหม
เรียนรู้เกี่ยวกับข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนที่แพร่หลายในอินเทอร์เน็ตผ่านเกมถามตอบปัญหา เรียนรู้ลักษณะของข่าวปลอมผ่านมอนสเตอร์หลากสีอย่าง Wildfire เจ้าตัวร้ายสายแพร่ข่าวลือ, Manipulator จอมมารจอมบิดเบือน, Yuckitor จอมขู่เรื่องของกินอันตราย หรือ Deepfaker ปีศาจเทคโนโลยีสร้างภาพเสมือนจริง เป็นต้น
เอาไปใช้ต่อยังไงได้บ้าง - - > คุณครูสามารถนำไอเดียไปปรับใช้ในห้องเรียนได้ง่ายมาก ๆ โดยสามารถนำข่าวปลอม หรือข่าวบิดเบือนที่คุณครูเห็นผ่านตากันทุกวันในประเทศไทย มายกตัวอย่างแล้วพูดคุยกับนักเรียนถึงกระบวนการสังเกตข่าวปลอม วิธีปฏิบัติเมื่อเจอข่าวปลอม และผลกระทบที่เกิดจากข่าวปลอม เพื่อให้นักเรียนมีภูมิต้านทานในการรับมือกับข่าวปลอมที่จะได้เจอในชีวิตประจำวันอย่างแน่นอน
ไอเดียกิจกรรม SUREvivors ที่สอนให้นักเรียนแปลงร่างเป็นฮีโร่เช็กให้ชัวร์ ทั้งแหล่งที่มีของข่าว เข้าใจบริบท ค้นข้อมูลเพิ่มเติม และประเมินความน่าเชื่อถือของข่าวต่าง ๆ ได้ เข้าไปดูในนี้ได้เลย sure.nlb.gov.sg/tng/surevivors
ส่วนที่ 4 Extra! Extra! ฝึกทักษะการอ่านภาพจากเกมในหนังสือพิมพ์
เพราะพื้นที่ในหน้าหนังสือพิมพ์ไม่ได้มีแค่ข่าว แต่ยังมีกิจกรรมสนุก ๆ ให้ผู้อ่านผ่อนคลายในยุคสมัยที่ยังไม่มีโทรทัศน์ หรือสมาร์ทโฟน เราอาจคุ้นเคยกับปริศนาอักษรไขว้ หรือเกมจับผิดภาพ หนังสือพิมพ์ในสิงคโปร์ก็ไม่ต่างกัน ในนิทรรศการนำเกมตัวอย่างที่ชาวสิงคโปร์คุ้นเคยกันดีอย่างเกมทายภาพข่าวกีฬา นักกีฬากำลังหวดลูกขนไก่ โหม่งลูกบอลอย่างสุดตัว จากนั้นให้เรานำแผ่นภาพกลมๆ ไปวางบนภาพ เพื่อทายว่าตำแหน่งของบอลอยู่ตรงไหน เมื่อกดปุ่มสีเงินข้าง ๆ คำอธิบายภาพ จอก็จะสว่างขึ้น ปรากฏให้เห็นว่าลูกบอลอยู่ตรงไหนกันแน่
เอาไปใช้ต่อยังไงได้บ้าง - - > ทักษะการอ่านภาพเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้การอ่านคำพาดหัวข่าว เพราะหลายครั้งหลายหน ที่เราเห็นภาพเดียวกันแต่โฟกัสไปที่รายละเอียดไม่เหมือนกัน คุณครูอาจจะลองใช้วิธีการทำภาพขึ้นมา 2 แผ่น ภาพแรกใส่ลูกบอลเข้าไปหลาย ๆ จุด เพื่อให้นักเรียนเลือกทายจากการสังเกตสายตาของนักกีฬา หรือผู้ชมในสนาม โดยภาพที่สองเป็นภาพจริงของข่าวนั้น ๆ ที่มาช่วยเฉลยตำแหน่งที่ถูกต้องอีกที
ส่วนสุดท้าย Make Headline News !
ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับตู้ถ่ายภาพอัตโนมัติที่ทำให้เราเหมือนได้อยู่บนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ เลือกพาดหัวข่าวที่เราชอบ แล้วเล็งมุมให้ดีว่าอยากจะนำเสนอตัวเองแบบไหน แล้วรับไฟล์ภาพแบบดิจิทัลกลับบ้านไปได้เลยฟรี ๆ
เอาไปใช้ต่อยังไงได้บ้าง - - > ชวนนักเรียนสวมบทเป็นนักหนังสือพิมพ์ออกแบบหนังสือพิมพ์หน้า 1 ที่เล่าเรื่องราวของตัวนักเรียนเอง หรือเรื่องที่นักเรียนสนใจก็ได้ คุณครูอาจจะมีเทมเพลตเตรียมไว้ให้สำหรับนักเรียนชั้นประถม แล้วให้นักเรียนวาดภาพ หรือตัดแปะภาพเพื่อเล่าเรื่อง ส่วนนักเรียนชั้นมัธยมอาจชวนให้ลองฝึกใช้เครื่องมือออกแบบกราฟิก หรือโปรแกรมออกแบบสำเร็จรูป เพื่อสร้างหนังสือพิมพ์ในห้องเรียน หรือทำตามโจทย์การสื่อสารที่สอดคล้องกับวิชาเรียนก็ได้นะ
คุณครูที่สนใจอยากเข้าถึงเนื้อหาเพิ่มเติมของนิทรรศการนี้ เข้าไปที่ลิงก์นี้ได้เลย
https://exhibitions.nlb.gov.sg/exhibitions/current-exhibitions/newsgallery
หรือจะลองดาวน์โหลดใบงานด้านล่างบทความนี้ไปดูเล่นก็ได้นะ ว่านิทรรศการนี้ออกแบบให้นักเรียนชั้นประถมและมัธยมเข้าใจวิธีการอ่านข่าว ทำความเข้าใจข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างไรบ้าง
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!