icon
giftClose
profile

พัฒนาการเขียนสร้างสรรค์ให้ปังด้วย RAFT Strategy

55959
ภาพประกอบไอเดีย พัฒนาการเขียนสร้างสรรค์ให้ปังด้วย RAFT Strategy

"จะทำอย่างไรให้นักเรียนมีไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ในการเขียน" คำถามสำคัญที่คุณครูภาษาไทยทุกคนเกิดขึ้นเมื่อต้องสอนเรื่องการเขียน เช่น การเขียนเรียงความ การเขียนความเรียง การเขียนเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น เนื่องจากเมื่อต้องให้นักเรียนเขียนชิ้นงานหนึ่งชิ้นนั้น ปัญหาสำคัญคือนักเรียนขาดไอเดียหรือแนวคิดว่าจะเขียนอย่างไร วันนี้จึงได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาการเขียนให้กับครูผู้สอนทุกคนคือ "กลวิธี RAFT" ซึ่งเป็นกลวิธีที่ช่วยให้ผู้เรียนดึงเอาความคิด ประสบการณ์ จินตนาการของนักเรียนมาใช้เป็นวัตถุดิบในการเขียน

ตัวผมเองได้มีโอกาสได้ศึกษาและรับความรู้เรื่อง "กลวิธี RAFT" จากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ สัจจพิบูล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเป็นกลวิธีของแวนเดอเวนเทอร์ (Vandeventer) ที่ได้พัฒนาแนวคิดกลวิธี RAFT ขึ้นเพื่อใช้เป็นกิจกรรมเสริมการสอนเขียนในขั้นตอนก่อนการเขียน โดยประกอบด้วย 1) R - Role (บทบาทของผู้เขียน) นักเรียนต้องกำหนดว่าตนเองเป็นใคร มีบทบาทอย่างไรในการเขียนครั้งนี้ 2) A-Audience (บทบาทของผู้อ่าน) นักเรียนต้องกำหนดบทบาทของผู้อ่านหรือผู้รับสาร โดยผู้อ่านอาจเป็นสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งไม่มีชีวิตก็ได้ 3) F-Form (รูปแบบ) คือ นักเรียนกำหนดรูปแบบของงานเขียนว่าเป็นงานประเภทใด และ 4) T-Topic (หัวข้อ) คือ นักเรียนกำหนดหัวข้อหรือจุดประสงค์ของงานเขียน

โดยการนำแนวคิดนี้ไปใช้สอนนั้นเราจะนำเสนอตัวอย่างงานที่เขียนด้วยกลวิธี RAFT ให้นักเรียนลองอ่านเพื่อให้นักเรียนทายว่างานดังกล่าวใครเป็นผู้เขียนและใครเป็นผู้อ่านทั้งนี้ตัวอย่างงานนั้นไม่จำเป็นที่ผู้เขียนและผู้อ่านต้องเป็นสิ่งมีชีวิต คุณครูลองอ่านจดหมายสั้น (Post it) ต่อไปนี้แล้วลองทายว่าใครเขียนถึงใคร

ทายถูกกันรึเปล่าครับ จดหมายสั้นดังกล่าวเป็นการเขียนจดหมายจากดวงอาทิตย์ถึงดาวพลูโต เนื่องจากดาวพลูโตถูกจัดประเภทใหม่ว่าไม่ใช่ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ คุณครูสามารถทดลองยกตัวอย่างงาน 2-3 ชิ้นให้นักเรียนทายดูก่อน จากนั้นจึงนำเสนอกลวิธี RAFT เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนสร้างสรรค์งานของตนเอง

การให้นักเรียนทดลองเขียนนั้นคุณครูจะต้องนำเสนอให้นักเรียนกำหนดองค์ประกอบ 4 อย่างตามกลวิธี RAFT ซึ่งทั้งนี้ครูอาจกำหนดให้บางส่วนแล้วให้นักเรียนจับคู่ระหว่าง R ผู้เขียน และ A ผู้อ่านเอง หรือเปิดโอกาสให้นักเรียนคิดทั้งสององค์ประกอบเองเลยก็ได้ นอกจากนี้ในส่วนของ F รูปแบบนั้นคุณครูอาจนำไปใช้ในรูปแบบการเขียนที่หลากหลายตามความเหมาะสมของระดับชั้น แต่เนื่องจากผมต้องการให้นักเรียนเขียนเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไปจึงกำหนดในรูปแบบจดหมายสั้น (Post it) ซึ่งนักเรียนคุ้นชินและเข้าใจได้ง่าย ในส่วนของ T หัวข้อนั้นครูผู้สอนอาจเปิดโอกาสให้นักเรียนคิดเองว่า ถ้าสองคนหรือสองสิ่งนี้คุยกันจะคุยกันเรื่องอะไร เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนคิดอย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้คุณครูอาจเพิ่มกฎเพื่อความสนุกคือในการเขียนนั้นห้ามนักเรียนบอกตรง ๆ ว่าใครกำลังเขียนถึงใครให้อาศัยบริบทในเรื่องที่คุยกันแทน

จากการที่ลองนำกลวิธีนี้มาใช้พบว่า นักเรียนเกิดความสนุกสนานในการเขียนมากยิ่งขึ้น สามารถสร้างสรรค์ข้อความและจับคู่บทบาทของผู้อ่านและผู้เขียนได้แปลกใหม่ เช่น เท้าเขียนถึงรองเท้า, แมวเขียนถึงเจ้าของ, นาฬิกาเข็มยาวถึงนาฬิกาเข็มสั้น เป็นต้น นอกจากนี้แล้วการเขียนกลวิธี RAFT ยังช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักการเขียนในเบื้องต้นว่าก่อนที่เราจะเขียนนั้นเราต้องกำหนดว่าจะเขียนให้ใครอ่าน จะเขียนรูปแบบไหนและจะเขียนเรื่องหรือหัวข้อใด เปิดเทอมนี้ถ้าคุณครูคนไหนกำลังมองหากลวิธีในการสอนเขียน ผมขอแนะนำ "กลวิธี RAFT" ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะช่วยกระตุ้นความคิดของนักเรียนได้เป็นอย่างดี งานเขียนของนักเรียนจะปังขึ้นและคุณครูจะได้ตรวจงานสนุก ๆ กับจดหมายของบางสิ่งที่บางครั้งเรานึกไม่ออกว่าจะคุยกันเรื่องอะไร

ตัวอย่างงานที่ 1 เรื่องราวน่ารัก ๆ เมื่อแมวเขียนจดหมายถึงเจ้าของ

ตัวอย่างงานที่ 2 งานเขียนของนักเรียนชายที่ให้เข็มนาฬิกาคุยกัน จินตนาการล้ำสุด ๆ

ตัวอย่างงานที่ 3 ใครจะคิดว่าพัดลมจะเขียนจดหมายถึงแอร์

ศึกษาเพิ่มเติมจากงานวิจัยเรื่อง ผลของการจัดการเรียนรู้โดยใช้แนวการสอนเขียนแบบเน้นกระบวนการร่วมกับกลวิธี RAFT ที่มีต่อความสามารถในการเขียนความเรียงและเจตคติต่อการเขียนความเรียงของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของทวิช อัศวตระกูลวงศ์

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 3

ชื่อไฟล์​: สไลด์5.JPG

ดาวน์โหลดแล้ว 119 ครั้ง


แท็กที่เกี่ยวข้อง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(21)
เก็บไว้อ่าน
(33)