icon
giftClose
profile

วิธีการแบ่งปันไอเดียการสอนในเว็บไซต์ insKru

5960
ภาพประกอบไอเดีย วิธีการแบ่งปันไอเดียการสอนในเว็บไซต์ insKru

เทมเพลตรูปแบบใหม่ ที่จะช่วยให้การแบ่งปันไอเดียการสอนของคุณครูง่ายขึ้นกว่าเดิม ใช้งานยังไง ไปดูกัน


สำหรับคุณครูที่สนใจแบ่งปันไอเดียการสอนลงในเว็บไซต์ inskru.com แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี วันนี้จะพาคุณครูทุกท่านไปทำความรู้จักกับเทมเพลตในการแบ่งปันไอเดียการสอนทั้ง 3 รูปแบบ แต่ละรูปแบบมีความแตกต่างกันอย่างไร และแบบไหนที่เหมาะกับเรา ไปดูกันได้เลย!


เทมเพลตแบบที่ 1 : คลิป/ไฟล์ อธิบายนิดเดียว

สำหรับคุณครูสายแจก เน้นแบ่งปันสื่อ วิดีโอ หรือไฟล์ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการสอน เช่น ไฟล์บอร์ดเกม สื่อทำมือ เอกสารประกอบการสอน หรือวิดีโอที่บอกเล่าขั้นตอนการสอนของคุณครู เพียงอัพโหลดไฟล์ที่เกี่ยวข้อง และเขียนคำแนะนำเกี่ยวกับไฟล์นั้นเล็กน้อย ก็แบ่งปันไอเดียการสอนได้เลย!

เทมเพลตแบบที่ 2 : เล่าเอง

สำหรับคุณครูนักเล่า ที่อยากแบ่งปันไอเดียการสอนในสไตล์ของตัวเอง สามารถบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนและแปะภาพประกอบได้ตามใจชอบ

เทมเพลตแบบที่ 3 : ให้ insKru ช่วย

สำหรับคุณครูมือใหม่ที่ไม่รู้จะเริ่มต้นแบ่งปันไอเดียการสอนอย่างไร เทมเพลตนี้ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือคุณครูอย่างเต็มที่ โดยจะประกอบไปด้วยหัวข้อต่าง ๆ ที่จะช่วยแนะแนวทางในเขียนเล่าไอเดียการสอนได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งประกอบไปด้วย 4 หัวข้อดังต่อไปนี้- ที่มาของไอเดีย หรือ จุดประสงค์การสอน

เริ่มต้นจากการบอกเล่าที่มาของไอเดียการสอน คุณครูเกิดแรงบันดาลใจหรือมีความคิดความเชื่ออย่างไรในการออกแบบการสอนครั้งนี้ หรืออาจจะบอกเล่าสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นภายในห้องเรียน เพื่อกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ที่วาดฝันไว้

ตัวอย่าง

“คาบนี้เราอยากสร้างการเรียนรู้เรื่องอุปสงค์-อุปทาน แต่เราไม่เชื่อว่าการนั่งบรรยายเฉย ๆ จะทำให้เด็ก ๆเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง จึงอยากลองออกแบบกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนได้สัมผัสกับกลไกตลาดด้วยตัวเอง”
  • ขั้นตอน

บอกเล่าขั้นตอนการสอนที่คุณครูทดลอง (หรือคาดว่าจะ) นำไปใช้ในห้องเรียน เพื่อเก็บบันทึกเอาไว้ว่าตนเองเคยออกแบบการเรียนรู้ในหัวข้อดังกล่าวด้วยวิธีการใด

ตัวอย่าง

“แบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม (ผู้ซื้อ-ผู้ขาย) กำหนดเงื่อนไขให้นักเรียนต่อรองราคาน้ำมันกันเป็นรอบ ๆ ส่วนเราจะทำหน้าที่จดบันทึกราคาน้ำมันในตลาดบนกระดาน เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้สะท้อนคิดในช่วงท้ายคาบ"
  • ผลลัพธ์ที่เกิด หรือ คาดว่าจะเกิดขึ้น

จากกิจกรรมดังกล่าว คุณครูเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียนอย่างไร นักเรียนพูดอะไรเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น อะไรคือหลักฐานที่เห็นได้ชัดว่านักเรียนเกิดการเรียนรู้ หรืออาจจะเป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับตัวของคุณครูเอง

ตัวอย่าง

“ระหว่างที่ทำกิจกรรม เด็กคนนึงพูดขึ้นมาว่า ‘รอบนี้มีแต่ผู้ขายน้อยมาก ต่อรองราคาไม่ได้เลย!’ เราจึงคิดว่านี่แหละเป็นหลักฐานว่านักเรียนเข้าใจธรรมชาติของกลไกตลาดแล้ว”
  • บริบท หรือ ข้อเสนอแนะ

หลังจากที่ทดลองนำกิจกรรมดังกล่าวไปใช้ในห้องเรียนแล้ว คุณครูสังเกตเห็นแนวทางในการพัฒนาไอเดียการสอนอย่างไร หรือแนะนำคุณครูท่านอื่นที่จะนำไอเดียนี้ไปใช้ว่าบริบทแบบไหนที่เหมาะสมกับไอเดียดังกล่าว

ตัวอย่าง

“แม้ว่าภาพรวม เด็ก ๆ จะสนุกสนานและเกิดการเรียนรู้ แต่ก็มีนักเรียนบางคนที่ไม่กล้าที่จะเข้าไปซื้อขายน้ำมันกับผู้อื่น คาบหน้าอาจจะต้องเพิ่มเงื่อนไขเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนอยากที่จะเข้าร่วมมากขึ้น”
“กิจกรรมนี้เหมาะกับนักเรียนจำนวนไม่เกิน 40 คน และต้องเผื่อช่วงเวลาในการสะท้อนคิดจากกิจกรรมในช่วงท้าย เพราะฉะนั้นการจัดกิจกรรมในคาบคู่อาจจะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่”

ใครลองใช้เทมเพลตแบ่งปันไอเดียการสอนแบบไหนแล้วบ้าง สามารถรีวิวหรือให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงและพัฒนาต่อได้เลยนะ หรือใครอยากให้มีฟีเจอร์อะไรใหม่ ๆ ในเว็บไซต์ บอกพวกเรามาได้เลย!

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(1)