inskru

อาหาร(หลอก)แสนอร่อย กับ การจัดเรียนรู้แบบ STEM

0
0
ภาพประกอบไอเดีย อาหาร(หลอก)แสนอร่อย กับ การจัดเรียนรู้แบบ STEM

เปิดชื่อมาเป็น STEM ขนาดนี้ ก็ต้องบอกตัวชี้วัดกันก่อน ว่าใช้ตัวชี้วัดอะไรบ้างในการเรียนการสอนครั้งนี้

S วิทยาศาสตร์ คือ บอกแนวทางในการเลือกรับประทานอาหาร ให้ได้สารอาหารครบถ้วน ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับเพศและวัย รวมทั้งความปลอดภัยต่อสุขภาพ (ว1.2 ป.6/2)

T เทคโนโลยี คือ ใช้เหตุผลเชิงตรรกะในการอธิบายและออกแบบวิธีการแก้ปัญหาที่พบในชีวิตประจำวัน (ว4.2 ป.6/1)

E วิศวกรรมศาสตร์ คือ ออกแบบ ตัดสินใจสร้าง ทดสอบ และประเมินผลตามสิ่งที่โจทย์กำหนด

M คณิตศาสตร์ คือ บอกลักษณะของรูปเรขาคณิตสามมิติชนิดต่าง ๆ (ค2.2 ป.6/3)


กิจกรรมครั้งนี้ถูกจัดขึ้นเนื่องจาก นักเรียนได้เรียนเรื่องอาหารและสารอาหารตั้งแต่เทอม 1 จนตอนนี้เทอม 2 แล้ว เราอยากรู้ว่านักเรียนจะยังมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องอาหารและสารอาหารอยู่หรือไม่ กิจกรรม "อาหาร(หลอก)แสนสนุก" จึงได้เริ่มต้นขึ้น

การเรียนการสอนแบบ STEM ในครั้งนี้อาจจะไม่เต็มรูปแบบมากนัก แต่สามารถนำไปปรับใช้ได้เลย

ขั้นแรก ขั้นระบุปัญหา

ซึ่งปัญหาในครั้งนี้ เราใช้สื่อจากไอเดีย "เมนูหฤหรรษ์กับอาหาร 5 หมู่ของเราเอง (แอบแปะลิงค์ https://inskru.com/idea/-N4BFq84rkOv9S0w0ToP) โดยสื่อจากไอเดียนี้จะเป็นการ์ดเกม เราจะนำมาแจกให้นักเรียนแต่ละคน คนละ 5 ใบ แล้วให้นำวัตถุดิบในแต่ละใบที่ได้มาสร้างสรรค์อาหาร โดยเงื่อนไขของปัญหาคืออาหารที่สร้างต้องมีสารอาหารครบทุกชนิด (เงื่อนไขจากตัวชี้วัดวิทย์) จะเป็นอาหารจานเดียวก็ได้ หรือจะมีกับข้าวหรือเครื่องดื่มเพิ่มเติมก็ได้ และจะให้นำอาหารที่ออกแบบนั้นมาสร้าง "อาหาร(หลอก)" (แบบจำลองอาหาร) โดยต้องมีส่วนที่เป็นรูปเรขาคณิตสามมิติเป็นส่วนประกอบด้วย (เงื่อนไขจากตัวชี้วัดคณิต)


ขั้นสอง ขั้นรวบรวมข้อมูลหรือรวบรวมแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับปัญหา

หลังจากที่เราแจกการ์ดวัตถุดิบให้นักเรียนแล้ว นักเรียนจะต้องนำวัตถุดิบในแต่ละใบมารวมกันเพื่อสร้างเป็นอาหารให้มีสารอาหารครบถ้วน ซึ่งนักเรียนบางคนอาจจะได้การ์ดวัตถุดิบมา แล้วขาดบางวัตถุดิบบางอย่าง ทำให้ขาดสารอาหารไป ในส่วนนี้นักเรียนสามารถค้นหาเมนูอาหารในอินเตอร์เน็ต เพื่อเป็นการรวบรวมแนวคิดของคนอื่น ๆ ซึ่งนั่นก็คือเมนูที่คนอื่น ๆ คิดไว้ ว่าสามารถทำให้นักเรียนสร้างอาหารได้ถูกตามเงื่อนไขหรือไม่ เช่น นักเรียนได้การ์ด ไข่ ข้าว น้ำมันพืช เนื้อหมู และแป้ง ซึ่งนักเรียนเลือกทำเมนูหมูชุบแป้งทอด (ซึ่งมีสารอาหารคือโปรตีนจากเนื้อหมู คาร์โบไฮเดรตจากแป้ง และไขมันจากน้ำมันพืช) อีกสองการ์ดที่เหลือคือ ไข่ และข้าว ซึ่งยังขาดสารอาหารประเภทแร่ธาตุและวิตามิน ที่พบได้ในผักและผลไม้ นักเรียนสามารถค้นหาเมนูเพิ่มเติม หรือสร้างเมนูจากความทรงจำของนักเรียนเองได้ อาจจะทำสุกี้น้ำ โดยเพิ่มผักลงไป เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วนแบบนี้ก็ได้ เป็นต้น

และในส่วนของเงื่อนไขแบบจำลองอาหารต้องมีส่วนที่เป็นรูปเรขาคณิตสามมิติ ก็ต้องทวนเรื่องเรขาคณิตสามมิติให้นักเรียนด้วย เพื่อเป็นข้อมูลในการทำแบบจำลองอาหารต่อไปให้ถูกต้องตามเงื่อนไข


ขั้นสาม ออกแบบวิธีการแก้ปัญหา

เมื่อนักเรียนได้เมนูที่ต้องการแล้ว ให้นักเรียนออกแบบเมนูที่คิดมาลงในกระดาษ เพื่อดูว่านักเรียนสามารถแก้ไขปัญหาได้ถูกต้องตามเงื่อนไขหรือไม่ จากนั้นนักเรียนที่ออกแบบเสร็จแล้ว สามารถรับอุปกรณ์การสร้างแบบจำลองได้เลย


ตัวอย่างการออกแบบ

นักเรียนคนนี้ได้การ์ด เนย พริก โยเกิร์ต โยเกิร์ต และนม จึงสร้างเป็นเมนูพริกทอดราดเนย (เมนูสารอาหารครบถ้วนแล้ว แต่นักเรียนอยากเพิ่มเติมเนื้อหมู ก็สามารถทำได้)


นักเรียนคนนี้ได้การ์ด มังคุด ผักกาด ข้าว แตงกวา และชีส จึงสร้างเป็นเมนูผักกาดหมกข้าวผัดชีส กินคู่กับน้ำปั่นมังคุด (เนื่องจากนักเรียนยังขาดสารอาหารประเภทไขมัน จึงเพิ่มน้ำมันพืชลงไปเพื่อใช้ผัดผักกาด ทำให้มีสารอาหารครบถ้วนตามเงื่อนไข)


นักเรียนคนนี้ได้การ์ด แครอท ผักบุ้ง มะกรูด น้ำมันพืช และไข่ จึงสร้างเป็นเมนูไข่ทอด กินคู่กับแกงส้มผักรวม (ซึ่งขาดสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ภายหลังนักเรียนจึงได้เพิ่มข้าวลงไปกินคู่กับไข่ทอด)


นักเรียนคนนี้ได้การ์ด แป้ง เนื้อไก่ พริก ผักบุ้ง และผักกาด จึงได้สร้างเมนูไก่ชุบแป้งทอด กินคู่กับผัดผัก (ซึ่งขาดสารอาหารประเภทไขมัน จึงได้เพิ่มน้ำมันลงไปในผัดผัก และใช้ทอดไก่ด้วย)


ขั้นสี่ วางแผนและดำเนินการแก้ปัญหา

ในที่สุดก็ถึงขั้นตอนลงมือทำ โดยให้นักเรียนสร้างแบบจำลองอาหาร ตามที่ได้ออกแบบไว้เล้ยยย


ขั้นห้า ทดสอบ ประเมินผล และปรับปรุงแก้ไขวิธีการแก้ปัญหาหรือชิ้นงาน

เมื่อสร้างแบบจำลองอาหารของตนเองเสร็จแล้ว ให้นำมาให้ครูประเมินว่าตรงตามเงื่อนไขหรือไม่ หากไม่ตรง เช่น อาหารที่สร้างนั้นไม่มีสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต นักเรียนสามารถนำกลับไปแก้ไขเพิ่มเติมได้ โดยอาจจะสร้างเป็นกับข้าวแยก (เช่น เพิ่มเมนูลูกชิ้นปิ้งเพื่อให้ได้คาร์โบไฮเดรต) หรือเพิ่มเป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมในเมนูอาหารเดิมได้ (เช่น เมนูเดิมคือ สเต็กหมู อาจจะเพิ่มไส้กรอกลงไปในจานสเต็กได้ เพื่อเพิ่มคาร์โบไฮเดรต) เป็นต้น โดยสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้จนกว่าเมนูอาหารนั้นจะผ่านเงื่อนไข

ในส่วนของเงื่อนไขเรื่องรูปเรขาคณิตสามมิติ ให้ครูถามนักเรียนได้ว่าตรงส่วนใดของแบบจำลองอาหารนี้รูปเรขาคณิตบ้าง หากตอบได้ก็คือผ่าน หากไม่มี ก็ต้องกลับไปแก้ไข


ขั้นหก นำเสนอวิธีการแก้ปัญหา ผลการแก้ปัญหาหรือชิ้นงาน และประเมินผล

ขั้นนี้คีย์หลักคือการนำเสนอ เราก็ให้นักเรียนนำเสนอว่า ได้การ์ดอะไรบ้าง แล้วสร้างเมนูอะไร สารอาหารแต่ละประเภทได้มาจากตรงไหนของเมนู มีการเพิ่มเติมวัตถุดิบอื่นหรือไม่เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน (ตรงนี้ตอบโจทย์เรื่องวิธีการแก้ปัญหา) และมีส่วนประกอบรูปเรขาคณิตตรงไหนบ้าง เท่านี้นักเรียนก็สามารถผ่านตัวชี้วัดที่ตั้งไว้ในตอนต้นได้แล้ว เย้!


ไหน ๆ นักเรียนก็ตั้งใจสร้างแบบจำลองแล้ว ครูสามารถนำไปให้ครูท่านอื่น ๆ ช่วยโหวตได้ว่าของใครทำออกมาได้ถูกใจครูที่สุด อาจจะมีรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับคนที่ได้รับการโหวตมากที่สุด เพื่อเป็นการเสริมแรงทางบวกไปด้วย


กิจกรรมนี้ นักเรียนเราผ่านวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกคนเลย แต่วัตถุประสงค์หลักที่จะขาดไปไม่ได้เลยคือความสนุก ดีใจที่นักเรียนทำออกมาได้ดีขนาดนี้ ดีใจที่ได้เห็นนักเรียนสนุก ครูก็สนุกไปด้วย

เรื่องอาหารอาจจะใกล้ตัวนักเรียน จนอาจจะไม่อยากทำกิจกรรมที่มันยุ่งยากแบบนี้ เพียงเพื่อวัดผลวัตถุประสงค์สองสามตัว แต่หากได้ลองทำมันแล้ว คุณจะพบความยิ่งใหญ่ที่คุณไม่สามารถพบมันได้เลยหากไม่ลองทำ

ความยิ่งใหญ่นั้น ก็คือความสุขที่ได้เรียนรู้ของนักเรียนนั่นเอง

ครูโบ้ :)

วิทยาศาสตร์STEMประถมสื่อทำมือและอุปกรณ์แผนการสอนการวัดและการประเมินผล

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

0
ได้แรงบันดาลใจ
0
ลงไอเดียอีกน้า~
แบ่งปันโดย
ครูโบ้
ครูตัวใหญ่ที่มีความใฝ่ฝันยิ่งใหญ่กว่าตัว ที่มุ่งและมั่น ฝึกและฝน พากและเพียร เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่สนุก นำไปใช้ได้จริง และไม่ว่าใครหน้าไหนก็เรียนรู้ไปกับเราได้!

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
credit idea

ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

ไอเดียน่าอ่านต่อ