ในรายวิชาภาษาไทย
เรื่อง คำยืมภาษาต่างประเทศในภาษาไทย
กิจกรรมเซียมซีภาษาและทูตภาษาที่ผู้สอนได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้น ในรายวิชาภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ วันนี้จะมาเล่าถึงกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ได้นำเอาการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ Activity Base Learning มาร่วมด้วย ซึ่งกิจกรรมที่ได้ออกแบบนี้มีการใช้อุปกรณ์ที่สำคัญคือ เซียมซี ไม้ติ้ว ใบเซียมซีคำศัพท์ ซึ่งสามารถใช้เซียมซีจริง ๆ (ผู้สอนลงทุนซื้อเพียง ๑๓๙ บาท เท่านั้น) หรือจะประดิษฐ์ขึ้นเองก็ได้ โดยนำกระบอกไม้ไผ่มาทำ นอกจากเซียมซีที่สำคัญแล้ว ผู้สอนยังใช้กิจกรรมทูตภาษาเข้ามาเพิ่มเติมอีกด้วย กระบวนการจัดการเรียนรู้มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ไปทำความเข้าใจกันได้เลยค่ะ (ใส่สื่อและสไลด์จัดกิจกรรมในไฟล์ครูท่านอื่นสามารถนำไปใช้งานและปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมได้เลยนะคะ ยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะ)
ขั้นนำ (๑๐ นาที)
๑. นักเรียนร่วมกันเล่นเกม “รหัสลับ ดาวินชี” โดยครูชี้แจงกติกาการเล่นเกมว่า ให้นักเรียนร่วมกันทาย ภาพคำใบ้ที่ปรากฏในสไลด์ว่า เป็นคำว่าอะไร นักเรียนคนใดตอบได้ถูกต้องมากที่สุดจะได้รับการ์ดสะสมคะแนนเพิ่ม
๒. นักเรียนร่วมกันตอบคำถามจากกิจกรรมการเล่นเกม “รหัสลับ ดาวินชี” โดยครูใช้คำถามกระตุ้นความคิดว่า “จากเกมที่นักเรียนเล่น นักเรียนคิดว่าคำในสไลด์เหล่านี้ (กระดังงา, ก๋วยเตี๋ยว, กำเนิด, วัสดุ, ทรานซิสเตอร์) มาจากภาษาใดและนักเรียนทราบได้อย่างไรว่ามาจากภาษานั้น”
๓. นักเรียนและครูร่วมกันสรุปคำตอบและเชื่อมโยงเข้าสู่การทำกิจกรรม “เซียมซีภาษา” เพื่อจำแนกคำยืมภาษาต่างประเทศในภาษาไทย
ขั้นสอน (๔๐ นาที)
๔. นักเรียนหยิบ “บัตรคำปริศนา” คนละ ๑ ใบ จากที่ครูแจกให้ และครูชี้แจงกติกาการทำกิจกรรมดังนี้
๔.๑ ให้นักเรียนหงายบัตรคำปริศนา และสังเกตคำที่ตนเองได้รับ
๔.๒ ให้นักเรียนจัดเป็นกลุ่มตามคำยืมภาษาต่างประเทศในภาษาไทยจาก “บัตรคำปริศนา” ที่ตนเอง
ได้รับ
๔.๓ นักเรียนและครูจะร่วมกันตรวจสอบวิธีการจัดกลุ่มโดยใช้บัตรคำปริศนา ด้วยการให้นักเรียนยก
บัตรคำขึ้นมาแล้วตรวจคำตอบว่า “นักเรียนเข้ากลุ่มตามคำยืมภาษาต่างประเทศในภาษาไทยถูก
กลุ่มหรือไม่”
๕. เปิดโอกาสให้นักเรียนสอบถามข้อสงสัยจากครูเกี่ยวกับการทำกิจกรรม “บัตรคำปริศนา”
๖. นักเรียนเริ่มทำกิจกรรม “บัตรคำปริศนา” และร่วมกันตรวจสอบวิธีการจัดกลุ่มจากการทำกิจกรรม “บัตรคำปริศนา”
๗. ผลจากการทำกิจกรรม “บัตรคำปริศนา” นักเรียนจะนั่งตามกลุ่มของตนเอง แต่ละกลุ่มจะได้เป็น
“เจ้าของภาษา” ดังนี้
- กลุ่มเจ้าของภาษาบาลี – สันสกฤต
- กลุ่มเจ้าของภาษาเขมร
- กลุ่มเจ้าของภาษาจีน
- กลุ่มเจ้าของภาษาชวา – มลายู
- กลุ่มเจ้าของภาษาอังกฤษ
๘. นักเรียนทำกิจกรรม “เซียมซีภาษา” เชื่อมโยงจากกิจกรรม “บัตรคำปริศนา” โดยครูชี้แจงกติกาการทำกิจกรรมดังนี้
๘.๑ นักเรียนแต่ละกลุ่มของ “เจ้าของภาษา” ส่งตัวแทนออกมากลุ่มละ ๑ คน เพื่อทำหน้าที่เป็น
“ทูตภาษา”
๘.๒ “ทูตภาษา” จากแต่ละเจ้าของภาษาจะต้องเสี่ยงเซียมซี และนำไม้ติ้วไปแลกกับใบเซียมซี
คำศัพท์จากครู
๘.๓ “ทูตภาษา” ต้องนำใบเซียมซีคำศัพท์ไปร่วมกันปรึกษาร่วมกับกลุ่มของตนเอง ว่า “คำศัพท์ที่ได้
เป็นคำยืมที่มาจากภาษาใด และเพราะเหตุใดจึงคิดว่าเป็นคำยืมในภาษานั้น”
กำหนดเวลาในการศึกษาค้นคว้าข้อมูลและระดมสมอง ๒ นาที
๘.๔ เมื่อ “ทูตภาษา” แต่ละกลุ่มได้เสี่ยงเซียมซีและได้คำศัพท์แล้ว จะต้องนำไม้ติ้วไปแลกกับ
ใบเซียมซีคำศัพท์จากครู พร้อมกับนำใบกิจกรรม “เซียมซีภาษา” ไปที่กลุ่มของตัวเอง
๘.๕ “ทูตภาษา” ต้องนำใบเซียมซีคำศัพท์ไปร่วมกันปรึกษาร่วมกับกลุ่มของตนเองว่า
“คำศัพท์ที่ได้เป็นคำยืมที่มาจากภาษาใด และเพราะเหตุใดจึงคิดว่าเป็นคำยืมในภาษานั้น”
แต่ละกลุ่มมีเวลาคิดและค้นคว้าข้อมูล ๒ นาที เมื่อหมดเวลานักเรียนเขียนคำศัพท์ที่กลุ่มของ
ตนเองเสี่ยงเซียมซีมาได้และจำแนกว่าคำนั้นอยู่ในภาษาใดลงในใบกิจกรรม “เซียมซีภาษา”
๙. เปิดโอกาสให้นักเรียนสอบถามข้อสงสัยจากครูเกี่ยวกับการทำกิจกรรม “เซียมซีภาษา”
๑๐. นักเรียนทำกิจกรรม “เซียมซีภาษา” และเมื่อครบตามกำหนดเวลา ๒ นาที ครูอธิบายการทำ
กิจกรรม “ทูตภาษา” ขั้นต่อไปดังนี้
๑๐.๑ ให้ตัวแทน “ทูตภาษา” ออกมาจากกลุ่มภาษาของตนเองแล้วไปที่กลุ่มคำยืมภาษาอื่นที่กลุ่ม
ของตนเองคิดว่าตรงกับคำศัพท์ของภาษาที่ตนได้รับ
๑๐.๒ กลุ่มเจ้าของภาษานั้น ๆ จะต้องต้อนรับ “ทูตภาษา” โดยการตรวจสอบคำศัพท์ว่า เป็นคำยืม
ที่มาจากภาษาของกลุ่มตนเองหรือไม่
๑๐.๓ เจ้าของภาษาและทูตภาษาเจริญสันถวไมตรี ด้วยการสื่อสาร แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับ
คำศัพท์เป็นเวลา ๑ นาที
๑๑. นักเรียนทำกิจกรรม “ทูตภาษา”
๑๒. เมื่อหมดเวลาเจริญสันถวไมตรีแล้ว ครูทำหน้าที่เสมือน “สื่อมวลชน” ไปสัมภาษณ์ “ทูตภาษา” และ
“เจ้าของภาษา” ในประเด็นดังต่อไปนี้
- คำศัพท์ที่ “ทูตภาษา” ได้รับ
- ใช้วิธีการใดจำแนกว่าเป็นคำยืมในภาษาดังกล่าว
๑๓. นักเรียนและครูร่วมกันตรวจสอบความถูกต้องของคำตอบในใบกิจกรรม “ทูตภาษา”
ขั้นสรุป (๑๐ นาที)
๑๔. หลังเสร็จสิ้นการทำกิจกรรม นักเรียนตอบคำถามกระตุ้นความคิดในแอปพลิเคชัน padlet ดังนี้
- จากกิจกรรม “เซียมซีภาษา” นักเรียนมีหลักในการสังเกตคำยืมภาษาต่างประเทศในภาษาไทย
อย่างไร และยกตัวอย่างคำศัพท์ประกอบการอธิบาย
- จากกิจกรรม “รหัสลับ ดาวินชี” หรือ “เซียมซีภาษา” หรือ “บัตรคำปริศนา” หรือ “ทูตภาษา”
นักเรียนได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติม นอกจากเรื่อง การจำแนกคำยืมภาษาต่างประเทศในภาษาไทยบ้าง
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!