รูปแบบการจัดการเรียนรู้วรรณคดีโดยบูรณาการศิลปะ โดย ผศ.ดร.บุษบา บัวสมบูรณ์ ผู้ดำเนินการวิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ วรรณคดีโดยบูรณาการศิลปะ
โดยข้าพเจ้าได้นำรูปแบบการจัดการเรียนรู้นี้ไปใช้สอนวรรณคดีเรื่อง ทุกข์ของชาวนาในบทกวี (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ )
กิจกรรมการเรียนรู้
ชั่วโมงที่ ๑
ขั้นที่ ๑ ประมวลสาร
๑. นักเรียนทำกิจกรรม “ข้าว” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
๑.๑ นักเรียนรับกระดาษโน้ตที่ครูคนละ ๑ ใบ
๑.๒ นักเรียนเขียนอะไรลงในกระดาษโน้ตก็ได้แต่สิ่งนั้นจะต้องเกี่ยวกับ “ข้าว”
๑.๓ นำกระดาษโน้ตติดหน้ากระดานหน้าห้อง
๑.๔ ครูสอบถามเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงของคำที่นักเรียนเขียนมาว่ามีความเกี่ยวข้องกับข้าวอย่างไร
๑.๕ ครูเชื่อมโยงให้เห็นว่าข้าวเป็นสิ่งที่สำคัญและไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวของนักเรียน
๒. นักเรียนและครูอภิปรายแกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันในประเด็น “ที่มาของทุกข์ของชาวนาในบทกวี” ผ่าน
โปรแกรมนำเสนอภาพนิ่ง เรื่อง ทุกข์ของชาวนาในบทกวี
๓. นักเรียนทำกิจกรรม “สารความคิดจิตรภูมิศักดิ์” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
๓.๑ นักเรียนกลับเข้ากลุ่มเดิมของตน
๓.๒ นักเรียนรับบทประพันธ์จากวรรณกรรมเรื่อง ทุกข์ของชาวนาในบทกวี
๓.๓ นักเรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันถอดบทประพันธ์ที่กลุ่มของตนเองได้รับ
๓.๔ นักเรียนวาดภาพที่ได้จากการแปลบทประพันธ์ที่กลุ่มของตนเองได้รับ
๓.๕ นักเรียนนำเสนอการแปลความและตีความจากกิจกรรม “สารความคิดจิตรภูมิศักดิ์”
๓.๖ นักเรียนโพสต์ผลงานของตนบนนิทรรศการออนไลน์ผ่านโปรแกรม padlet เพื่อให้เพื่อนที่มีความสนใจมาศึกษาเพิ่มเติมนอกเวลาเรียนได้
๔. นักเรียนและครูร่วมกันอภิปรายตอบคำถามเพิ่มเติม
ชั่วโมงที่ ๒
ขั้นที่ ๒ บูรณาการศิลป์
๑. นักเรียนอ่านเพื่อตีความเปรียบเทียบการอ่านกับประสาทสัมผัสที่เห็น ได้ยิน และรู้สึก ผ่านกิจกรรม สารจากความคิดจิตรภูมิศักดิ์ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
๑.๑ นักเรียนฟังเพลง เปิบข้าว ลิงก์เพลง : youtube.com/watch?v=TBlHMD2CW9c
๑.๒ ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายว่า “เมื่อฟังเพลงดังกล่าวทำให้เราเข้าใจบทประพันธ์ของจิตร ภูมิศักดิ์ เพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร”
๑.๓ ครูแจกบทประพันธ์ เปิบข้าว ของ จิตร ภูมิศักดิ์ และให้นักเรียนร่วมกันวิเคราะห์คุณค่าวรรณศิลป์
๑.๔ ครูและนักเรียนร่วมกันพินิจความคิดผ่านการอภิปรายในหัวข้อ “เปิบข้าวสารที่จิตรต้องการสื่อ”
ขั้นตอนที่ ๓ กำเนิดงานสร้างสรรค์
๑.นักเรียนเลือกบทที่กระทบใจนักเรียนมากที่สุดจากบทกวีที่อ่าน (เลือกได้มากกว่า ๑ บท)
๒.นักเรียนนำบทประพันธ์ที่สนใจมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะประเภทต่าง ๆ เช่น วรรณรูป ภาพวาด บทเพลงบทกลอน ฯลฯ ซึ่งนักเรียนจะต้องศึกษาบทประพันธ์ในบทที่ตนสนใจอย่างละเอียดก่อนที่จะนำมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ
๓.นักเรียนเขียนเรียงความอธิบายงานศิลปะของตนในหัวข้อ “ศิลป์ของฉัน”
หมายเหตุ : ในขั้นที่ ๓ สามารถให้เป็นภาระงานของนักเรียนได้โดยผ่านการอธิบายในขั้นตอนที่ ๒ บูรณาการศิลป์ เนื่องจากงานศิลปะบางประเภทต้องใช้เวลาในการทำ
ชั่วโมงที่ ๓
ขั้นตอนที่ ๔ แบ่งปันความคิด
๑. นักเรียนทำกิจกรรม “เสนอสารผ่านงานศิลป์” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
๑.๑ ครูเปิดตัวอย่างการตีความเชื่อมโยงความรู้ทางวรรณกรรมมาประยุกต์เป็นงานศิลปะ
๑.๑.๑ ชื่อวิดีโอ สองใจ [เพลงจากละครวันทอง] - ดา เอ็นโดรฟิน
ลิงก์วิดีโอ : youtube.com/watch?v=Ei1XTuWjoa8
๑.๑.๒ ชื่อวิดีโอ Thailand’s Got Talent Season 5 Semi-Final (สะบัดลาย)
ลิงก์วิดีโอ : youtube.com/watch?v=HiDWgE8QaCA
๑.๒ นักเรียนนำเสนอผลงานศิลปะของตนเองโดยจะต้องกล่าวถึง บทประพันธ์ที่เลือก ที่มาของผลงาน
การตีความบทประพันธ์ ความรู้อื่น ๆ ที่นำมาเชื่อมโยง
๒. นักเรียนทำกิจกรรม “ศิลปะศิลปินศิลป์โดนใจ” โดยมีรายละเอียดดังนี้
๒.๑ นักเรียนเลือกผลงานศิลปะที่ตนเองชอบ ๑ ผลงาน
๒.๒ เขียนเหตุผลที่ตนเองชอบผลงานชิ้นนั้น ๆ
๓. นักเรียนร่วมกันอภิปรายสรุปในหัวข้อ “ศิลป์ส่องทางให้แก่กัน : ความรู้ทางวรรณคดีที่ได้เพิ่มเติมจากการสร้างงานศิลป์”
การวัดและประเมินผล : วัดและประเมินผลตามสภาพจริงไม่มุ่งเน้นไปที่การประเมินผลงานศิลปะโดยขึ้นอยู่กับ เกณฑ์ความงาม แต่ให้นักเรียนอธิบายแรงบันดาลใจที่มีในการสร้างงานและความหมายของผลงาน ผ่านการเขียนและการพูด
ผลการจัดการเรียนรู้ : นักเรียนได้ศึกษาเรียนรู้วรรณคดีอย่างลึกซึ่งด้วยตนเอง โดยมีครูให้ความช่วยเหลือนักเรียนเป็นระยะ เช่น การตั้งประเด็นคำถามเพื่อให้นักเรียนเห็นประเด็นการอภิปรายเกี่ยวกับลักษณะพื้นฐานของวรรณคดี นักเรียนเข้าใจวรรณคดีและได้ใช้เวลาอยู่กับวรรณคดีมากยิ่งขึ้น(ตอนทำงานศิลป์) สนุกสนานและและมีมุมมองเกี่ยวกับวรรณคดีที่น่าสนใจซึ่งนักเรียนได้จากการหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสร้างงานศิลป์
ผลงานของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศิลปากร (มัธยมศึกษา)
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!