icon
giftClose
profile

ความหมายของบอร์ดเกม

ปัจจุบันมีความนิยมในการใช้บอร์ดเกม(Board Game) หรือเกมกระดานกันมากขึ้น โดยแต่ละเกมมีลักษณะเฉพาะเจาะจงของตนเอง และมีอุปกรณ์ที่มีความหลากหลายแตกต่างกัน วัตถุประสงค์ในการใช้บอร์ดเกมอาจใช้เพื่อความบันเทิง ความสัมพันธ์ หรือ ใช้เพื่อการเรียนรู้ โดยการนำบอร์ดเกมไปใช้ในด้านวิชาการศึกษานั้นจำเป็นต้องทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับบอร์ดเกม ซึ่งการใช้คำจำกัดความของบอร์ดเกมอย่างไร จะนำไปสู่นิยามเชิงปฏิบัติการในการทำงานด้านวิชาการอย่างนั้น ๆ ในบทความออนไลน์นี้ เน้นการนิยามความหมายของคำว่า “บอร์ดเกม” ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการสืบค้นสำหรับผู้สนใจในการศึกษาด้านบอร์ดเกมในอนาคต โดยมีรายละเอียด ดังนี้


ความหมายของบอร์ดเกม

รัชนีวรรณ ตั้งภักดี (2565) ให้ความหมายว่า บอร์ดเกม (board game) หมายถึง เกมประเภทหนึ่งที่ใช้ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ มาผนวกกับกลไกของเกม มีกฎและกติกาที่มีความซับซ้อนหลากหลายรูปแบบมาให้ผู้เล่นได้วางแผนใช้ความสามารถในเชิงกลยุทธ์ หรืออาจใช้โชคดวงในการเล่นเกมผสมผสานร่วมด้วย มักมีรูปลักษณ์ที่น่าสนใจมีความสวยงามดึงดูดใจทำให้อยากลองเล่น บอร์ดเกมมักผลิตจากวัสดุสิ่งพิมพ์ทั้งสองมิตและสามมิติที่จับต้องได้จนถึงปัจจุบัน ที่มีการพัฒนาเป็นแบบดิจิทัล สามารถเล่นออนไลน์ผ่านเว็บไซต์แอปพลิเคชันและอัปเดตเกมใหม่ ๆ ได้อย่างสะดวกสบาย บอร์ดเกมมีความแตกต่างจากเกมทั่วไปในการสร้างกฎที่สามารถจำลองสถานการณ์ได้หลากหลาย

รักชน พุทธรังษี (2560) ให้ความหมายว่า บอร์ดเกม (board game) หมายถึง เกมประเภท เล่นบนโต๊ะทั้งหมด โดยอาจเล่นโดยใช้กระดานหรือไม่ใช้กระดานก็ได้ ต้องเล่นโดยมีปฏิสัมพันธ์แบบเผชิญหน้า มีอุปกรณ์การเล่นที่ออกแบบตามรูปแบบเฉพาะของเกมนั้น

ฐิติพล ขำประถม (2558) ให้ความหมายว่า บอร์ดเกม (board game) หมายถึง เกมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อความบันเทิงอย่างหนึ่ง มีหลายประเภท หลายรูปแบบ เป็นเกมที่ใช้การ์ด หรือใช้ชิ้นส่วนหรือตัวหมากวางไว้บนพื้นที่เล่น เครื่องที่บนพื้นที่เล่นหรือหยิบออกจากพื้นที่เล่น มีทั้งแบบที่มีกติกาง่ายๆ จนถึงเกมที่มีกติกาซับซ้อน ต้องใช้แผนการหรือกลยุทธ์เข้าช่วย โดยพื้นที่เล่นเปรียบได้กับกระดาน ซึ่งจะมีรูปภาพหรือรูปแบบเฉพาะเกมนั้น ๆ

เจียรนัย ธนูธรรมาคุณ (2564) เกมกระดาน หรือ บอร์ดเกม ( Board Game ) คือเกมที่ต้องใช้ชิ้นส่วนหรือตัวหมากวางไว้บนพื้นที่เล่น เคลื่อนที่หรือหยิบออกจากพื้นที่เล่น พื้นที่เล่นเปรียบได้กับ "กระดาน" ซึ่งจะมีพื้นผิวหรือรูปภาพเฉพาะสำหรับเกมนั้น ๆ เกมกระดานอาจเป็นเกมที่ใช้ความสามารถในเชิงกลยุทธ์หรือใช้โชคหรือดวงเป็นส่วนประกอบก็ได้จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า วัฒนธรรมการเล่นเกมกระดานมีมาแล้วตั้งแต่อย่างน้อยสามพันปีก่อนคริสตกาล โดยมีการเล่นเกมกระดานในอียิปต์โบราณและในอารยธรรมแถบเมโสโปเตเมีย

จิรกรณ์ ศิริประเสริฐ (2541) ) ให้ความหมายว่า เกมกระดาน หมายถึง เกมการศึกษาในรูปแบบหนึ่ง โดยมีลักษณะเป็นการใช้สถานการณ์จำลอง ที่ประกอบด้วย กฎ กติกา วิธีการเล่น และมีจำนวนผู้เล่นทั้งแบบคนเดียวและแบบกลุ่ม อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้เรียนได้มีความสุขกับการเรียน และสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนในการพัฒนาการเรียนรู้

Greg Costikyan (1994) ให้ความหมายว่า บอร์ดเกม (board game) หมายถึง เกมประเภทที่ใช้การเล่นแบบกายภาพ โดยมีทั้งกระดานและอุปกรณ์ ซึ่งถึงแม้ว่าในปัจจุบันการเล่นเกมบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตหรือการเล่นแบบออนไลน์จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถึงอย่างนั้นเกมกระดานหรือบอร์ดเกมที่แท้จริงจะต้องสามารถเล่นได้โดยไม่ต้องอาศัยระบบออนไลน์

(Brathwaite (Brathwaite & Schreiber, 2009; Hinebaugh, 2009) ให้ความหมายว่า บอร์ดเกม (board game) หมายถึง บอร์ดเกม (Board Games) จะมีแผ่นกระดานที่ผู้เล่นสามารถเข้าร่วมเล่นกับผู้เล่นคนอื่น ๆ ได้ โดยมักจะมีหมากนับแต้ม (token) หรือ ตัวเดินหมาก (avatar) แทนตัวผู้เล่น บอร์ดเกมประกอบด้วยกฎกติกาที่เฉพาะเจาะจงสำหรับบอร์ดเกมนั้น ๆ เช่น จำนวนผู้เล่นที่สามารถเล่นได้ จำนวนของพื้นที่บนกระดาน หรือ ความเป็นไปได้ในการเคลื่อนตำแหน่งไปสู่การจบเกม บอร์ดเกมส่วนใหญ่จะใช้ลูกเต๋า หรือการ์ดไพ่ ที่จะให้ข้อมูลหรือผลลัพธ์ของเกม โดยมากบอร์ดเกมมักใช้ผู้เล่นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ผู้เล่นจะต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้เล่นคนอื่น ๆ เพื่อการเรียนรู้

Hinebaugh (2009) ให้ความหมายว่า บอร์ดเกม (board game) หมายถึง เกมประเภทหนึ่ง 

ซึ่งบอร์ดเกมสมัยโบราณ (Classic board game) มีมายาวนานมากกว่า 1,000 ปี เช่น ในประเทศจีน อินเดีย ญี่ปุ่น ฯลฯ ซึ่งจุดประสงค์ในการเล่นเพื่อเป็นกิจกรรมยามว่างของคนในสมัยก่อน เช่น หมากรุก โกะ ฯลฯ ในปัจจุบันได้มีการนําบอร์ดเกมมาใช้ในแวดวงการศึกษามากขึ้น โดยนําบอรดเกมเข้ามาบูรณาการกับหลักสูตรของสถานศึกษา เช่น การนําหมากฮอสมาสอนนักเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นในประเทศรัสเซียและเนเธอร์แลนด์การนําหมากรุกมาใช้ในหลักสูตรของโรงเรียนกว่า 40 ประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อาร์เจนตินา ญี่ปุ่น ฯลฯ การนําเกมเศรษฐี (Monopoly) และเกม Checkers มาสอนในวิชาคณิตศาสตร์ในโรงเรียนหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา หรือการนํา Scrabbles มาสอนคําศัพท์ในวิชาภาษาในโรงเรียนกว่า 1,600 แห่ง ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ทั้งในคาบเรียนและกิจกรรมชมรม

Wise GREEK (2015) ให้ความหมายว่า บอร์ดเกม (board game) หมายถึง เกมที่มีผู้เล่นตั้งแต่สองคนขึ้นไป มีการกำหนดพื้นที่ในการเล่น โดยมีเบี้ย หิน ลูกเต๋า การ์ด หรือ ชิ้นส่วนอื่นๆ นำมาใช้ในการเล่มเกม โดยเกมกระดานได้ขุดค้นพบทางโบราณคดีใกล้ประเทศจอร์แดน เมื่อประมาณ 7,000 ปี

Hunsuker (2016) ให้ความหมายว่า บอร์ดเกม (board game) หมายถึง ชุดของวัตถุเชิงกายภาพที่มีความสัมพันธ์กับระบบของเกม โดยมีการควบคุมปฏิสัมพันธ์ของผู้เข้าร่วมที่อาจมีร่วมกัน

 Silverman (2013) ให้ความหมายว่า บอร์ดเกม (board game) หมายถึง เกมประเภทหนึ่งที่สร้างจากการใช้กระดานวาดลวดลาย รวมถึงใช้ลูกเต๋าเพื่อสร้างเงื่อนไขการเล่นให้ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน จากนั้นก็เปลี่ยนไปและมีความหลากหลายในรูปแบบและการเล่นตามการสร้างสรรค์ของผู้ออกแบบ


สรุปความหมายของบอร์ดเกม

บอร์ดเกม(Board Game) หรือ เกมกระดาน เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเล่นของมนุษย์ที่มีมาตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน บรรดานักออกแบบเกม นักวิชาการและนักวิจัยคนต่างๆได้ให้ความหมาย ไว้แตกต่างกัน โดยสรุปกลุ่มความหมาย และวิเคราะห์ได้ดังนี้

  1. ความหมายเชิงวัตถุ บอร์ดเกมมีความหมายเชื่อมโยงกับอุปกรณ์การเล่น ได้แก่ การอธิบายถึงโต๊ะที่เล่น อุปกรณ์การเล่นต่างๆ ที่หลากหลายรูปแบบ มีทั้งหมากตัวเดิน การ์ด ลูกเต๋าลูกเต๋า และอุปกรณ์ต่าง ๆ มักผลิตจากวัสดุสิ่งพิมพ์ทั้งสองมิติและสามมิติที่สามารถจับต้องได้
  2. ความหมายเชิงความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่น บอร์ดเกมเป็นเกมที่มีปฏิสัมพันธ์แบบเผชิญหน้า(Face to Face) ระหว่างผู้เล่น โดยส่วนใหญ่มักมีมีจำนวนผู้เล่นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ปฏิสัมพันธ์ดังกล่าว อาจจะมีทั้ง ในด้านของการเรียนรู้ และด้านของการเล่น เพื่อความบันเทิง และปฏิสัมพันธ์ดังกล่าว อาจจะมีทั้งลักษณะของการใช้ระบบออนไลน์และไม่ได้ใช้ระบบออนไลน์
  3. ความหมายเชิงกติกาการเล่น บอร์ดเกมเป็นเกมที่มีกติกาที่ออกแบบมาเฉพาะในเกมนั้นๆ ซึ่งแต่ละเกมจะมีกติกาแตกต่างกัน โดยกติกามีความสัมพันธ์กันกับอุปกรณ์ ระดับของความยากง่ายมีตั้งแต่กติกาที่ง่ายจนถึงกติกาที่มีความซับซ้อนโดยต้องใช้แผนหรือกลยุทธ์เข้าช่วย หรือมีการใช้ดวงเข้ามาเป็นกติกาในเกม หรือ อาจมีการผสมผสานกติกาหลายแบบไว้ด้วยกัน
  4. ความหมายเชิงประวัติศาสตร์ บอร์ดเกมเป็นเกมที่ปรากฏอยู่ในร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของสังคมต่างๆในทุกยุคสมัย เช่น เกมหมากรุก เกมเศรษฐี และเกมแบคเกมอน โดยกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ที่บ่งบอกถึง ลักษณะการละเล่นของคน ในประวัติศาสตร์ของทุกชนชาติ

จากประสบการณ์ในการออกแบบและพัฒนาบอร์ดเกมของผู้เขียน ให้คำจำกัดความของบอร์ดเกมว่า 

บอร์ดเกม หมายถึง เกมการละเล่นที่มีอุปกรณ์และกติกาอย่างเฉพาะเจาะจงตามวัตถุประสงค์ในการออกแบบเกม โดยอุปกรณ์มักใช้กระดานเกม การ์ดเกม ลูกเต๋า ไทล์เกม และเหรียญเกม เป็นต้น โดยมีกติกาในการเล่นตั้งแต่ระดับง่ายจนถึงระดับยาก ซึ่งสามารถใช้เทคนิคการเล่นได้หลายแบบ เช่น การวางแผน การใช้กลยุทธ์ การใช้ดวง และเทคนิคอื่น ๆ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของเกมได้ตามที่กติกากำหนดไว้


ธีระวุฒิ ศรีมังคละ (ผู้เขียน)

-------------------------------------------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง

จิรกรณ์ ศิริประเสริฐ. (2541). ความแตกต่างทางเพศในเกมและกิจกรรมพลศึกษาสำหรับเด็ก. วารสารวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและกีฬา. 2 (1), 79-85

เจียรนัย ธนูธรรมาคุณ. (2564). การออกแบบเรขศิลป์เพื่อแบรนด์บอร์ดเกมที่สอดแทรกความรู้สำหรับเจเนอเรชันวาย. (ปริญญามหาบัณฑิต), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ฐิติพล ขำประถม. (2558). “บอร์ดเกม” ธุรกิจแนวใหม่ที่กำลังเติบโต. เข้าถึงได้จาก https://www.komchadluek.net/news/kom-kid/204681 (วันที่เข้าถึง 13 มกราคม 2566)

รักชน พุทธรังษี. (2560). การประยุกต์ใช้บอร์ดเกมเพื่อพัฒนาทักษะสื่อสารการแสดง. (ปริญญามหาบัณฑิต), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

รัชนีวรรณ ตั้งภักดี. (2565). การพัฒนารูปแบบการสร้างบอร์ดเกมเพื่อการศึกษาในประเทศไทย. วารสารศึกษาศาสตร์ มสธ, 119.

Brathwaite, B., & Schreiber, I. (2009). Challenges for Game Designers: Non-digital Exercises for Video Game Designers.

Greg, Costikyan. (2004). I Have No Words & I Must Design: Toward a Critical Vocabulary for Games. เข้าถึงได้จาก http://www.digra.org/digital-library/publications/i-have-no-words-i-must-design-toward-a-critical-vocabulary-for-games/ (วันที่เข้าถึง 13 มกราคม 2566)

Hinebaugh, J. P. (2009). A board game education. R&L Education.

Hunsucker, A., I. (2 0 1 6 ) . Board games as a platform for collaborative learning. (Research Report). เข้าถึงได้จาก researchgate.net/publication/309385174_Board_ Games_as_a_Platform_For_Collaborative_Learning/link/580cda1b08ae2cb3a5e3a394/download (วันที่เข้าถึง 13 มกราคม 2566)

Silverman, D. (2013). How to learn board game design and development. Massachusetts: McGraw - Hill.

Wise GREEK. (2015). What is a Board Game?. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: sportsnhobbies.org/what-is-a-board-game.htm#did (วันที่เข้าถึง 13 มกราคม 2566)

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(3)
เก็บไว้อ่าน
(6)