icon
giftClose
profile

เชฟพิซซ่า กับ การหารไม่ลงตัว

39807
ภาพประกอบไอเดีย เชฟพิซซ่า กับ การหารไม่ลงตัว

สัปดาห์ก่อนหน้านี้เด็กๆ ป.2 ได้ฝึกทำโจทย์การหารมาบ้างแล้ว กำลังจะอยู่ในเรื่องการหารไม่ลงตัว (มีเศษ)

และจากการทำแบบทดสอบย่อย เราสังเกตว่านักเรียนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจการหารแบบไม่ลงตัว

ยึดติดกับวิธีการว่า จะต้องหารลงตัวตามเลขที่มีตามแม่สูตรคูณเท่านั้น

จนลืมว่าหลักการของ การหารคือการแบ่งสิ่งที่เป็นกลุ่มใหญ่ออกเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละเท่าๆ กัน

ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนเริ่มตึงเครียด นักเรียนหลายคนรู้สึกว่าตัวเองทำไม่ได้

เลยเป็นที่มาของกิจกรรม “เชฟพิซซ่า กับ การหารไม่ลงตัว”


เราเตรียมดินน้ำมันสำหรับใช้เป็นแผ่นแป้ง และใช้เมล็ดถั่วเขียวเป็นส่วนเครื่องหน้าพิซซ่า

แล้วกำหนดโจทย์การหารเพื่อให้แต่ละคนไปหยิบวัตถุดิบตามโจทย์กำหนด




หลังจากหยิบวัตถุดิบเรียบร้อย แต่ละคนก็จัดการลงมือนวดแป้ง ปั้นแป้ง และตกแต่งหน้าพิซซ่า หารตามโจทย์ที่ได้รับ ตอนแรกกะไว้ว่าจะให้เด็กๆ ทำกันเป็นทีม แต่มานั่งคิดแล้วว่า ดินน้ำมันกับเด็กอะเนอะ ใครจะอดใจไหว 😂

ผลงานแต่ละคนก็ออกมาอย่างที่เห็นเล้ย


คุณครูอาจจะต้องกำหนดเวลานับถอยหลังให้นักเรียนได้เห็นด้วยให้เขาได้บริหารจัดการเวลา ไม่เล่นเพลิน เด็กๆ บอกครูเร่งเหมือนรายการมาสเตอร์เชฟเลย คิคิ








*แก้ไขเพิ่มเติม


จากเมื่อวานนี้ที่เราให้เด็ก ๆ ทำกิจกรรมเชฟพิซซ่ากับการหารไม่ลงตัวแล้ว วันถัดมาเราเริ่มต้นคาบโดยให้โจทย์ในใบงานแล้วให้นักเรียนวาดแบ่งเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละเท่าๆ กัน (จำลองภาพการจัดถาดพิซซ่า) แล้วถอดคำตอบออกมาเป็นจำนวน และโจทย์ข้อถัดๆ ไป เราเหลือพื้นที่ไว้แค่ให้เติมตัวเลขเท่านั้น


ซึ่งในตอนที่วาดภาพจัดกลุ่ม เราถามคำถามเพื่อตรวจสอบความเข้าใจ

เช่น

  • อ้าว? นี่ยังเหลืออยู่นะ ทำไมไม่เอาไปใส่ให้กลุ่มอื่น ก็ได้คำตอบจากเด็ก ๆ ว่า มันไม่พอสำหรับทุกกลุ่ม ถ้าใส่ไปจะทำให้แต่ละกลุ่มได้ “ไม่เท่ากัน”
  • ( 16 หาร 3 ) แล้วเราแบ่งให้ทุกกลุ่ม 6 ได้ไหม นักเรียนก็บอกว่าไม่ได้ครับ มันมีไม่พอ


วันนี้นักเรียนของเราสามารถคำนวณการหารไม่ลงตัวได้แล้ว เลยมาเขียนสะท้อนเพิ่มเติมว่าอะไรที่เปลี่ยนไป แล้วทำให้นักเรียนแก้โจทย์ได้

  1. อย่างแรกเลย การใช้ถั่วแทนจำนวน แล้วเอามาจัดกลุ่มในพิซซ่าแต่ละถาด วิธีการนี้ทำให้นักเรียนได้เห็นภาพ เป็นรูปธรรมของการแบ่งที่ไม่ลงตัว การเหลือเศษ ว่าเป็นสิ่งสามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งมันก็คือเรื่องเดียวกันกับการหารไม่ลงตัวนั่นแหละ จากเดิมที่นักเรียนอาจไม่เข้าใจว่าเศษ 1 เศษ 2 มาจากไหน เมล็ดถั่วที่เหลือที่เด็กๆ เห็นด้วยตา ยืนยันการมีตัวตนของเศษ ว่ามันสำคัญ เป็นส่วนนึงที่เขาเองต้องใส่ใจ
  2. จากเดิมที่นักเรียนใช้ตารางสูตรคูณเป็นเหมือนคำตอบตายตัว และเมื่อไม่มีตัวเลขที่ตรงกับตัวตั้ง หมายความว่า ผิด, ทำไม่ได้, ล้มเหลว, ไม่มีคำตอบ ตอนนี้เด็กๆใช้ตารางสูตรคูณเป็นเพียงตัวช่วย ที่ทำให้เขาสามารถจัดกลุ่มได้ง่ายขึ้น การแบ่งแล้วเหลือเศษ เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ไม่ใช่ความผิดพลาดล้มเหลวของเขา
  3. เดิมทีเวลาที่นักเรียนดูตารางสูตรคูณ อย่างถ้าโจทย์ให้ 16 หาร 3 นักเรียนบางคนจะให้คำตอบมาว่า “3 x 6 ได้ 18 เติม 6 ได้ไหม” พอได้ทำพิซซ่าแล้ว ทำให้นักเรียนเข้าใจข้อจำกัดตรงนี้ว่าทำไมถึงได้แค่ 5 (3 x 5 = 15) ทำไมต้องเลือกจำนวนที่น้อยกว่าตัวตั้ง

.

.

คุณครูท่านใดลองไปใช้ หรือเห็นอะไรนอกจากนี้ คอมเมนต์แลกเปลี่ยนกันได้นะคะ 💖💖



รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(3)
เก็บไว้อ่าน
(6)