icon
giftClose
profile

บันทึกภารกิจอ่านออกเขียนได้ โดยครูน้ำ-เบญจรัตน์ อุ่นทิม

6051
ภาพประกอบไอเดีย บันทึกภารกิจอ่านออกเขียนได้ โดยครูน้ำ-เบญจรัตน์ อุ่นทิม

หลังจากได้เข้าร่วมกิจกรรมวงคุยครูปล่อยของ Connect เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คุณครูต้องทำยังไงดี สิ่งแรกที่ครูน้ำ-เบญจรัตน์ อุ่นทิม เริ่มทำคือ กลับไปคุยกับครูในโรงเรียน ว่าเราไปเข้าร่วมกิจกรรมนี้มานะ ได้พูดคุยกับครูโรงเรียนอื่น เขาก็เจอปัญหาเหมือนเรา ไม่ใช่แค่โรงเรียนเราที่เจอปัญหานักเรียนพัฒนาการอ่านเขียนช้า ที่ไหนก็เจอเหมือนกัน เราบอกต่อวิธีการสังเกต วิธีการแก้ปัญหาของโรงเรียนอื่นที่ทำแล้วได้ผล จากนั้นก็ชวนเพื่อนครูที่โรงเรียนสังเกตนักเรียนเพิ่มขึ้น เราเองได้ฝึกสังเกตการจับดินสอของเด็กมากขึ้น ทำให้เห็นว่ามีนักเรียนที่จับดินสอผิดวิธีอยู่ จึงให้นักเรียนลองนำยางวงมาคล้องนิ้วไว้ เพื่อช่วยเรื่องการวางตำแหน่งนิ้วมือ เมื่อจับถูกท่า ก็ทำให้นักเรียนฝึกเขียนได้ดีขึ้น รู้ว่าต้องจับดินสอ หรือดินสอสียังไงให้ควบคุมดินสอได้ดีขึ้น

“เราสอนวิชาวิทยาศาสตร์กับทัศนศิลป์ ก็พยายามเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลองฝึกกล้ามเนื้ออยู่บ้าง แต่เนื่องจากเราไม่ใช่ครูประจำชั้น เจอนักเรียนวันละ 1 ชั่วโมง จึงไม่ได้ทำต่อเนื่องนัก จะเป็นการให้นักเรียนฝึกใช้กรรไกร ต่อฟองน้ำกับไม้จิ้มฟัน ต่อโซ่หมากเก็บแล้วให้เขาลองเล่น สิ่งที่ประหลาดใจมาก คือเด็กช่วงชั้นป. 1-3 ไม่เคยเล่นหมากเก็บ ไม่เคยเล่นเลย เราให้ลองโยนก็รับไม่ได้เลย เราก็ค่อยๆ ทำให้ดู เล่นให้ดูว่าจะต้องทำยังไงบ้าง” ครูน้ำเล่าให้ทีม insKru ฟัง


ออกแบบห้องเรียนให้เด็กได้เล่น

ครูน้ำออกแบบกิจกรรมให้มีแพทเทิร์นที่แน่นอน ทุกกลุ่มจะได้รับกล่องที่ภายในมีฟองน้ำและไม้จิ้มฟันอยู่ สิ่งแรกที่ทุกกลุ่มจะต้องทำคือ ให้ทุกคนช่วยกันนับว่าในกล่องมีอุปกรณ์กี่ชิ้น เมื่อนับจำนวนเรียบร้อย ก็จะเริ่มจากการต่อฟองน้ำที่หัวและท้ายของไม้จิ้มฟันเป็นรูปดัมเบล จากนั้นถามนักเรียนว่าต่อแล้วได้ทั้งหมดกี่ชิ้น จากนั้นให้ทุกกลุ่มเชื่อมดัมเบล 2 อันด้วยไม้จิ้มฟัน ให้เป็นทรงสี่เหลี่ยม แล้วถามอีกครั้งว่าต่อแล้วได้ทั้งหมดกี่ชิ้น จากนั้นนำทรงสี่เหลี่ยมทั้งหมดมาต่อรวมกัน เมื่อจบกิจกรรมให้นักเรียนช่วยกันแกะชิ้นฟองน้ำออกจากไม้จิ้มฟัน บรรจุใส่กล่องเหมือนเดิมในแต่ละสัปดาห์ ครูน้ำจะกำหนดให้นักเรียนต่อฟองน้ำเป็นทรงสามเหลี่ยม ทรงสี่เหลี่ยม ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องรูปร่าง รูปทรง และฝึกฝนทักษะทางวิทยาศาสตร์ เมื่อได้รับโจทย์ว่าจะต้องต่ออย่างไรให้สูง ต่ออย่างไรให้มั่นคง

กิจกรรมหมากเก็บ ก็เช่นเดียวกัน ครูน้ำจะนำโซ่พลาสติกมาวางให้นักเรียนต่อด้วยตัวเอง ทำให้นักเรียนได้ค่อยๆ ใช้มือฝึกต่อโซ่พลาสติกแต่ละข้อเข้าด้วยกัน “ป.3 ก็จะมีทักษะการโยนมากขึ้นหน่อย โยนแล้วรับได้ แต่จะได้ประมาณ 1 ครั้ง” เมื่อเล่นเสร็จแล้ว ครูน้ำก็จะให้นักเรียนแกะโซ่พลาสติกออกมาเป็นชิ้นเดี่ยวๆ อีกครั้ง

ด้วยธรรมชาติของนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้น ทำให้ครูน้ำต้องเข้าไปดูแลทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การสร้างข้อตกลงในการทำกิจกรรม ว่าใครจะเป็นคนเริ่มก่อน เรียงลำดับการเล่นได้อย่างไรบ้าง แต่การเป็นครูที่สอนนักเรียนคนเดียวทั้งชั้น จึงไม่สามารถประเมินทุกคนได้ในครั้งเดียว ใช้วิธีประเมิน 10 คนก่อนในวันนี้ วันต่อไปค่อยประเมินอีก 10 คน “เพราะในห้องจริงมันวุ่นวายมาก เราไม่สามารถยืนพูดหน้าห้องแล้วดูอย่างเดียวได้ ต้องเข้าไปทุกกลุ่ม จำลองการเล่นหมากเก็บ 10 กลุ่มก็ต้อง 10 รอบ หรือต่อให้ดูทีละอัน หรือไม่งั้นก็คิดว่าอาจจะต้องใช้กล้องบันทึกวิดีโอไว้ระหว่างสอน แล้วค่อยมาดูย้อนหลังอีกที”


เด็กสนุก ร่างกายพัฒนา

เด็กๆ ก็สนุกที่ได้ลองอะไรใหม่ๆ ได้รับรู้ว่าเขายังขาดบางทักษะ แล้วจะเรียนรู้เพิ่มเติมได้ยังไงบ้าง พอเขาลองแล้ว ฝึกแล้วทำได้ดีขึ้น เราก็จะชมระหว่างกิจกรรม เล่นให้ดูว่าต้องเวียนกันเล่น ผลัดกันเล่นยังไง เพราะเขาเองไม่ค่อยได้เรียนรู้แบบเป็นกลุ่มมากนัก เนื่องจากเราสอนวิทยาศาสตร์ เมื่อเห็นว่าเด็กยังเขียนไม่ค่อยได้ ก็จะปรับให้เขาตอบปากเปล่าแทน ว่ากิจกรรมนี้ได้ลองทำแล้วคิดเห็นยังไง การอ่านก็จะพยายามดึงความสนใจ ชวนให้คนที่พร้อมฝึกอ่าน ส่วนการเขียนก็ต้องยอมรับว่า เด็ก ป.2 เมื่อ 5 ปีที่แล้ว สามารถเขียนอธิบายให้เหตุผล 1 หน้ากระดาษสมุดได้ภายใน 1 ชั่วโมง แต่ปัจจุบัน เด็ก ป. 2 รุ่นนี้ เขียนได้แค่ 2 บรรทัด แต่เราไม่ได้บังคับให้เขาเขียนเป็นเรื่องเป็นราว จะให้ตอบปากเปล่าแทน ปัญหาสะกดคำก็มีอยู่บ้างแต่เราก็ไม่ได้ดุว่าทำไมเขียนไม่ได้ ให้ลองเขียนมาก่อน ถ้าเขียนไม่ได้ก็มาถามครู เขียนให้ดู ฝึกสะกดไปพร้อมกัน แต่ถ้ามีคนถามเกิน 3 คนก็จะเขียนคำนั้นไว้บนกระดานแทน

มากกว่าร่างกาย แต่ได้ฝึกทักษะสังคม

นอกเหนือจากเรื่องพัฒนาการทางกาย พัฒนาการทางสังคมก็เป็นสิ่งที่ครูน้ำสอดแทรกเข้าไปในกิจกรรมห้องเรียนเด็กเล่นด้วยเช่นกัน บางคนจะมีปัญหาเรื่องการตกลงกันกับเพื่อน ไม่รู้จะจัดการกันเองยังไง เราก็จะบอกประโยคตัวอย่างว่าหากเพื่อนในกลุ่มนี้มีคิวอยู่แล้ว เวลานักเรียนอยากเล่น ต้องขอเพื่อนยังไง ยกตัวอย่างให้เขาฟังว่า “เราอยากเล่นด้วย ต้องต่อคิวใคร” ถ้าจะชวนเพื่อนเล่น หรือเห็นเพื่อนไม่มีกลุ่มเล่น จะต้องพูดยังไง ต้องชวนเพื่อนว่า “เล่นกับเราไหม” บางครั้งก็ต้องสะกิดให้เรียกเพื่อนที่ไม่มีกลุ่มมาเล่นด้วยกัน ชวนว่ากลุ่มไหนใจดี เรียกเพื่อนมาเล่นด้วยไหม บางทีเล็งๆ เฉยๆ อยากให้เล่น แต่ก็เล็งกันไปเล็งกันมา”

“คุณครูต้องเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น และช่วยกันหาความรู้เรื่องนี้เพิ่มขึ้น โรงเรียนก็ต้องสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์ หรือคุยกับครูว่าจะจัดกิจกรรม แบ่งปันข้อมูลกับผู้ปกครองยังไง เพื่อให้พัฒนาการของเด็กๆ ได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง” ครูน้ำทิ้งท้ายด้วยความหวังถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นผลได้จริงผ่านพัฒนาการของนักเรียนทุกคน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(1)