icon
giftClose
profile

๔ส ; กระบวนการสอนผู้เรียนให้ออกแบบบอร์ดเกมรูปแบบโปรเจค

14592
ภาพประกอบไอเดีย ๔ส ; กระบวนการสอนผู้เรียนให้ออกแบบบอร์ดเกมรูปแบบโปรเจค

๔ส ; กระบวนการสอนผู้เรียนให้ออกแบบบอร์ดเกมรูปแบบโปรเจค

การใช้บอร์ดเกมเป็นนวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้โดยส่วนใหญ่เเล้วเป็นลักษณะที่ครูเป็นผู้ออกแบบและพัฒนาระบบเกม นำไปใช้กับผู้เรียนให้เกิดผลการเรียนรู้ตามที่คาดหวังไว้ทั้งในด้านพุทธิพิสัย ทักษะพิสัย จิตพิสัย สมรรถนะของผู้เรียน และด้านอื่น ๆ จะเกิดอะไรขึ้นหากในทางตรงกันข้าม ครูสามารถให้นักเรียนออกแบบและพัฒนาเกมเเล้วให้ครูและเพื่อนๆได้ลองเล่น ครูอาจได้ผลัพธ์ต่อผู้เรียนหลายประการ เนื่องจากผู้เรียนได้ใช้กระบวนการของ STEM Education and Art Designer อย่างเต็มศักยภาพ ผู้เขียนเคยเขียน เรื่อง STEM & Board Game (ที่นี่) โดยในบันทึกนี้เป็นการถอดบทเรียนของผู้เขียนในการพานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ออกแบบและพัฒนาบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้เป็นกลุ่ม เนื้อหาเกี่ยวกับประเทศในอาเซียน โดยเลือกหัวข้อตามความสนใจของผู้เรียน หลังจากที่พานักเรียนลองผิด ลองถูก ผ่านกระบวนการในหลายขั้นตอน จนนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 6 ได้ผลงานบอร์ดเกมของตนเองออกมาได้อย่างมีคุณภาพทั้งในด้านเนื้อหา ด้านระบบเกม และด้านภาพประกอบเกม มีกระบวนการที่สรุปย่อเป็น ๔ส ได้แก่ ส๑ ; สร้างแรงบันดาลใจ, ส๒ ; สร้างความรู้, ส๓ ; สร้างเกม, ส๔ ; เสนอเกม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ส๑ ; สร้างแรงบันดาลใจ

  • การสร้างแรงบันดาลใจเน้นที่การที่ครูใช้บอร์ดเกมในการสอนผู้เรียนในรายวิชา ระหว่างการนำเกมไปใช้ควรใช้จิตวิทยาเชิงบวก เสริมแรงผู้เรียนในการเล่นบอร์ดเกมเพื่อให้เกิดเจตคติที่ต่อการเรียนรู้ด้วยบอร์ดเกม ครูมีบทบาทสำคัญในการพานักเรียนเล่นโดยกระตุ้นให้เกิดความสุข ความสนุก ระหว่างการเล่นเพื่อเรียนรู้ "หากนักเรียนไม่อยากเล่น คือ ไม่เล่น จะเล่นเมื่อนักเรียนปราถนาที่จะเล่น" จึงจะเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ด้วยบอร์ดเกม
  • ชวนนักเรียนเล่นเกมที่หลากหลายทั้งเป็นบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้และบอร์ดเกมตามท้องตลาดทั่วไป ให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ของการเล่นเกมที่หลากหลาย(ประสบการณ์ดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งในกระบวนการสร้างความรู้ใน ส๒) เนื่องจากหากนักเรียนมีประสบการณ์ที่หลากหลายรูปแบบ และหลากหลายแนวเกม ในขั้นของการเชื่อมโยงเน้นที่ความคิดสร้างสรรค์และการเชื่อมโยง ผู้เรียนมักจะเชื่อมโยงระบบของเกม เพื่อนำไปสู่ระบบเกมแบบใหม่ได้ไม่ยากนัก

ส๒ ; สร้างความรู้

  • ครูสอนความรู้เกี่ยวกับบอร์ดเกม โดยใช้กิจกรรมบรรยายและถอดบทเรียนจากการเล่นบอร์ดเกม ผู้เขียนเคยทำเอกสารประกอบการอบรมบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้สำหรับครูที่สนใจไว้ (ที่นี่) เพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นถึงภาพรวมและองค์ประกอบของความเป็นบอร์ดเกม ในขั้นนี้เน้นที่ให้ผู้เรียนทราบถึงความหมาย ประเภท และโครงสร้างของบอร์ดเกมอย่างง่าย และเน้นที่การถอดจากประสบการณ์ของนักเรียน เช่น เชื่อมโยงโครงสร้างเกมที่คุณครูเคยพาเล่น นักเรียนเคยเล่น ชวนถอดบทเรียนออกมาเป็นเทคนิคของเกม จะช่วยให้ผู้เรียนได้เห็นภาพย่อยเเละภาพรวมของบอร์ดเกมมากขึ้น
  • เขียนโครงร่างบอร์ดเกม ในขั้นนี้หากมีแบบฟอร์มให้นักเรียนเขียนนักเรียนอาจไม่สามารถเเสดงความคิดได้เต็มที่ แต่หากกำหนดประเด็นการเขียนให้นักเรียนง่าย ๆ จะสามารถเขียนเชื่อมโยงระบบเกมออกมาได้ โดยประเด็นที่เขียนโครงร่างเกม มีประเด็น ได้แก่ ชื่อเกม เนื้อหาของเกม อุปกรณ์ในเกม วิธีการเล่นเกมเบื้องต้น และการจบเกม ระหว่างการเขียนโครงร่างเกม ครูมีบทบาทในการให้คำปรึกษานักเรียน โดยแนะนำแนวทางการพัฒนาตามแนวเกมที่นักเรียนได้เลือกไว้เเล้ว

ส๓ ; สร้างเกม

  • ออกแบบระบบของบอร์ดเกม โดยนำวิธีการเล่นของแต่ละกลุ่มออกมาขยาย เน้นที่การมองเห็นความสัมพันธ์ในเชิงระบบ (ใช้แนวคิดเชิงระบบ) ให้ผู้เรียนมองเห็นความเชื่อมโยง อาจชวนนักเรียนสร้างผังมโนทัศน์ที่มีลูกศรแสดงความสัมพันธ์ และการนำเกมหนึ่งเกม หรือหลายเกมมาต่อยอดเเละรวมไว้ด้วยกัน ในขั้นนี้เป็นขั้นที่คิดสร้างสรรค์และเชื่อมโยง หากผู้เรียนเกิดปัญหาในด้านของความรู้ด้านบอร์ดเกม เทคนิคบอร์ดเกม และปัญหาอื่น ๆ จำเป็นจะต้องทบทวนความรู้ ความเข้าใจเรื่องนั้นใหม่ เพื่อแก้ไขระบบของเกมให้ออกมาเล่นได้อย่างสมดุล เมื่อออกแบบและทดสอบระบบในระยะพอสมควรเเล้ว จึงนำไปสู่การออกแบบภาพประกอบเกม
  • ออกแบบภาพประกอบเกม(Artwork) ครูสอนการออกแบบพื้นฐานผ่านโปรแกรมที่นักเรียนสามารถทำได้ง่ายและที่นักเรียนสนใจ (ต้องง่ายสำหรับนักเรียน) โดยผู้เขียนใช้ Canva สำหรับทำบอร์ดเกมการ์ดเกม เหรียญ และอื่น ๆ เพื่อการพิมพ์ ภาพประเกมใช้ Dream.ai, Canva, และ Ibispaint ในการออกแบบภาพประกอบเกมครูสอนเสริมด้านเทคนิคการใช้สี สัดส่วนของภาพ และองค์ประกอบศิลป์ในงานออกแบบ
  • ทดสอบระบบเกม ในการทดสอบระบบให้นักเรียนทุกกลุ่มทำการทดสอบระบบเกมในกลุ่มของตนเองก่อน จากนั้นหากเกิดข้อบกพร่องจุดใดในด้านภาพประกอบเกม ให้นำไปแก้ไขภาพประกอบเกมใหม่อีกครั้ง จนกว่าเกมจะสมดุลในด้านระบบของเกมและเงื่อนไขการเรียนรู้ ครูมีบทบาทเข้าไปเล่นเกมของทุกกลุ่มให้ข้อเสนอแนะ และอาจเกิดให้เพื่อน ๆ เเละน้อง ๆ ชั้นอื่นมาร่วมทดสอบระบบเกมด้วยเพื่อให้นักเรียนกลุ่มพัฒนาบอร์ดเกมได้แก้ไขข้อบกพร่องของเกม(Bugs) ได้อย่างรอบด้าน

ส๔ ; เสนอเกม

  • จัดกิจกรรมเพื่อนำเสนอผลงานบอร์ดเกมผลงานของนักเรียน โดยให้แต่ละกลุ่มจัดบูธบอร์ดเกมผลงานของตัวเอง โดยมีเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ในโรงเรียนได้ลองเล่นบอร์ดเกมของเเต่ละกลุ่ม ในกิจกรรมนี้อาจมีรางวัลในการประกวดบอร์ดเกมร่วมด้วย
  • ครูเเละนักเรียนมีบทบาทในการประเมินเพื่อการพัฒนาและต่อยอดผลงานบอร์ดเกมของนักเรียน
  • การประเมินเพื่อให้คะแนนผลงานของนักเรียน นอกจากการให้คะแนนในวิชาหลักเเล้ว ควรเป็นการให้คะแนนในหลายวิชา เนื่องจากโปรเจคนี้ใช้ความสามารถหลายศาสตร์ ได้แก่ ภาษาไทย(การใช้ภาษาเขียนเพื่อการสื่อสาร) ภาษาอังกฤษ(การใช้คำภาษาต่างประเทศในเกม) คอมพิวเตอร์(การใช้คอมพิวเตอร์เพื่องานออกแบบ) ศิลปะ(องค์ประกอบศิลป์ในงานออกแบบดิจิทัลและสิ่งพิมพ์) วิทยากรคำนวน(การสร้างระบบ Unplug Coding ในบอร์ดเกม) การงานอาชีพ(การปฏิบัติกิจกรรมร่วมกัน) และวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

กระบวนการทั้ง ๔ส มีหัวใจสำคัญ คือ การใช้จิตวิทยาเชิงบวก การตั้งคำถามกระตุ้นการคิด การที่ครูช่วยนักเรียนแก้ไขปัญหาในทุกด้าน และการสอนการคิดเชิงระบบ จึงจะสามารถพาผู้เรียนทำโปรเจคเกมได้ออกมาอย่างเต็มศักยภาพของผู้เรียนในทุกด้าน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(3)
เก็บไว้อ่าน
(1)