ผมครูเบนซ์ (อ.ชิดชนก ภู่เพ็ชร์) จากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครับ และนี่จะเป็นบทความแรกของผมเลย ฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับ... ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่าไอเดียนี้เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของครูทั้งหมด 6 ท่าน (ซึ่งจะกล่าวถึงในย่อหน้าสุดท้ายของบทความนี้) ที่ได้ร่วมระดมความคิด และตกผลึกออกมาเป็นกิจกรรมนี้ และถ้าทุกท่านพร้อมแล้ว ไปดูกันเลย!!!
กิจกรรมนี้เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างเพื่อนครูในโครงการ "ก่อการครู รุ่นที่ 4 โมดูลที่ 2 : ครูคือกระบวนกร" ซึ่งผมเองคิดว่าเป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างน่าสนใจ และสามารถเอาไปใช้จัดกิจกรรมกันได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์เยอะ จึงอยากนำมาแชร์กันครับ
ภาพที่ 1 แผนผังการออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้
แนวคิดในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้นี้คือ การมุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้จากสภาพจริง โดยนำเอาสิ่งที่อยู่รอบตัวของนักเรียนมาตั้งแกนเป็นประเด็นหลัก และเชื่อมโยงไปสู่เนื้อหาในรายวิชา แต่จะโฟกัสไปที่ผลลัพธ์ที่เป็นสมรรถนะที่เกิดขึ้นเป็นสำคัญมากกว่าเนื้อหา อย่างกิจกรรมนี้ได้นำเอาเรื่องของพิธีกรรมทางศาสนาและปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่นักเรียนพบเจอ มาเชื่อมโยงไปสู่เนื้อหาในรายวิชาหลากหลายแขนง และจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้สะท้อนทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและความคิดสร้างสรรค์ออกมา
ภาพที่ 2 ภาพอุปกรณ์ประกอบการจัดกิจกรรม
แบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน ได้แก่ Intro, Simulate, Learn, Conclusion, Apply
1. intro : นำเข้าสู่บทเรียนด้วยการให้นักเรียนหยิบดอกไม้คละสีก่อนเข้าห้อง เพื่อสร้างบรรยากาศให้คล้ายการเข้าสู่พิธีกรรมทางศาสนาเกี่ยวกับผู้ล่วงลับ โดยให้นักเรียนเก็บดอกไม้ไว้ให้ดีจนจบคาบ จากนั้นครูผู้สอนให้นักเรียนหลับตา และให้จินตนาการว่าตนเองเป็นบุคคลธรรมดาที่อาจจะนับถือหรือไม่นับถือศาสนาก็ได้ แล้วตั้งคำถามกับนักเรียนว่า "หลังจากลืมตา นักเรียนมองเห็นอะไรในภาพเหล่านี้?" ครูไล่เปิดทีละภาพให้นักเรียนได้ยกมือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ภาพที่ 3 ตัวอย่างสไลด์ประกอบขั้น Intro
2. Simulate : เมื่อครูให้นักเรียนได้สะท้อนความคิดจนครบทุกภาพลแล้ว จากนั้นครูให้นักเรียนหลับตาอีกครั้ง และให้นักเรียนจินตนาการว่าตนเองเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผู้ที่มองเห็นสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญมากเหนือสิ่งอื่นใด มากกว่าการสูญเสีย หรือแม้กระทั่งการละทิ้งศาสนา แล้วให้สะท้อนภาพเดิมอีกครั้ง โดยการยกมือตอบก่อนจะนำเข้าสู่ช่วงถัดไป
ภาพที่ 4 ตัวอย่างสไลด์ประกอบขั้น Simulate
3. Learn : ครูให้นักเรียนแบ่งกลุ่มตามสีของดอกไม้ที่นักเรียนหยิบขึ้นมาเมื่อต้นคาบ แจกอุปกรณ์กระดาษฟลิบชาร์จและเครื่องเขียนให้กับทุกกลุ่ม จากนั้นให้โจทย์กับนักเรียนว่า "หากนักเรียนเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผู้ซึ่งเป็นนวัตกรแห่งโลกอนาคต จะเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการศพหรือเปลี่ยนแปลงพิธีกรรมทางศาสนาอย่างไร ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม?" ให้เวลานักเรียน 15 - 30 นาที ในการระดมความคิดเพื่อออกแบบนวัตกรรมการจัดการศัพหรือพิธีกรรมทางศาสนาผ่านการตั้งคำถาม 3 คำถาม ได้แก่ What - จะทำอะไร?, Who - ทำเพื่อใคร?, How - ทำอย่างไร? ซึ่งหากนักเรียนยังมองภาพไม่ออก ครูสามารถเปิดตัวอย่างการออกแบบฟลิบชาร์ตให้กับนักเรียนได้ (ดังภาพ)
ภาพที่ 5-6 ตัวอย่างสไลด์ประกอบขั้น Learn
ภาพที่ 7 ภาพกิจกรรมในขั้น Learn
4. Conclusion : ครูให้นักเรียนออกมานำเสนอผลงานออกแบบนวัตกรรมการจัดการศพหรือพิธีกรรมทางศาสนาที่กลุ่มตนเองไปพัฒนาขึ้น ผ่านการอาสาหรือสุ่มอย่างง่าย ซึ่งยังไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นที่มีต่อผลงานกันและกันในช่วงนี้
ภาพที่ 8 ภาพกิจกรรมในขั้น Conclusion
5. Apply : เมื่อนำเสนอเสร็จแล้ว ครูให้นักเรียนทุกคนหลับตาอีกครั้ง เพื่อสลัดคราบของนวัตกรนักอนุรักษ์แวดล้อมออก ครูเดินแจกธนบัตรเงินปลอมให้กับนักเรียนคนละ 1-2 ธนบัตร จากนั้นมอบสถานะ "นักธุรกิจ" ให้กับนักเรียน นักธุรกิจผู้ซึ่งมองเห็นถึงความเป็นไปได้ และความคุ้มค่าในการลงทุน จากนั้นครูให้โจทย์กับนักเรียนว่า "ให้นักเรียนเลือกผลงานที่น่าลงทุนที่สุดในฐานะนักธุรกิจ โดยนำธนบัตรไปวางหรือแปะที่ผลงานที่เลือกลงทุน" จากนั้นครูทำการนับคะแนนและสรุปผลผู้ชนะในกิจกรรมนี้ ครูให้นักเรียนสะท้อนผลร่วมว่าทำไมไอเดียนี้ถึงชนะ และไอเดียอื่นๆมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร (ซึ่งครูพยายามชี้แนะนักเรียนถึงคุณลักษณะของนักธุรกิจ ว่าจะต้องสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยน และน้อมรับข้อเสนอแนะได้อย่างจริงใจ)
ภาพที่ 9 ภาพการโหวตสุดยอดไอเดียในกิจกรรมขั้น Apply
และสุดท้าย... ก่อนจะจบกิจกรรม ครูนำกระดาษที่วาดรูปบุคคล และระบุวันชาตะ-มรณะคล้ายภาพหน้าโลงศพ มาวางไว้ที่กลางวงสนทนาของนักเรียน จากนั้นให้นักเรียนเขียนความรู้สึก หรือสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมนี้ลงในดอกไม้หลากสีนักเรียนหยิบขึ้นมาตั้งแต่ต้นคาบ และเมื่อเขียนเสร็จแล้วให้นักเรียนนำมาวางไว้บนรูปวาดผู้วายชนกลางห้องเรียน เป็นอันเสร็จสิ้นกิจกรรม...
ภาพที่ 10 ภาพการวางดอกไม้สะท้อนความรู้สึกเห็นท้ายคาบเรียน
เป็นยังไงกันบ้างครับ? กับไอเดียการจัดการเรียนการสอนที่ผมได้นำมาแชร์กันในวันนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณโครงการก่อการครู โมดูล 2 : ครู คือกระบวนกร ที่ได้ให้พื้นที่ให้ครูมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการเรียนการสอนในสภาพจริง และขอบคุณครูน้อย ครูนนท์ ครูหวาน ครูแมน ครูชมพู และครูเบนซ์ แห่งกลุ่มสีเขียวคลอโรฟีล ที่ได้ร่วมกันคิดกิจกรรมนี้ขึ้น เพื่อเป็นแนวทางกิจกรรมดี ๆ ให้กับครูท่านอื่น ๆ ปรบมืออออ!!!!!!
หากมีข้อสงสัยส่วนไหนเพิ่มเติม หรือมีส่วนใดที่อธิบายขาดไป สามารถทักมาพูดคุยกันได้เลยนะครับ ขอบคุณสำหรับการติดตาม ไว้มาแบ่งปันไอเดียกันใหม่นะครับ สวัสดีครับ ^^
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!