ที่มาของคาบนี้ เนื่องจากเราได้มีโอกาสสอนวิชาประวัติศาสตร์ เพราะคุณครูประจำวิชาไปแข่งขันศิลปหัตถกรรม และช่วงนี้นักเรียนชั้นป.2 กำลังเรียนเรื่องการอ่านปฏิทิน วิชาคณิตศาสตร์ด้วย เลยอยากออกแบบกิจกรรมธีมนักสืบที่ให้นักเรียนได้สังเกต สืบค้น ซักถาม เพื่อหาหลักฐาน เชื่อมโยงกับความรู้การอ่านปฏิทินที่นักเรียนได้เรียนกันมาแล้ว เลยออกมาเป็น
.
ภารกิจข้ามเวลาไขปริศนา
.
.
เริ่มต้นให้นักเรียนแบ่งกลุ่มเป็นทีมนักสืบ โดยคุณครูรับบทเป็นหัวหน้าหน่วยสืบ ก่อนที่จะเริ่มภารกิจ หัวหน้าหน่วยสืบได้ทบทวนความเข้าใจของทั้งสองทีม ให้ลองช่วยกัน อธิบายความหมาย อดีต ปัจจุบัน อนาคตว่าคืออะไร อันไหนเกิดก่อนเกิดหลัง เราจะรู้ได้ยังไงบ้าง พื้นฐานตรงนี้ทีมนักสืบของเราบอกความหมาย ตอบได้ผ่านฉลุย ✅
.
.
ขั้นที่สอง เราได้มอบข้อมูลภารกิจทั้งหมดให้กับทีมนักสืบ เป็นกระดาษที่บอกข้อมูลและที่สำคัญจะต้องมีวันที่ / เดือน / ปี อยู่ในนั้น เช่น “วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2536เป็นวันเกิดของคุณครูส้มโอ”, “แต้มในใบเสร็จนี้จะหมดอายุในปี 2565”, “หนังสือภาษาไทยป.2 เล่มสีส้ม พิมพ์เดือน เมษายน 2566”, “อาคารนี้สร้างในปีพ.ศ. 2521” เป็นต้น ให้นักสืบแต่ละทีมลองช่วยกันอ่าน แล้วเรียงลำดับเวลาเหตุการณ์ที่เกิดก่อน-เกิดหลัง จากนั้นเขียนหมายเลขลำดับลงไปในกระดาษ
.
.
ขั้นที่สาม หลังจากที่เรียงเสร็จแล้ว เราก็โยนคำถามว่า “นักสืบทั้งสองทีม คุณคิดว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่อยู่ในกระดาษนี้เป็นเรื่องจริง หรือไม่จริง” เด็กๆ ตอบอย่างมั่นใจ “จริง!” แต่พอหันมาเจอสีหน้าคุณครูที่ไม่ตอบสนอง เสียงในห้องก็เริ่มแตก “ไม่จริง” “จริง อันนี้จริง ครูเพิ่งเล่าไป จำไม่ได้หรอ” 555555555 สนุกมาก เอาล่ะ คำถามถัดไปคือ “แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า อันไหนจริงไม่จริง” “ครูครับต้องไปถาม” “งั้นมาลองดูทีละภารกิจไหม”
ในแต่ละภารกิจนักเรียนก็ช่วยกันตั้งเป้าหมายที่จะไปตามหาข้อพิสูจน์ตามนี้ค่ะ
มีภารกิจข้อนึงที่บอกข้อมูลวันเกิดของเรา แต่เด็กๆ บอกว่า “หัวหน้าครับ ครูส้มโอไม่อยู่ ผมจะถามได้ไง” เลยให้ช่วยกันคิดว่าจะดูวันเกิดคุณครูได้จากไหนอีก…จนมาออกที่บัตรประชาชน
และด้วยข้อจำกัดเรื่องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หัวหน้าหน่วยสืบเลยเตรียมหลักฐานบางส่วนไว้ให้ทีมนักสืบช่วยกันหาข้อเท็จจริง
.
.
.
.
หลังจากพิจารณาหลักฐานแล้ว ก็ให้นักสืบสรุปว่าข้อมูลไหนจริง ไม่จริง มีตรงไหนที่ไม่ถูกต้อง
.
.
.
เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจของทั้งสองทีม ชวนสรุปกันอีกนิดหน่อยว่า อะไรบ้างที่ช่วยให้เรารู้ว่าข้อมูลนี้เป็นเรื่องจริง/ไม่จริง
“ไปถามคนที่รู้”
“ดูใบเสร็จ”
“ดูปฏิทิน”
“ดูบัตรประชาชน”
“ดูวันผลิตข้างซองขนม”
“หรือเราจะเรียก สิ่งต่างๆ ที่ใช้พิสูจน์พวกนี้ว่า หลักฐาน ก็ได้”
ได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมนี้บ้าง
“จะต้องดูปฏิทินให้เป็น ไม่งั้นก็ไม่รู้”
“อย่าเพิ่งเชื่อเลย ต้องไปดูก่อน”
“ครูค้าบ ต้องมีหมายค้นนะ จะไปค้นบ้านคนอื่นต้องมีหมายค้นด้วย”
โอเคๆ ยอดเยี่ยมมาก หัวหน้าหน่วยสืบขอจบภารกิจไว้เพียงเท่านี้ สวัสดี ✅ 💖
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!