วันที่ 12 ธันวาคม 2565 เวลา 19.00-20.30 น.
insKru ชวนชวน อาจารย์ปู-ผศ.อัมพร ศรประสิทธิ์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โค้ชการพัฒนาเด็กปฐมวัย (อนุบาล - ป.3) ในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และครูนก-จรรยารักษ์ สมัตถะ โรงเรียนวัดมุจลินทวาปี วิหาร (เพชรานุกูลกิจ) มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวทาง บอกต่อแนวคิดที่จะนำไปปรับใช้ในห้องเรียนได้ ผ่านมุมมองพัฒนาการร่างกายและการเรียนรู้ (ฐานกาย)
การเขียน การอ่าน ก็คือการเรียนรู้ของเด็ก
อาจารย์ปูกล่าวทักทายผู้เข้าร่วมทุกคนซึ่งประกอบด้วยครูประถม ครูมัธยม ครูอนุบาล ผู้บริหารโรงเรียน อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ ผู้ปกครอง ย้ำว่าทุกคนเกี่ยวกับการพัฒนาของเด็กทั้งสิ้น เริ่มต้นจากชวนให้ผู้เข้าร่วมวงคุยช่วยกันเล่าพฤติกรรมของเด็กๆ จากประสบการณ์ที่พบเจอมา ครูใหม่ที่เพิ่งเริ่มสอนได้เพียง 1 เดือนเล่าว่า นักเรียนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ จะไม่มีสมาธิขณะที่ครูสอน เขียนหนังสือได้ประมาณ 3-4 ตัว ยังไม่เสร็จก็จะหยุดไปสะกิดเพื่อน หยอกเพื่อน ครูอีกคนเล่าว่าอยู่ในโรงเรียนขยายโอกาส มีการคัดกรองเด็กอ่านไม่คล่องด้วยชุดคำเหมือนกันทุกระดับชั้น หากนักเรียนอ่านได้ไม่ถึง 25 คำจาก 50 คำก็จะต้องเรียนซ่อมเสริม นักเรียนมัธยมที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ บางคนเขียนไม่เป็นตัวหนังสือ เมื่อซักถามว่าคือตัวอักษรอะไร นักเรียนก็ตอบไม่ได้เช่นกัน ส่วนใหญ่มักมีพื้นฐานอาการ LD หรือ IQ ไม่ถึงเกณฑ์ แต่แพทย์ให้เรียนร่วมได้ โดยตั้งข้อสังเกตว่าอาจเพราะการเรียนออนไลน์ทำให้นักเรียนมัธยมไม่คุ้นเคยกับการเขียน เพราะใช้การพิมพ์ข้อความตอบเป็นส่วนใหญ่ ครูอีกคนเล่าถึงข้อสังเกตของตัวเองที่พบเห็นว่า นักเรียนนั่งเรียนนานๆ ไม่ได้ จับดินสอด้วยท่าที่ไม่เคยเจอมาก่อน บางคนจำตัวอักษรสับสนกัน ผสมเสียง ผันเสียงไม่คล่อง เขียนตกหล่น ลายคนมีปัญหาเรื่องการเรียน อ่านไม่ได้ เขียนนานๆ ไม่ไหว ไม่มีแรงจูงใจที่จะอ่านหรือเขียน
อาจารย์ปูชวนผู้เข้าร่วมวงคุยทุกคนลองใช้มือข้างที่ไม่ถนัด เขียนชื่อตัวเองแล้วลองสังเกตตัวเองว่าเราใช้ส่วนใดของร่างกายบ้างเพื่อให้สามารถเขียนได้ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่าไม่ใช่เพียงนิ้วมือ ข้อมือ เท่านั้น แต่เวลาเขียนหนังสือต้องอาศัยกระดูกสันหลังในการทรงตัวด้วย เพื่อให้รองรับการเขียนได้ "เวลาเขียนหนังสือเราใช้ทั้งกระดูก และข้อด้วย ไม่ใช่แค่กล้ามเนื้ออย่างเดียว ท่านั่งต้องได้ สะโพก ขาก็ต้องซัพพอร์ตท่านั่งของเราให้มั่นคง การเขียนตัวอักษรตัวเดียวต้องใช้ทุกส่วนของร่างกาย สมอง กระดูก ข้อ ระบบประสาทสัมผัส การทรงตัว
จากนั้นอธิบายถึงความสำคัญของพัฒนาการฐานกาย เป็นฐานแรกที่ทำให้มนุษย์คนหนึ่งรับรู้ว่าตัวเองมีชีวิตอยู่ ฐานกายคือฐานการรับรู้โลกรอบตัว ฐานกายคือฐานที่เป็นจุดกำเนิดของกลไกและกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องใช้ตลอดชีวิต
กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในฐานกาย
1) สิ่งต่างๆ รอบตัวกระตุ้นการรับรู้ผ่านอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย
2) การรับรู้ด้วยประสาทรับความรู้สึก 7 ช่องทาง ส่งสัญญาณไปยังสมอง
3) สมองสร้างวงจรประสาท ประมวลผล ส่งสัญญาณไปยังอวัยวะต่างๆ
4) พฤติกรรมการแสดงออก ตอบสนองของฐานกายในลักษณะต่างๆ
"สังเกตไหมคะเด็กเล็กๆ อยู่ไม่นิ่งเลย เขาใช้ฐานกายตลอดเวลา เพราะเขาต้องเรียนรู้ ร่างกายเป็นตัวสะท้อนความพร้อมและประสิทธิภาพของการเรียนรู้ การจับดินสอเป็นเพียงส่วนน้อยนิดที่สะท้อนความไม่พร้อมของส่วนต่างๆ ในร่างกาย ที่คุณครูบอกว่าเขาไม่อยากเรียน ไม่อยากทำ พอเขาไม่ยอมทำเราก็บอกว่าเขาขี้เกียจ มันมีสาเหตุ พอเขาบอกว่าทำไม่ได้ เขาทำไม่ได้จริงๆ เพราะเขาไม่พร้อม" อาจารย์ปูย้ำให้เห็นว่า การพัฒนาฐานกายแทบจะเป็นสิ่งเดียวกันกับการเรียนรู้ของมนุษย์ช่วงปฐมวัย เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นไปตามลำดับขั้น ไม่กระโดดข้ามขั้น พัฒนาใดที่ยังไม่ได้เกิดข้ึนในช่วงปฐมวัย พัฒนาการต่อไปก็จะไม่เกิดขึ้น การกระตุ้นพัฒนาการอย่างถูกต้อง เพียงพอ และต่อเนื่องจึงจำเป็นมาก
"โควิดเป็นตัวเปิดเผยให้เราเห็นว่าสิ่งนี้สำคัญต่อการเรียนรู้อย่างมาก เราอาจจะไม่ได้ใส่ใจมันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ทั้งที่อาการทางกายเหล่านี้เกิดขึ้นมานานมากแล้ว ดังนั้นในตอนนี้เมื่อตรวจพบแล้ว ก็ต้องออกแบบกิจกรรมให้เขา ไม่ใช่ต้องไปนั่งเคี่ยวเข็ญ คัดลายมือ 50 รอบ จิตใจและอารมณ์เขามันไม่รับ พัฒนาการสี่ด้านต้องมาด้วยกัน ถ้าร่างกายทำได้ ก็จะมั่นใจในตัวเอง อารมณ์ จิตใจก็จะมั่นคง เมื่อจิตใจมั่นคงก็อยากเรียนรู้ เพราะบางทีร่างกายพร้อม แต่อารมณ์จิตใจไม่พร้อมก็เรียนรู้ไม่ได้ การเรียนรู้ต้องประกอบกันทุกด้าน ร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา"
ตัวอย่างกิจกรรมสนุกกับการเล่น เรียนไปโดยไม่รู้ตัว
ครูนกเล่าว่า ภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2565 ที่ผ่านมา ได้ใช้เวลาทดลองให้นักเรียนร่วมกิจกรรมพัฒนาฐานกายทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง 30 นาทีในตอนบ่าย โดยจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ในพื้นที่อาคารอเนกประสงค์ซึ่งจัดเป็นฐานต่างๆ ไว้ ให้นักเรียนจับกลุ่มสลับกันไปเล่น โดยมีการกำหนดกติการในการเล่น กติกาในการเรียนควบคู่ไปด้วย ใช้เวลา 1 เดือนตั้งแต่ปลายเทอม 1 แล้ว จนถึงเริ่มเปิดเทอม 2 เป็นเวลากว่า 2 เดือนที่ทำกิจกรรมฐานกายอย่างต่อเนื่อง นักเรียนเกิดการเรียนรู้ว่าตัวเองควรวางตัวอย่างไร ควรทำตัวยังไง หาวิธีจดจำ มีทักษะสังเกตมากยิ่งขึ้นทุกคน "เราสอนเขียนพยัญชนะ นักเรียนจะสังเกตว่าเราเริ่มจากตรงไหน การสังเกตจะทำให้เขาแก้ปัญหาได้ดีขึ้น จากที่ความจำสั้น สอนแล้วลืม แต่การได้ฝึกทักษะ สังเกต ตั้งคำถาม หาข้อมูล ฝึกฝน สรุปความรู้อยู่บ่อยๆ ก็ทำให้เขาเกิดทักษะ เกิดการเรียนรู้ดีขึ้นทุกวิชา แต่จะต้องสังเกตพัฒนาการของเขาตลอด ถ้าเขาเบื่อ หรือทำกิจกรรมเดิมได้แล้วก็ต้องเพิ่มความท้าทายของเขาไปอีก ครูต้องจดบันทึกไว้ด้วย ว่าเด็กคนนี้มีพัฒนาการยังไง ต้องสังเกตให้ละเอียดถึงการควบคุมอารมณ์ การเล่นกับเพื่อน การทำงานกลุ่ม จากที่ทำมา 2 เดือน สามารถแก้ปัญหาเกือบทุกอย่างที่เคยเจอมา เด็กที่ขาดเรียนบ่อยๆ ก็มาโรงเรียน เด็กที่ป่วยบ่อยๆ เมื่อออกกำลังกายก็แข็งแรงขึ้น กินข้าวได้มากขึ้น ภาวะทุพโภชนาการก็น้อยลง" ครูนกเสริมต่อไปอีกว่าผลจากการที่ได้จัดกิจกรรมพัฒนาฐานกายของนักเรียน ไม่ได้เพียงทำให้การเรียนการสอนดีขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว ด้านระเบียบวินัยก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น นักเรียนมีความกล้าแสดงออกมากขึ้นเพราะมีความมั่นใจมากขึ้น "เขาบอกว่า จากการที่เล่นแล้วชนะ เล่นแล้วทำได้ ก็เลยมั่นใจในตัวเองยิ่งขึ้น" ความมั่นใจจากการทำกิจกรรมได้ ทำกิจกรรมผ่าน ส่งผลต่อการรับมือสถานการณ์เฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี ครูนกยกตัวอย่างถึงนักเรียนชั้น ป.2 ที่ต้องไปประกวดร้องเพลง ซึ่งฝึกร้องเพลงพร้อมเสียงดนตรี แต่เมื่อถึงเวลาแข่งขันจริงบนเวทีกลับไม่มีดนตรีเปิดให้ แต่นักเรียนก็ปรับการร้องให้สามารถแข่งขันได้จนจบ
จากที่ครูนกกล่าวมา ทำให้เห็นว่า Self Esteem ที่งอกเงยขึ้นจากความมั่นใจในร่างกายของตัวนักเรียนเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พร้อมเรียนรู้สิ่งที่ท้าทาย ไว้วางใจตัวเอง ประเมินตัวเองได้ กระบวนการเล่นทำให้แต่ละคนต้องประเมินตัวเองและยอมรับความสามารถคนอื่นไปพร้อมกัน เนื่องจากออกแบบให้ทำกิจกรรมพัฒนาฐานกายแบบเป็นทีม ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้จากเพื่อนไปพร้อมกันเรียนรู้ตัวเอง (Co-Constructive Learning) อาจารย์ปูช่วยเสริมว่า "การเรียนรู้จากเพื่อน ว่าเราทำแบบนี้แล้วสำเร็จ แต่เพื่อนทำอีกแบบก็สำเร็จเหมือนกัน เห็นความหลากหลายในวิธีคิดของเพื่อน แล้วไปพัฒนาเป็นวิธีคิดของตัวเอง เขามั่นใจว่าเขาคิดได้ เดี๋ยวเขาก็ทำได้ เหมือนที่เคยประสบความสำเร็จในการเล่น ไว้วางใจศักยภาพการเล่นของตัวเองได้ ขณะเดียวกันก็ประเมินตัวเองได้ด้วย ความจำใช้งาน ประยุกต์ใช้สถานการณ์ใหม่ การคิดยืดหยุ่น การกำกับตัวเอง มาหมดเลย แค่มีฐานกายเป็นตัวตั้ง เขาไว้วางใจตัวเอง ฉันพึ่งมือ สมอง ขา ตัวฉันเองได้ ในบริบทต่างๆ นี่คือจุดสำคัญที่ควรจะให้มีติดตัวมนุษย์ทุกคนไป เพราะเป็นสิ่งที่ในยุคศตวรรษที่ 21 เขาเติบโตในโลกที่คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้เลย เราถึงเห็นอาชีพใหม่ๆ วิธีคิดใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะแยะเลย ต้องมีจิตใจนักสู้ มีความคิดสร้างสรรค์ การเห็นเพื่อนทำแล้วลองทำแบบของตัวเอง ความคิดสร้างสรรค์จะถูกทำให้ตื่นขึ้น ความเป็นนวัตกรก็จะมากขึ้น เพราะเขาจะไม่เลียนแบบ ไม่คิดแบบเดิม คิดอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา"
ครูสอนชั้นมัธยมร่วมสะท้อนว่า หากเปรียบเทียบดู เด็ก ม.1 ปัจจุบัน เป็นเด็ก ป.4 ที่เจอโควิดไป 2 ปี "จริงๆ แล้วพวกเขาก็คือเด็ก ป.4 ที่ไม่รู้ว่าผ่านอะไรมาบ้าง จู่ๆ ก็โตมานั่งเรียนห้อง ม.1 เลย ครูคนอื่นๆ ก็จะคิดว่าเด็กมัธยมต้องสอนเขาแบบจริงจัง แต่เขาปรับตัวไม่ทัน เด็กของหนูจะอยู่ไม่สุข ชอบวิ่ง ชอบวาดรูป ชอบกระโดดโลดเต้น ชอบใช้กำลังกาย ถ้าครูคนอื่นก็จะมองว่าทำไมเด็ก ม.1 มันอยู่ไม่สุข ไม่เรียบร้อย มันก็เป็นธรรมชาติของเขา เราก็ต้องมานั่งคิดว่าจะต้องทำกิจกรรมหรืออะไรสักอย่างที่สอดคล้องกับธรรมชาติของเขา บางทีอาจจะเหมาะกับการเรียนรู้ของเขามากขึ้นก็ได้"
อาจารย์ทิ้งท้ายเพิ่มเติมสำหรับคุณครูที่สอนนักเรียนชั้นมัธยมที่ยังอ่านเขียนไม่คล่อง ว่าลองออกแบบการสอนให้เป็นสถานการณ์เรียนรู้ ลองสร้างสถานการณ์ต่างๆ ให้เด็กได้ลองเรียนรู้ผ่านประสบการณ์แต่ก็สามารถเล่นไปด้วยได้ โดยชวนให้คุณครูไม่ลืมว่า หน้าที่ของครูคือ ต้องฟังเด็กให้มาก ครูจะเป็นโค้ช เป็นกระบวนกรจัดการเรียนรู้ได้ ต้องเชื่อมั่น ไว้วางใจเด็ก อย่าไปมีภาพสำเร็จรูปว่าเด็กของฉันต้องเป็นแบบนี้ๆ ชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน เขาอาจจะไปได้ไกลกว่าภาพที่เราวางก็ได้ ต้องเชื่อมั่นว่าเด็กเขามีวิถีของเขา แต่เราจะทำยังไงให้เขาเติบโตแล้วค้นพบวิถีของเขาเอง
*ใครอ่านบันทึกนี้แล้วสนใจศึกษาเพิ่มเติม ตามไปอ่านรายงานฉบับพิเศษห้องเรียนฟื้นฟูหลังโควิด-19 ภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้และแนวทางฟื้นฟูให้ดีขึ้นได้ใน 14 วัน ประสบการณ์จากโรงเรียนพัฒนาตนเอง ได้ที่ลิงก์นี้เลย https://creativeschools.eef.or.th/article-201022
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!