icon
giftClose
profile

2475 "ชิงสุกก่อนห่าม" หรือ "ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์"

20731
ภาพประกอบไอเดีย 2475 "ชิงสุกก่อนห่าม" หรือ "ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์"

2475 "ชิงสุกก่อนห่าม" หรือ "ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์"

.

นโยบายกระทรวงออกมาเน้นการสอนประวัติศาสตร์ ครูที่แสนดีอย่างผมก็ต้องสนองนโยบายหน่อย

ความท้าทายของวิชาประวัติศาสตร์มัธยมคือคาบเรียนที่น้อย เนื้อหาที่เยอะ ตัวชี้วัดที่มุ่งไปทางปลูกฝังมากกว่าการพัฒนาทักษะการคิดเชิงประวัติศาสตร์ และกระบวนการใช้เหตุผล

.

หลังจากที่พูดคุยกันถึงการก่อร่างสร้างตัวและสังคมสยามสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปแล้ว ก็ถึงหมุดหมายที่สำคัญคือ "การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475"

.

นักเรียนส่วนใหญ่เคยได้ยินได้ฟังเพลง "ในหลวงของแผ่นดิน" จากละครเวที "สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคคัล" ผมใช้ตัวอย่างละครเวที พร้อมกับเล่าบริบทของตัวแม่พลอย นำนักเรียนเข้าสู่บทเรียน ด้วยคำถามที่ว่า "จากบทประพันธ์สี่แผ่นดินที่เราได้เห็นในละครเวที เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญใดบ้าง และบทสนทนากับเพลงในเรื่องสะท้อนถึงอุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์แบบใด"

.

นักเรียนในเกือบทุกห้องสังเกตจากฉาก จากคำพูดของตัวละคร ก็ช่วยกันคาดเดาเหตุการณ์ในเรื่องได้ และยังอภิปรายได้อีกว่าตัวละครแม่พลอยนั้นนิยมเจ้า และจงรักภักดีสถาบันกษัตริย์สุดหัวใจ และมองเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสิ่งชั่วร้าย การยึดอำนาจรัฐบาลกษัตริย์นั้นเป็นศัตรูของแผ่นดิน ซึ่งแม้ว่าเป็นแค่ตัวอย่าง 4 นาที ก็เห็นใจความสำคัญของเรื่องได้อย่างชัดเจน

.

จากนั้นเราก็นำมาสู่ข้อถกเถียงว่า 2475 เป็นการ "ชิงสุกก่อนห่าม" หรือ "ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์" โดยชวนคุยว่า มันมีสองแนวความคิด คือฝ่ายต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เชื่อว่า อำนาจอธิปไตยควรเป็นของกษัตริย์ กษัตริย์เตรียมพร้อมที่จะมอบอำนาจให้ประชาชน และคนที่ขึ้นมายึดอำนาจเป็นแค่ส่วนน้อย ทำเพื่อประโยชน์ตัวเอง

.

แต่ในอีกด้านหนึ่งที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงบอกว่า อำนาจควรเป็นของทุกคน กษัตริย์ไม่มีทีท่าจะมอบอำนาจหรือเตรียมความพร้อมสังคมประชาธิปไตยจริงๆ และต่อให้ไม่มีคณะราษฎร ก็ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ดี

.

นำมาซึ่งการแบ่งประเด็นย่อย 3 ประเด็นให้กับนักเรียนแต่ละกลุ่มเลือกไป 1 ข้อ

1. ประชาชนไม่มีความรู้ และไม่พร้อมกับการปกครองระบบประชาธิปไตย

2. กษัตริย์ตั้งใจและเตรียมพร้อมที่จะมอบอำนาจให้กับราษฎรอยู่แล้ว

3. การปฏิวัติเป็นเพียงความต้องการของคณะราษฎรกลุ่มเล็กๆ คนทั่วไปไม่ได้เห็นด้วยหรือต้องการ

.

นักเรียนจะได้หลักฐานทั้งหมด 10 ชุด ในชุดอาจมีหลักฐานหลายชิ้น ที่เป็นทั้งมุมมองต่อต้านและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง

หน้าที่ของนักเรียนแต่ละกลุ่มคือ การหาหลักฐานแล้วพิสูจน์ว่าประเด็นข้อถกเถียงที่ได้ไป ว่านักเรียน "เห็นด้วย" หรือ "ไม่เห็นด้วย"

โดยยกหลักฐานที่สนับสนุน หรือขัดแย้งกับข้อถกเถียงขึ้นมาให้เหตุผล

โดยจะต้องเลือกก่อนว่าหลักฐานใด เกี่ยวข้อง หลักฐานใดไม่เกี่ยว

และวิพากษ์หลักฐานว่าเป็นชั้นต้น ชั้นรอง อยู่ในมุมมองที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง หรือต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และมีใจความที่เกี่ยวข้องกับข้อถกเถียงอย่างไร จากนั้นจึงให้เหตุผลและลงข้อสรุป

.

ยอมรับว่าขณะที่ออกแบบและนั่งค้น เรียบเรียงหลักฐานต่างๆ ยาก และใช้พลังงานมากๆสำหรับครู และในขณะเดียวกันก็ยากมากสำหรับเด็กๆ ม.3

แต่จากการสังเกตขณะทำกิจกรรม ทุกกลุ่มดูหัวหมุน แต่ก็สนุกกับการตามหาความจริง ตื่นเต้นเวลาที่นักเรียนเหมือนเคาะได้ว่าชิ้นไหนเกี่ยวกับประเด็น แต่ใจความที่ถอดได้กลับขัดแย้งกันสิ้นเชิง ภาษา รวมถึงรูปภาพครูอาจต้องช่วยในการแปลความหมายและตีความ แต่หลายกลุ่มก็สามารถสร้างข้อสรุปได้ แม้อาจจะไม่สมบูรณ์หรือหยิบยกหลักฐานมาได้ไม่ครบถ้วนก็ตาม

.

ผมถามทุกคนว่าจำกิจกรรมที่ทำตั้งแต่ต้นเทอมที่แล้ว ที่ให้นักเรียนเขียนเรื่องเล่าของตัวเอง แล้วตั้งคำถามว่า "เรื่องนี้จริงกี่เปอร์เซ็น? เรื่องนี้่งบอกถึงตัวเราได้กี่เปอร์เซ็น" นักเรียนก็เข้าใจทันทีถึงความสำคัญของการเห็นว่าหลักฐานข้อมูลนี้เป็นมุมมองของใคร และข้อมูลที่มีรอบด้านมากแค่ไหน เพียงพอแล้วหรือไม่ในการสรุป

.

คำตอบว่า "เห็นด้วย" หรือ "ไม่เห็นด้วย" อาจไม่ได้สำคัญเท่ากับตรรกะและเหตุผลของนักเรียนที่หยิบยกหลักฐานมาได้สอดคล้อง หรือขัดแย้งกับข้อสรุปของนักเรียนเอง หลายครั้งที่นักเรียนตีความผิด การกล่าวถึงคำต่างๆเช่น "รัฐบาล" นักเรียนอาจมองข้ามบริบทไปว่าหมายถึงรัฐบาลไหนกันแน่ ซึ่งข้อผิดพลาดเหล่านี้เป็นวัตถุดิบชั้นดีที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ หากครูละเอียดมากพอ และให้ฟีดแบ็คได้อย่างตรงประเด็น

.

สุดท้ายแล้วอุปสรรคปัญหาใหญ่คือเรื่องเวลา ที่วิชาประวัติศาสตร์เวลาเรียนไม่เอื้อต่อการทำกิจกรรมที่ส่งเสริมการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์เช่นนี้จริงๆจังๆ และนอกจากนี้นักเรียนไม่เคยถูกฝึกการสรุปความ การโต้แย้งด้วยข้อมูล การใช้เหตุผล และการคิดเชิงวิพากษ์มาอย่างมากพอ ความฉลาดรู้ด้านการอ่านที่เป็นพื้นฐานสำคัญก็เป็นอุปสรรคมากที่สุด

.

สะท้อนหลังจากทำกิจกรรมไปเสร็จสิ้นในสัปดาห์ถัดมา นักเรียนต่างบอกว่ายาก 10 กะโหลก ที่ผ่านมานักเรียนบอกว่าเคยเจอแต่ใบคำถามที่มีคำตอบตายตัวอยู่แล้วในหนังสือ ขอแค่อ่านและหาเจอก็ใช้ได้ ไม่ต้องนั่งคิด นั่งทะเลาะกับตัวเองแบบนี้ แต่ผมชวนมองไปในชีวิตจริงที่ข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลถาโถมพวกเขาทุกวัน และความเห็นที่ไม่ตรงกัน ข้อมูลที่ขัดแย้งกัน พวกเขาจะได้เรียนรู้จากที่ไหน นักเรียนจริงเห็นความสำคัญของการเรียนแบบนี้ และก็บอกว่าแท้จริงแล้วมันก็สนุกดี หากเข้าใจและทำได้ ไม่ต่างกับโจทย์คณิตศาสตร์ และทักษะการอ่าน การตีความข้อมูลแบบนี้ มาตรฐานอย่า PISA นักเรียนอายุเท่านี้ก็ควรที่จะทำได้แล้ว

.

ทำจบครบ 12 ห้อง บอกเลยว่าคุ้มชิบหายกับการอ่านหนังสือเป็นตั้งๆ อดหลับอดนอนหาเอกสารหลักฐานมาจากหลายแหล่ง

.

บางคนอาจจะบอกว่า คอนเซปท์เรื่องนี้มันแค่นิดเดียว สรุปบรรยาย หรือทำอะไรที่ใช้เวลาทรัพยากรน้อยกว่านี้ก็ได้ จะว่าไปมันก็ใช้ แต่เราไม่ได้ต้องการให้ผู้เรียน "รู้" เพียงอย่างเดียวไม่ใช่หรือ? แต่พวกเขาจะ "ทำ" อะไรได้ และมี "ชุดคุณค่า" แบบไหน ผมคิดว่ามันคุ้มค่ากับที่ลงทุนทำไป

จากคลาสเทอมที่แล้วแค่คอนเซปท์เรื่องการวิพากษ์หลักฐานทำไมถึงใช้เวลาเยอะ ข้ามมาเทอมนี้เห็นแล้วว่ามันเป็นผล และมันติดตัวนักเรียนอยู่จริงๆ ให้สมกับหลักของคณะราษฎรประการที่ 6 ว่า

.

"จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร"

.

ขอจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติสถิตอยู่กับทุกท่าน

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 4

ชื่อไฟล์​: หลักฐานชุด 2475.pdf

ดาวน์โหลดแล้ว 36 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(9)
เก็บไว้อ่าน
(4)