inskru
gift-close

นิทานทองอินกับนักล่าปริศนา

2
1
ภาพประกอบไอเดีย นิทานทองอินกับนักล่าปริศนา

สวัสดีครับ ห่างหายจากการลงไอเดียไปนานมาก

ช่วงนี้เข้าสู่โค้งสุดท้ายของปีการศึกษาแล้ว

วันนี้จึงแวะเวียนเอาไอเดียง่าย ๆ ที่ท้าทายนักเรียนมาฝากกันครับ

กิจกรรมนี้มีชื่อว่า "นิทานทองอินกับนักล่าปริศนา"

แน่นอนครับ เมื่อนึกถึงนิทานทองอิน ครูภาษาไทยหลาย ๆ ท่านคงทราบดีว่าเป็นสิ่งที่นักเรียน ป.๖ ต้องได้เรียนรู้ผ่านหนังสือวรรณคดีลำนำ ซึ่งกิจกรรมนี้จะเริ่มทำหลังจากการที่นักเรียนอ่านเรื่องนักสืบทองอิน ในหนังสือวรรณคดีลำนำ บทที่ ๒ แล้ว ถือเป็นการตรวจสอบว่านักเรียนของเราอ่านแล้วจริง ๆ หรือเปล่าครับ

ขั้นแรกเลยครูออกแบบคำถามจากเรื่องที่เรียน ในที่นี้ผมใช้คำถาม ๑๐ ข้อ (จุดประสงค์ของคำถามคือต้องการให้นักเรียนจับประเด็นสำคัญจากเรื่องที่อ่านได้ว่าใคร ทำอะไร อย่างไร เป็นหลัก) ตามนี้ครับ

๑. นามปากกา/นามแฝง ของผู้แต่งเรื่อง “นิทานทองอิน” คือ

๒. “นายทองอิน” ประกอบอาชีพอะไร

๓. นิทานทองอินมีทั้งหมดกี่ตอน

๔. สามีของ “นางนาก” ชื่ออะไร

๕. นายทองอินเดินทางไปบางพระโขนงกับใคร

๖. “นางนาก” มีลูกกี่คน ชื่ออะไรบ้าง

๗. นายเปรมเล่าเรื่องอะไรให้นายทองอินฟังแล้วเกิดความสงสัย

๘. เพราะเหตุใดนายทองอินจึงให้พันโชติและบุตรไปหาของไล่ผี

๙. ใครปลอมเป็นผีเพื่อหลอกชาวบ้าน

๑๐. คนที่ปลอมเป็นผีหลอกชาวบ้านมีจุดประสงค์ใด

จากนั้นเขียนคำถามใส่กระดาษ ๑๐ แผ่น ตามภาพ

ขั้นที่สอง ครูคิดสถานที่ที่จะนำคำถามไปซ่อนยังสถานที่ต่าง ๆ ในโรงเรียนพร้อมออกแบบคำใบ้ว่าสถานที่เหล่านั้นอยู่ที่ใด แล้วแอบเอาคำถามไปติดตามสถานที่นั้น ๆ (ขั้นตอนนี้ต้องแอบไปติดแบบไม่ให้นักเรียนรู้นะครับ) สถานที่ที่ผมนำไปซ่อนคำถามมีดังนี้ครับ

ขั้นที่สาม ผมให้นักเรียนเขียนข้อ ๑ - ๑๐ ในสมุดภาษาไทยให้เรียบร้อยแล้วชี้แจงกติกาซึ่งง่ายมากครับ ครูเสริมแรงนักเรียนด้วยการนำดาวมาชักจูงใจหากใครตอบถูกมากที่สุดในห้องได้ดาว 5 ดวง รองลงมาก็ให้ดาวลดหลั่นกันไปครับ (ปกติจะให้นักเรียนสะสมดาวแล้วมาแลกขนมครับ) จากนั้นครูนำ "ลายแทงคำถาม" ไปติดที่เสา

แล้วให้นักเรียนไปอ่านเพื่อตามล่าคำถามครับ หากหมดเวลาให้นักเรียนมารวมกันที่จุดนัดพบเพื่อเฉลยคำตอบและสรุปกิจกรรมครับ



ข้อค้นพบจากการทำกิจกรรม

  • กิจกรรมนี้ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือพยายามที่จะค้นหาคำตอบของคำถามได้เป็นอย่างดีครับ บางคนครูก็รู้แหละว่ายังอ่านสิ่งที่ครูมอบหมายไม่จบแต่ก็พยายามหอบหนังสือลงมาเพราะอยากลองทำภารกิจบ้างซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องดีมาก ๆ อย่างน้อยก็ยังเห็นความพยายามของนักเรียนที่จะอ่านหนังสืออย่างรวดเร็วเพื่อตอบคำถามข้อนั้น ๆ แล้วไปตามล่าข้ออื่น ๆ ต่อ
  • ครูได้แจ้งนักเรียนเรื่องความซื่อสัตย์ คือ ห้ามลอกคำตอบกัน เท่าที่ครูตามสังเกตก็ไม่มีใครลอกกัน (หรือไม่เห็น) แต่สิ่งที่ผมพบคือนักเรียนช่วยเหลือกันตอนตีความลายแทงคำถามว่าน่าจะอยู่ที่ไหนแล้วแบ่งกันวิ่งไปหา ถ้าใครหาเจอก็จะเรียกเพื่อนไปดูคำถาม สิ่งนี้เป็นผลพลอยได้ที่น่ารักมากครับ
  • บางทีนักเรียนแค่ต้องการพื้นที่กว้าง ๆ ในการปล่อยพลังมากกว่าการนั่งอุดอู้ในห้องเรียนครับ เพราะฉะนั้นในปีการศึกษาหน้าครูสัญญาว่าจะสรรหากิจกรรมที่ทำให้นักเรียนได้ออกมาสูดอากาศนอกห้องเรียนบ่อย ๆ นะครับ
ภาษาไทยเกมและกิจกรรม

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

2
ได้แรงบันดาลใจ
1
ลงไอเดียอีกน้า~
แบ่งปันโดย
วรรธนะ ปัญบุตร

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
credit idea

ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

ไอเดียน่าอ่านต่อ