icon
giftClose
profile

โมชิ โมชิ สวัสดีค่ะ ทุกคน...

นีท เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น หรือ ชื่อในช่องtiktok คือ Neatto.chan สาวเสิร์ฟอนิเมะ นั่นเองนะคะ

วันนี้ นีทมีเรื่องอยากจะมาเล่าและแชร์ให้ทุกคนฟังค่ะ


คือว่าๆ ในเวลา 1 ปีที่ผ่านมา (ก็คือ 1 ปีการศึกษา 2565 นี้)

นีทมีโอกาสได้ลองไปก่อตั้งวิชาชมรม Anime Club และสอนวิชานี้ ให้กับน้องๆ นักเรียนประถมที่รร. การัญศึกษาค่ะ โดย เราจะเจอกันทุกวันจันทร์ เวลา 13.30-15.30 ซึ่งตอนนี้ก็สอนมาได้จบเทอมแล้ว เลยอยากมาแชร์ ประสบการณ์ ความสนุกสนานๆ ที่เกิดขึ้นในชมรมเราค่ะ


โดยตัวนีทนั้น พยายามออกแบบ วิชาชมรมนี้ ให้เป็น 3 พื้นที่แห่งการเรียนรู้กับเด็กๆ คือ


  1. พื้นที่แห่งการยอมรับความหลากหลาย
  2. พื้นที่แห่งการแก้ปัญหา
  3. พื้นที่แห่งความรัก


โดย พื้นที่นี้ จะเป็นอย่างไรนั้น เรามาติดตามกันเลยค่ะ


"พื้นที่แห่งการยอมรับความหลากหลาย"


ในกิจกรรมของเรานั้น ไม่มีการกำหนด หัวข้อการเรียนก่อน เราจะมาช่วยกำหนดพร้อมกันว่า ในเดือนนี้ เราอยากจะทำอะไรกันบ้าง จากนั้น ก็จะเป็นการโหวต เพื่อเลือกกิจกรรมค่ะ ซึ่งแน่นอนว่า บางครั้งผลโหลตที่ออกมานั้น อาจจะไม่ถูกใจเด็กๆ บางครั้ง ซึ่งนีทก็พยายามช่วยเด็กๆ และพาเด็กๆ คิดว่า เราจะวางใจ วางตัว ในกิจกรรมที่เราไม่ถูกใจกิจกรรมได้อย่างไร เช่น มีครั้งหนึ่งค่ะ กิจกรรมที่โหวตได้คือ แต่งหน้า cupcake ให้เป็นรูปการ์ตูน ซึ่งแน่นอนว่า ต้องมีเด็กไม่อยากทำ


โดยหากเรามองว่า ก็ใช้อำนาจในการโหวต หรืออำนาจผู้ใหญ่ พูด ทุกอย่างก็จบ แต่ถ้าเราจบแบบนั้น มันจะไม่ใช้พื้นที่แห่งการยอมรับความหลากหลาย นีทเลยชวนน้องๆ ที่ไม่ชอบมานั่งคุยกันว่า

  • น้องไม่ชอบอะไรในกิจกรรมนี้ (ซึ่งคำตอบก็มักจะเป็นไม่อยากแต่งหน้าเค้ก) จากนั้น นีทก็เปิดทางออกให้น้องๆ เลือกว่า
  • แล้ว น้องๆ สามารถช่วยทำอะไรในกิจกรรมนี้ หรือมี่ส่วนร่วมอะไรได้บ้าง โดยไม่ต้องแต่งหน้าเค้กก็ได้ (ซึ่งน้องๆ ก็คิดคำตอบได้ออกมาน่ารักมาก เช่น ขอเป็นฝ่ายถ่ายรูปเพื่อนๆ ของเป็นฝ่ายเก็บของ เป็นต้น)

ซึ่งเราทุกคนในชมรมก็ Say yes เปิดพื้นที่ให้เพื่อนๆ อยู่กันบนความหลากหลาย อย่างมีความสุข และไม่บังคับกัน


นอกจากนี้ ในเวลาที่พวกเราฟังเพื่อนๆ เล่าเรื่องตัวละครหรืออนิเมะที่เพื่อนชอบ เราก็จะตั้งใจฟังอนิเมะเรื่องนั้นของเพื่อนอย่างตั้งใจ ลดการตัดสินว่าตนเองไม่ชอบ หรือลดการไม่อยากฟังเพียงเพราะเราไม่เคยดูหรือไม่รู้จัก นีทมองว่า ในกิจกรรมตรงนี้ มันเป็นการสร้างการยมรับซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งเรียนรู้ความหลากหลายของอนิเมะอีกด้วย


"พื้นที่แห่งการแก้ปัญหา"


ในชมรมนี้ มีเด็กๆ อยู่ชั้นอยู่ร่วมกัน พี่ป.6 พี่ป.5 และน้องป. 4 ซึ่งแน่นอนว่า พอเราอยู่ด้วยกันเยอะๆ บางครั้งก็อาจจะเกิดปัญหาได้ (ปล. ไม่ใช้ปัญหารุนแรงนะคะ แต่เป็นปัญหาที่เราอาจจะไม่ถูกใจกัน) ซึ่งแน่นอนว่า เวลาที่น้องๆ มีปัญหา นีทจะใช้ การให้เราทุกคนช่วยกันเสนอทางออก และหาคำตอบที่น่าจะลงตัวที่สุด ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น

ในการเตรียมงานแสดงกิจกรรมของชมรม มีพี่ป. 6 อยากจะเล่นคีย์บอร์ด เป็นเพลงอนิเมะ แต่ว่า พอผ่านไปสัก ประมาณ 2 อาทิตย์ น้องๆ เริ่มรู้สึกว่า ไม่น่าจะซ้อมทัน เพราะต้องมีอ่านหนังสือสอบด้วย ทางนีทกับน้องๆ ก็เอาเรื่องราวตรงนี้มาหาทางออกเพื่อแก้ปัญหากัน ไม่ว่าจะเป็น

  • ถ้ามีเวลาไม่พอ ลดเหลือแค่ท่อน hook ไหม
  • หรือว่า ถ้าประเมินแล้วไม่ไหว อยากไปช่วยกิจกรรมอื่นไหม เพราะน้องๆ ต้องบริหารใจ บริหารเวลา และบริหารชีวิต ว่า เรื่องไหนสำคัญสำหรับเรา เราจะให้ความสำคัญกับอะไรก่อน

ซึ่งแน่นอนว่า น้องๆ เลือกที่จะไปช่วยกิจกรรมอื่นแทน เพราะอาจจะซ้อมไม่ไหว โดยนีทมองว่า นี่คือคำตอบที่ดีของน้องๆ ในเวลานั้น เพราะเขาคิดแก้ปัญหามาดีแล้ว


หรือบางครั้ง เวลาที่เราทำกิจกรรมแล้วสนุกกันไปมาก จนเสียงดัง และเริ่มจะคุมห้องไม่ได้..... นีทก็จะชวนเด็กๆ ในชมรม มาพูดคุยกันว่า

  • เมื่อกี้มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมเสียงดังจังเลย (เพื่อให้เด็กๆ ช่วยกันหาสาเหตุของปัญหา)
  • แล้วเราจะทำอย่างไรดี เพื่อไม่ให้เกิดเสียงดังแบบนั้นอีก (ชวนเด็กๆ มาตั้งกฎ หรือหาวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น)


นีทมองว่า ปัญหามีไว้แก้ และดีใจ ที่ได้พาน้องๆ คิดหาสาเหตุ และมองหาวิธีการแก้ไข เพื่อฝึกให้น้องๆ เป็นนักแก้ปัญหาที่ดี


"พื้นที่แห่งความรัก"

ในชมรมของเรา มักจะมีการถามเสมอ และบ่อยๆว่า


"ตัวละครที่เราชอบคือใคร" และ "เพราะอะไรเราถึงชอบตัวละครนั้น"

นีทมองว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน และได้สอนน้องๆ ทุกคนมองหาข้อดีของตัวละคร เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากว่า


บ่อยครั้งที่เรา โดยถามว่า ทำไมถึงชอบ?


ตอนแรกๆ เราอาจจะตอบ สิ่งที่มันเป็นภาพลักษณ์ภายนอก หรือสิ่งที่ติดตา ตรึงใจ เช่น สวย หล่อ เก่ง ใจดี น่ารัก เป็นพระเอก เป็นนางเอก และอื่นๆ เป็นต้น

แต่ในชมรมนี้ เราจะมีการ UP Skill การค้นหาความชอบผ่านพฤติกรรมที่ตัวละครทำ เพื่อพาเด็กๆ ถอดรหัสของตัวละครนั้นมากขึ้น

เช่น

ที่เราบอกว่า ทาเคมิจจิ เป็นคนไม่ยอมแพ้ ฉากนั้น ที่เรารู้สึกว่าเราไม่ยอมแพ้........

ที่เราบอกว่า รีไวล์ เก่ง เท่ มีฉากไหนบ้างที่เขาใช้ความเท่ ความเก่งนี้ เพื่อคนอื่น.....

ที่เราบอกว่าชอบเดกุ ที่พยายาม เขาทำอะไรบ้าง....


ซึ่งแน่นอนว่า ในกิจกรรมนี้ เราก็มีการพูดคุย ตัวละครที่ดูธรรมดา เพื่อให้เรารู้ว่า ทุกคนมีข้อดีด้วยกันทั้งนั้น หรือตัวละครที่เป็นตัวร้ายด้วยเช่นกัน

เพื่อให้น้องๆ ได้ค่อยๆ เข้าใจตัวละครต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้เรามองตัวละครด้วยความเข้าใจ (ซึ่งสิ่งที่เขาทำนั้นจะถูกหรือผิด เราก็จะมาว่ากันต่อหลังจากเข้าใจแล้ว เพราะเราต้องเริ่มต้นที่เข้าใจสาเหตุก่อน เป็นอันดับแรก)


นีทเชื่อว่า ชมรม Anime Club น่าจะเป็นกิจกรรมหนึ่ง ที่ช่วยให้เด็กๆ เติบโตอย่างมีคุณภาพ ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านอนิเมะที่ชอบ








รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(0)