รวมไอเดียการสอนวิชาประวัติศาสตร์ และแนวทางกระตุกต่อม “เอ๊ะ!” ของนักเรียน ที่จะเปลี่ยนการท่องจำให้กลายเป็นการตั้งคำถาม เพื่อให้นักเรียนทำเข้าใจประวัติศาสตร์มากขึ้น ลองไปดูกันว่าเราจะกระตุกต่อมเอ๊ะยังไงได้บ้าง ?
👀 อ้างอิงเนื้อหาจาก ”ธงชัย วินิจจะกูล: วิชาประวัติศาสตร์ควรสอน(ฝึกฝน)อะไร ?”
prachatai.com/journal/2022/12/101762
💭 เพื่อไม่ให้วิชาประวัติศาสตร์กลายเป็นวิชาท่องจำ
การสอนจึงต้องเน้นไปที่ “ทักษะ” มากกว่า “เนื้อหา”
เพื่อให้นักเรียนมีพฤติกรรมการวิพากษ์วิจารณ์
มากกว่าการจำชื่อ สถานที่ หรือเรียงลำดับเหตุการณ์
แนวคิดนี้ถูกนำเสนอโดย อ.ธงชัย วินิจจะกูล
ที่มองว่าการศึกษาความรู้ทางประวัติศาสตร์
ควรทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะดังนี้
🔎 ทักษะการคิดวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์
(1) เข้าใจคิดว่าปัจจุบันผูกพันกับอดีตอย่างไร (The past in the present)
เพื่อให้นักเรียนเห็นว่าการศึกษาประวัติศาสตร์คือการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์หนึ่งที่คลี่คลายไปสู่อีกปรากฏการณ์หนึ่ง เข้าใจว่าโลกนี้ปัจจุบันมีความเป็นมาจากมรดกในอดีต และทำให้เห็นว่าอดีตนั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรา
(2) เข้าใจจุดยืนมุมมอง (Perspectives)
เพื่อให้นักเรียนได้เห็นว่าประวัติศาสตร์นั้นถูกมองได้จากหลายมุมหรือหลายทัศนะ และความแตกต่างหลากหลายของมุมมองหรือจุดยืนของแต่ละคนนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่ละคนจึงเล่าเรื่องหรือธิบายความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน
(3) รู้จักหลักฐาน (Evidence)
ทำความเข้าใจธรรมชาติและประเภทของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ วิธีการที่จะตรวจสอบและคัดเอาข้อมูลบางอย่างออกมาจากเอกสารหรือสิ่งนั้น ๆ และวิธีการตั้งคำถามที่แตกต่างกันต่อหลักฐานชิ้นเดียวกัน อาจนำมาสู่องค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน
(4) มองเห็นบริบท (Context)
เหตุการณ์ บุคคล การกระทำ ความคิด รวมถึงหลักฐานในประวัติศาสตร์ ได้รับอิทธิพลหรือถูกกำหนดจากเงื่อนไขและปัจจัยแวดล้อมมากบ้างน้อยบ้าง ทั้งในแง่เกื้อหนุนให้เกิดบางสิ่งบางอย่าง หรือเป็นขีดจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถเกิดเหตุการณ์บางอย่างได้ เพราะฉะนั้นการมองเห็นบริบททางประวัติศาสตร์จึงเป็นทักษะที่สำคัญ
(5) ตีความวิเคราะห์เป็น (Interpretive analysis)
การค้นหาข้อมูลจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์จำเป็นต้องอาศัยการตีความอย่างมากเพราะต้องใช้หลักฐานเอกสารตามที่มนุษย์ในอดีตได้ทิ้งไว้ให้ในรูปภาษา หรือใช้สิ่งของจากอดีตซึ่งมีความหมายไม่ชัดเจนขึ้นกับการตีความของเราในปัจจุบัน
(6) เข้าใจถึงประวัติศาสตร์นิพนธ์ (Historiography)
เข้าใจว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องเล่าความเปลี่ยนแปลงจากมุมมองของผู้ที่เขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมา โดยผสมผสานการเล่าเรื่องกับความพยายามอธิบายในทัศนะของตน หากเข้าใจดังนี้ จะทำให้นักเรียนไม่มองว่าประวัติศาสตร์นั้นคือความจริงอย่างสมบูรณ์
มาดูตัวอย่างไอเดียการสอนวิชาประวัติศาสตร์
ที่ช่วยทำให้นักเรียนเกิดทักษะเหล่านี้กัน
🤩 กิจกรรม "Timeline โลก - Timeline เรา"
โดยครูสิปปกร
ชวนนักเรียนมองความเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์
หาความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องราวในอดีตของตน
และบริบทที่อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบัน
🔎 ทักษะที่ใช้
(1) เข้าใจคิดว่าปัจจุบันผูกพันกับอดีตอย่างไร (The past in the present)
(4) มองเห็นบริบท (Context)
🤩 กิจกรรม "นักสืบข้ามเวลา"
โดยสาระศาสตร์สังคม By ครูพี่กาย
ออกตามหาสถานที่จากภาพถ่ายเก่าในโรงเรียน
เพื่อฝึกฝนการทำงานกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์
และความเชื่อมโยงระหว่างอดีตกับปัจจุบัน
🔎 ทักษะที่ใช้
(1) เข้าใจคิดว่าปัจจุบันผูกพันกับอดีตอย่างไร (The past in the present)
(3) รู้จักหลักฐาน (Evidence)
🤩 กิจกรรม "พม่าเผากรุง?? เรียนประวัติศาสตร์จากหลักฐานต่างมุม"
โดยครูปาริชาต ชัยวงษ์
ชวนนักเรียนถกเถียงประเด็น “ใครเผากรุงศรีอยุธยา?”
จากชุดหลักฐานที่หลากหลาย มุมมองที่แตกต่าง
และการตีความหลักฐานที่ทำให้เกิดความจริงที่ต่างกัน
🔎 ทักษะที่ใช้
(2) เข้าใจจุดยืนมุมมอง (Perspectives)
(3) รู้จักหลักฐาน (Evidence)
(5) ตีความวิเคราะห์เป็น (Interpretive analysis)
🤩 กิจกรรม "เมื่อฉันเป็นมนุษย์ยุคหิน" โดยครู
โดยครูเบญที่สอนประวัติ
พานักเรียนจินตนาการย้อนเวลาไปหามนุษย์ยุคหิน
ชวนนักเรียนทำความเข้าใจบริบทและสิ่งแวดล้อม
เพื่อสร้างบ้านและเครื่องมือที่เหมาะสมกับยุคสมัย
🔎 ทักษะที่ใช้
(3) รู้จักหลักฐาน (Evidence)
(4) มองเห็นบริบท (Context)
(5) ตีความวิเคราะห์เป็น (Interpretive analysis)
🤩 กิจกรรม "ชื่อนี้. . . มีที่มา เรียนประวัติศาสตร์ใกล้บ้าน"
โดยครู KruBusSo
ตามหาที่มาของชื่อหมู่บ้านที่นักเรียนอาศัยอยู่
หาหลักฐานด้วยการสัมภาษณ์ผู้คนในหมู่บ้าน
ฝึกฝนการทำงานกับหลักฐานและการตีความ
🔎 ทักษะที่ใช้
(1) เข้าใจคิดว่าปัจจุบันผูกพันกับอดีตอย่างไร (The past in the present)
(3) รู้จักหลักฐาน (Evidence)
(5) ตีความวิเคราะห์เป็น (Interpretive analysis)
🤩 กิจกรรม "เราคือใคร : เรื่องเล่า “กำเนิดมนุษย์”จากหลายมุมมอง"
โดยครู Por Patipat
เปิดโอกาสให้นักเรียนตามหาต้นกำเนิดของตนเอง
ผ่านการค้นหาหลักฐานจากหลากหลายมุมมอง
พร้อมทั้งสร้างเรื่องเล่าในแบบฉบับที่ไม่เหมือนใคร
🔎 ทักษะที่ใช้
(1) เข้าใจคิดว่าปัจจุบันผูกพันกับอดีตอย่างไร (The past in the present)
(2) เข้าใจจุดยืนมุมมอง (Perspectives)
(3) รู้จักหลักฐาน (Evidence)
(4) มองเห็นบริบท (Context)
(5) ตีความวิเคราะห์เป็น (Interpretive analysis)
(6) เข้าใจถึงประวัติศาสตร์นิพนธ์ (Historiography)
✨ แนวทางการสอนประวัติศาสตร์นี้
ถูกนำเสนอโดยอ.ธงชัย วินิจจะกูล
ที่มองว่าการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ระดับมัธยมควรเปลี่ยนจากเน้นให้รู้ ‘เนื้อหาสาระ (Content-oriented)’ ไปเป็นการเน้นให้ ‘ฝึกฝนทักษะ (Skill-oriented)’ ในการคิดวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ (Historical thinking) เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจประวัติศาสตร์อย่างวิพากษ์วิจารณ์และเป็นตัวของตัวเอง
โดยไม่ใช่แค่การสอนให้สนุก
หรือเพิ่มความน่าสนใจในการสอน
ศึกษาทักษะการคิดวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์เพิ่มเติมได้ที่
”ธงชัย วินิจจะกูล: วิชาประวัติศาสตร์ควรสอน(ฝึกฝน)อะไร?”
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!