นวัตกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ได้รับรางวัล "ชนะเลิศ" การประกวดผลงานเด่นครูฝึกสอน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 เรื่อง การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาสังคมศึกษา และทักษะการคิดวิเคราะห์ โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบ GPAS 5 Steps และแอปพลิเคชัน Metaverse spatial เรื่องการเจริญปัญญาตามหลักโยนิโสมนสิการ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
Metaverse มาจากคำว่า Meta และ Verse รวมกัน มีความหมายว่า “จักรวาลที่อยู่เหนือจินตนาการ” ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นโลกอีกใบที่ทำให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันผ่านการจำลองเป็นตัวละครต่าง ๆ (Avatar) ซึ่งปัจจุบัน Metaverse เริ่มเข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตมากขึ้น ครูเองก็ต้องมีการปรับประยุกต์ใช้ เพื่อที่จะทำให้ Metaverse มีประโยชน์ต่อกระบวนการจัดการเรียนการสอน และนำมาแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น หากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสชนิดใหม่ ทำให้ต้องจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ Metaverse spatial เป็นแอปพลิเคชันโลกเสมือนจริงแบบ Virtual Reality นำมาใช้สร้างห้องเรียนออนไลน์ ประชุมออนไลน์ จัดนิทรรศการออนไลน์ โดยสามารถสร้างตัวละครของตนเองก่อนเข้าแอปพลิเคชันได้ ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความสนใจในการเรียนรู้มากขึ้น จากนั้นครูให้นักเรียนเข้าไปศึกษา รวบรวมข้อมูล และร่วมกันวิเคราะห์คำถามและสถานการณ์ที่ครูสมมติขึ้น การพัฒนาและใช้แอปพลิเคชันสื่อเสริมการเรียนรู้ เป็นการกระตุ้นความน่าสนใจให้กับผู้เรียนตามหลักการเรียนรู้มากกว่าการอ่านหนังสือเรียนโดยทั่วไป มีรูปภาพและวีดีทัศน์ประกอบที่น่าสนใจและเหมาะสมกับเนื้อหา ในการนําเสนอนั้นเน้นความกระชับ เข้าใจง่าย และสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
ดังนั้น ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาการจัดการเรียนรู้แบบ GPAS 5 Steps และแอปพลิเคชัน Metaverse spatial มาใช้การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในรายวิชาสังคมศึกษา เรื่องการเจริญปัญญาตามหลักโยนิโสมนสิการ ซึ่งการจัดการเรียนรู้แบบ GPAS 5 Steps และแอปพลิเคชัน Metaverse spatial มีลักษณะที่สำคัญคือ เป็นเครื่องมือในการเพิ่มพูนทักษะในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน และทำให้ผู้เรียนมีวิธีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น รวมถึงช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถที่จะสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง และสามารถที่จะนำไปใช้ในการปฏิบัติจริงในการแก้ปัญหาสำหรับสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งสิ่งที่ได้จากกระบวนการเหล่านี้ จะตกผลึกภายในตัวของผู้เรียน และแปรเปลี่ยนเป็นตัวตนและบุคลิกภาพของผู้เรียน อันจะสะท้อนออกมาในรูปแบบของผลงานต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
ลิงก์นวัตกรรม : Metaverse spatial เรื่อง “การเจริญปัญญาตามหลักโยนิโสมนสิการ”
การจัดการเรียนรู้ตามแผนจัดการเรียนรู้โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบ GPAS 5 Steps และแอปพลิเคชัน Metaverse spatial เรื่อง การเจริญปัญญาตามหลักโยนิโสมนสิการ จำนวน 1 แผนการจัดการเรียนรู้ ใช้ระยะเวลาในการทดลอง 2 คาบ กับนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง ตามขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 สังเกต รวบรวมข้อมูล ขั้นที่ 2 คิดวิเคราะห์และสรุปความรู้ ขั้นที่ 3 ปฏิบัติและสรุปความรู้หลังการปฏิบัติ ขั้นที่ 4 สื่อสารและนำเสนอ และ ขั้นที่ 5 ประเมินเพื่อเพิ่มคุณค่าบริการสังคม และจิตสาธารณะ โดยมีกิจกรรมดังนี้
1. ครูให้นักเรียนแบ่งกลุ่มจำนวน 10 กลุ่ม กลุ่มละ 4 – 5 คน ศึกษา รวบรวมข้อมูลวิเคราะห์เพื่อจำแนกหลักการและประโยชน์ของแต่ละวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ โดยใช้แอปพลิเคชัน Metaverse spatial
2. ครูให้นักเรียนนำเสนอผลการวิเคราะห์หลักการและประโยชน์ของแต่ละวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ
3. ครูสุ่มแจกการ์ดสถานการณ์โยนิโสมนสิการให้นักเรียนแต่ละกลุ่ม เพื่อร่วมกันวิเคราะห์และพิจารณาว่าสถานการณ์ที่ได้รับตรงกับหลักคิดแบบใด และหากนำไปปฏิบัติจะเกิดผลกับตนเองอย่างไร แล้วสรุปลงในใบงาน
4. ครูให้นักเรียนนำผลงานของตนเองไปเผยแพร่เป็นนิทรรศการในแอปพลิเคชัน Metaverse spatial
5. ครูให้นักเรียนร่วมกันประเมินตนเองว่า “นักเรียนสามารถนำความรู้จากเรื่อง การเจริญปัญญาตามหลักโยนิโสมนสิการไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง” ผ่านแอปพลิเคชัน Padlet
ข้อเสนอแนะ
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!