สวัสดีค่ะ ทุกคน วันนี้นีทอยากจะชวนทุกคนที่ชอบดูการ์ตูน หรืออ่านมังงะ มานั่งหา GTC กัน!!
อ๊ะ แล้ว GTC มันคืออะไร? GTC ย่อมาจาก Great Teacher Cartoon ครูสุด LOVE ในการ์ตูน นั่นเองค่ะ (มีความคล้ายๆ กับ GTO เลยเนอะ สารภาพค่ะว่า จริงๆ ก็เลียนแบบมาจาก GTO นั่นแหละค่ะ ซึ่งวันนี้ ในบทความนี้ จะมีพูดถึง GTO ไหมน้า เรามาลองติดตามกันนะคะ) โดยในบรรดา GTC ที่เราจะมาคุยกันวันนี้ นีทจะพยายามเลือก “คุณครู” ที่อยู่ในบริบทที่แตกต่างกัน ประเภทของการ์ตูนที่ต่างกัน ห้องเรียนที่แตกต่างกัน เพื่อให้เราทุกคนได้เห็นมุมมองของความเป็นครูในตัวละครมากขึ้น
*บทความนี้ จะมีการสปอยล์เนื้อหา เพื่อใช้ในการอธิบายความเป็นครูของแต่ละตัวละคร
เอาล่ะทุกคนพร้อมกันหรือยังคะ? หากพร้อมกันแล้ว เรามาเริ่มที่คนแรก กันเลยค่ะ

คนแรก นีทบอกใบ้นิดนึงค่ะว่า มาจากการ์ตูนที่ตัวละครจะต้อง “กางอาณาเขต” ซึ่งเรื่องนั้นก็คือ มหาเวทย์ผนึกมาร (Jujutsu Kaisen) นั่นเอง ครูที่นีทจะพูดถึงนั้น ก็เป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก อาจารย์สุดหล่อ สุดเท่ของเรื่อง “อ. โกโจ ซาโตรุ” นั่นเองค่ะ แม้ว่า อ.โกโจ จะเป็นคนที่ชอบทำอะไรเอาแต่ใจ มั่นใจในตนเองสุด (แต่เขาก็เก่งจริงๆ นะ) แต่เขาเป็นอาจารย์ที่ดีมากๆ เช่นกัน โดย นีทขอมอบมง GTC ให้อ.โกโจ จากเหตุผลทั้งหมด 3 ข้อคือ
- “ผู้กล้า” อ.โกโจนั้น เป็นผู้กล้าที่ต่อกรกับเบื้องต้นในวงการคุณไสย เพื่อปกป้องไม่ให้เด็กหลายๆคนโดนประหารชีวิต เช่น ยูจิ หรือ อคคทสึ ซึ่งด้วยความกล้านี้เอง ก็อาจจะทำให้คนเบื้องบนไม่ชอบ อ.โกโจเท่านั้น แต่เขาก็ไม่เกรงกลัวต่ออำนาจ พร้อมเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง คือ “ปกป้อง” เด็กๆ ที่เป็นเมล็ดพันธ์ุที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่
- “ผู้ส่งมอบโอกาสในการเติบโต” ในช่วงหลังจากที่ยูจิได้ตายก่อนจะฟื้นมางานเชื่อมสัมพันธ์ อ.โกโจ ได้เปิดเผยความจริงว่า ทำไมตนเองถึงมาเป็นครู ทั้งๆ คนอื่นอาจจะคิดว่าตนเองไม่เหมาะ โดยเหตุผลคือ เขาต้องการรีเซ็ตวงการคุณไสย ซึ่งการสอนเด็กๆ เป็นแผนการนั้น ถึงแม้ว่าเขาจะมีแผนการ แต่สิ่งที่เราส่งมอบให้ลูกศิษย์ นั้นไม่ใช่การล้างสมอง แต่ส่งมอบโอกาสในการเติบโตแห่งการเติบโตให้เด็กๆ และสิ่งที่นีทรู้สึกชอบการส่งมอบของ อ.โกโจ มากที่สุด ก็คือ "การส่งมอบความเป็นวิถีชีวิตวัยรุ่น ให้เหล่าลูกศิษย์ของพวกเขาได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นแบบที่ควรจะเป็น และสนุกกับช่วงเวลานั้น" เช่น หลังจากตอนที่ยูจิฟื้นขึ้นมาแล้ว มาคนถามอ.โกโจว่า ต้องซ่อนยูจิให้มิดชิด จากเบื้องต้น แต่อ.โกโจก็ไม่ทำแบบนั้น เขาให้ยูจิกลับไปเรียนปกติ (ทั้งๆ ที่อาจจะมีปัญหากับเบื้องต้นก็ได้) แต่ที่เขาเลือกทำแบบนั้น มันมีเหตุผลง่ายๆ ที่เขาบอกไว้ว่า “เพราะการแย่งชิงชีวิตวัยรุ่นจากคนหนุ่มสาว ไม่ควรทำอย่างเด็ดขาด” (มังงะเล่ม 2)
- “ผู้เชื่อมั่น” แม้ว่าเราจะเห็นความชิลของ อ.โกโจเยอะมากๆ ในเรื่อง โดยเฉพาะการโยนงานของตนเองให้ลูกศิษย์ เพราะเปิดตัวมาในตอนแรกของ อ.โกโจ ก็โยนงานให้ เมงุมิ แล้วตนเองไปซื้อคิคุฟุคุ (ขนมชนิดหนึ่งของญี่ปุ่น) แต่ถ้าหากเราติดตามความเป็น อ.โกโจไปเรื่อยๆ จะพบว่า แท้จริงแท้ อ.โกโจ เขาคิดมาอย่างดีแล้วนะ ว่างานนี้ส่งต่อให้ลูกศิษย์ทำแทนได้ เพราะลูกศิษย์มีความสามารถมากเพียงพอ ซึ่งในประเด็นนี้ นีทเองก็ถอดมาจากพฤติกรรม บวกกับคำพูดหนึ่งของ อ.โกโจ ในตอนที่ยูจิได้ตามไป 1 ครั้ง ในมังงะเล่มที่ 2 อ.โกโจพูดไว้ว่า “ผมเลือการศึกษา เลี้ยงดูพรรคพวกที่ฉลาดและแข็งแกร่ง ดังนั้น บางครั้งเลยโยนภารกิจของตนเองให้นักเรียนบ้าง (แส้แห่งรัก) ทุกคนยอดเยี่ยมมาก โดยเฉพาะ ฮาคาริ ปี 3 อคคทสึ ปี 2 พวกเขาจะกลายเป็นผู้ใช้วิชาเทียบเคียงผม ยูจิ ก็เป็นหนึ่งในนั้น” จากประโยคนี้เอง ทำให้เรารู้เลยว่า อ.โกโจ เชื่อมั่นในความสามารถของลูกศิษย์ตนเองมาก ซึ่งมันเป็นเรื่องสำคัญ ที่คนเราควรมองการเติบโตของเด็กๆ ด้วยความเชื่อมั่นว่า เขามีความสามารถ เขาสามารถทำได้ ทุกอย่างเป็นไปได้ พร้อมทั้งมอบโอกาสให้เขาได้แสดงฝีมือด้วย

เอาล่ะ เรามาต่อกันที่ คนที่ 2 ดีกว่า เรื่องนี้จะมีประโยคสุดฮิต คือคำว่า “Plus Ultra” และนั่นก็คือเรื่อง My Hero Academia และอาจารย์ที่เราจะพูดถึง ก็คงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก “อ.ไอซาวะ” หรือ ฮีโร่นักรบ อีเรเซอร์เฮด ภาพลักษณ์แรกๆ ของ อ.ไอซาวะ คืออาจารย์มืดมน ดูน่ากลัวๆ แต่เขาเป็นคนที่รักและเข้าใจลูกศิษย์ของเขาเป็นอย่างมาก โดย นีทขอมอบมง GTC ให้อ.โกโจ อ.ไอซาวะ ทั้งหมด 3 ข้อคือ
- “ผู้ไม่ตัดสิน” นีทเชื่อว่า อ.ไอซาวะ มองนักเรียนตนเองด้วยความเข้าใจ และไม่ตัดสินจริงๆ เขาจะมองว่า เด็กคนนี้มีพฤติกรรมแบบนี้เพราะอะไร และในพฤติกรรมที่เป็นนั่น มีข้อดี หรือ ข้อเสียอะไร ซึ่งการมองแบบนี้ มันช่วยทำให้ครูนั่นเข้าใจเด็กจริงๆ ซึ่ง “ผู้ไม่ตัดสิน” นี้ เขาก็มักจะเห็นได้จาก การที่ อ.ไอซาวะ พูดถึง บาคุโก คนเลือดร้อนของเรา ทั้งในตอนงานกีฬาสี และพูดต่อที่บาคุโก โดยวิลเลินจับ เช่น ตอนที่บาคุโก เริ่มโดยผู้ชมต่อว่า ในศึกประลองกับ อุราระกะจัง อ.ไอซาวะ ก็พูดขึ้นว่า “นั่นคือการระแวดระวัง เพราะยอมรับในพลังของอีกฝ่ายที่ขึ้นมาถึงตรงนี้ได้ต่างหาก เพราะคิดจะเอาชนะให้ได้จริงๆ ก็เลยออมมือให้หรือประมาทไม่ได้” หรือตอนที่ อ.ไอซาวะ ต้องตอบหน้าสื่อ ในเรื่องของบาคุโก ที่ดูมีนิสัยเลือดร้อน และโดนวิลเวินจับตัวไป อ.ไอซาวะ ก็พูดถึงบาคุโก ได้กินใจ และดูเข้าใจในตัวบาคุโกมากจริงๆ คือ “ในเรื่องความประพฤตินั้นคือเป็นความบกพร่องของผมเอง เพียงแต่…เรื่องพวกนั้น ที่เห็นในงานกีฬาสี เกิดขึ้นมาจาก “ความแข็งแกร่งในอุดมคติ” ของตัวเขาครับ …ไล่ตามไขว่คว้า และดิ้นรนที่จะเป็นท๊อปฮีโร่ ยิ่งกว่าใคร”
- “ผู้สังเกต” ตอนสอบ Final ปิดภาคเรียน ต้องบอกเลยว่า ในการสอบภาคปฏิบัตินั้น เด็กนักเรียนได้เผชิญหน้ากับจุดอ่อนของตนเองอย่างเต็มที เพื่อเติบโต พัฒนาตนเอง ตามคำคมของรร. ที่ว่า “Plus Ultra” ซึ่งการที่เด็กๆ สามารถเผชิญหน้ากับจุดอ่อนของตนเองได้ขนาดนั้น ก็มาจากการสังเกตและความเอาใจใส่ของ อ.ไอซาวะ นั่นเอง เช่น บาคุโก กับมิโดริยะ ไม่ถูกกัน จึงจับมาให้คู่กัน เพื่อหาวิธีร่วมมือกัน ซึ่งก็ทำให้พวกเขาทั้ง 2 เติบโตขึ้น หรือ อาชิโดะ และ คามินาริ เคลื่อนไหวแบบง่ายๆ ขอรบกวนอ.ใหญ่ ช่วยใช้มันสมองเล่นงานในจุดนั้น ให้ด้วย เป็นต้น
- “ผู้ให้โอกาส” ในตอนที่บาคุโก โดยจับตัวไป ห้องเรียนห้อง A เขาก็มีการปรึกษากันว่า จะรวมตัวไปช่วยบาคุโก ซึ่งในห้องเรียนนั้น ก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สุดท้าย ก็มี เดกุ อีดะ ยาโอโยโรซึ โทโดโรกิ และคิริชิมะ ไปช่วยบาคุโก ซึ่งการกระทำนี้ เป็นสิ่งที่ผิดกฎ มันก็เหมือนว่า เด็กๆ ในห้องทำตัวไม่เหมาะสมเท่าไร เพียงแต่ อ.ไอซาวะ ก็ได้เตือน และให้อภัย และให้เด็กพิสูจน์ตนเอง เพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างงกันกลับคืนมา

เอาล่ะเรามาต่อกันที่ ครูคนที่ 3 กันเลย ครูคนนี้มีจิตวิญญาณ ของคำว่า “เอเลแกนท์” ซึ่งเขาก็คือ อ.แฮนเดอร์สัน อ.ประจำชั้นห้องของอาเนียจัง จากเรื่อง SPY x FAMILY นั่นเองค่ะ โดย 3 มงที่ขอมอบให้ อ.แฮนเดอร์สัน ก็คือ
- “ผู้มีจิตวิญญาณแห่งความถูกต้อง” สิ่งนี้ปรากฏให้เห็นตอนสัมภาษณ์เข้าเรียนของ อาเนียจังค่ะ เพราะในการสัมภาษณ์เข้าเรียนของอาเนียจังนั้น มีคุณครูที่ไม่น่ารัก ใช้คำถามถามครอบครัวอาเนียจัง แบบไม่ดีเท่าไร (โดยที่เขากล้าทำแบบนั้น เพราะอาจจะคิดว่าตนเอง เป็นลูกชายหัวหน้าหอพักรุ่นเก่าที่ทำงานด้วยเส้นสาย และอำนาจจากพ่อ) แต่ อ.แฮนเดอร์สัน ก็เตือนครูคนนั้น ด้วยจิตวิญญาณแห่งความถูกต้องว่า “สิ่งที่พูดไม่เหมาะสม” หรือ ในตอนจบการสัมภาษณ์นี้ อ.แฮนเดอร์สัน กลับกล้าเข้าไปชกอาจารย์ที่ไม่น่ารัก ที่ถามคำถามอาเนียจังจนร้องไห้ ตามความเชื่อที่ อ.แฮนเดอร์สัน รู้สึกว่า “ถ้ายอมก้มหัวให้อำนาจ แล้วตนเองจะเป็นผู้ให็การศึกษาที่ดีได้อย่างไร” (ถึงแม้ว่าการชก จะไม่ใช่วิธีที่ดีก็ตาม แต่อยากให้มองในมุมของการไม่ยอมต่อสิ่งที่ไม่เหมาะสมนะคะ)
- “ผู้ฟังเหตุผล” ในวันปฐมนิเทศ อาเนียจังก็ได้สร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ คือการไปชกดาเมียน ซึ่งเป็นลูกชายของเป้าหมายของพ่อ ซึ่งต้องบอกว่า การใช้ความรุนแรงในโรงเรียนนั้น เป็นเรื่องที่ผิด และจะมีบทลงโทษคือ การแจก โทนิโท่ ซึ่งหากใครได้ โทนิโท่ 8 อันจะโดนไล่ออก โดยสิ่งที่เราชอบ อ.แฮนเดอร์สัน คือ เขาเป็นผู้ฟังเหตุผลก่อนการลงโทษ เขาพยายามฟังอาเนียจัง และฟังเด็กทุกคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ว่า มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมอาเนีย ถึงชก จนเขาได้คำตอบว่า “อ้อๆ ที่อาเนียจังชกนั้น เป็นเพราะเพื่อน (เบ็กกี้) โดนแกล้ง ซึ่งจริงๆ ตนเองก็โดนแกล้งนะ แต่ก็พยายามเก็บอารมณ์ไว้” และเพราะการเป็นผู้ฟังเหตุผล จึงทำให้อาเนีย ได้ โทนิโท่ 1 ดวงเท่านั้น ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว การเหตุแบบนี้ ต้องได้รับ 3 ดวงเลยนะ
- “ผู้แนะนำ” ในตอนที่เด็กๆ ทำผลงานวิชาศิลปะ แล้วดาเมียนโกรธอาเนีย ที่อยากมาช่วยทำกริฟฟอน แต่ทำออกมาไม่ดี อ.แฮนเดอร์สัน ก็เข้ามาดูแลดาเมียน ทั้งในเรื่องของการให้ ดาเมียนควบคุมอารมณ์โกรธ และแนะนำวิธีการแก้ปัญหาจากสถานการณ์นี้ว่าให้ดาเมียน ไม่ต้องรีบร้อยและทำเท่าที่ตนเองทำได้ ซึ่งจากเหตุการณ์นี้เอง เราจะเห็นเลยว่า อ.แฮนเดอร์สัน เขาใส่ใจทั้งความรู้สึก และพฤติกรรมของเด็กๆ จริงๆ นะ และยังพร้อมเป็นผู้ช่วยแนะนำและพาเด็กๆ แก้ปัญหาอีกด้วย

คนต่อมา คนที่ 4 แล้ว ต้องบอกว่าเลย ไม่พูดถึงคนนี้ คงไม่ได้ เพราะเขานั้น เป็นครู ในดวงใจของนักเรียน และเป็นครูในดวงใจของพวกเราอย่างแน่นอน นั่นคือ ครูโอนิซึกะ จาก เรื่อง GTO (เย้ๆ ในที่สุดก็ได้พูดแล้ว)โอนิซึกะเป็นนักเลงมาก่อน แต่เขาก็อยากมาเป็นครู ซึ่งภาพลักษณ์การเป็นครูของเขาอาจจะขัดกับมุมมองทางสังคมอยู่บ้าง ซึ่งนีทต้องบอกว่า 3 ข้อที่อยากจะชวนมอง โอนิซึกะ นั่นคงไม่ใช่ พฤติกรรม เพราะเราคงทำตามพฤติกรรมแบบเขาไม่ได้ แต่อยากให้เรามองไปที่ ทัศนคติ และวิธีการมองเด็กๆ ของเขานะคะ ซึ่งมงทั้ง 3 ที่มอบให้คือ
- “ผู้มองเห็นข้อดี” ต้องบอกเลยว่า โอนิซึกะ เขามักจะมองหาข้อดีของเด็กๆ ในห้องเขาเสมอ และคอยผลักดันให้เด็กๆ ของเขายอมรับในข้อดีนั้นของตนเอง และสร้างพื้นที่เปร่งประกายให้แก่เด็กๆ เช่น หนูซื่อบื้อ ที่เพื่อนๆ จะรู้สึกว่าน้อง ดูทำอะไรไม่ค่อยได้ แต่โอนิซึกะ ก็พยายามมองหาข้อดีในตัวเด็ก จนสุดท้ายน้องซื่อบื้อของเรา ได้กลายเป็นดารา (ขออภัยที่เรียกน้องด้วยชื่อนี้ แต่มันเป็นชื่อที่เรียกในกันการ์ตูนเลยคิดว่า ทุกคนจะจำน้องได้ง่ายกว่า ซึ่งไม่มีเจตนา Bully หรือใดๆ ทั้งสิ้นนะคะ) หรือตัวละครหนุ่ม เจ้าพ่อการตัดต่ออย่าง คิคุจิที่ตัดต่อภาพโอนิซึกะ ต่างๆ นานา แต่เขาก็รู้ว่า สิ่งนี้ มันคือความสามารถของเด็กคนนี้ เลยสนับสนุน โดยการไม่โกรธ และขอให้ตัดต่อภาพให้ ซึ่งนีทมองว่า การจับถูกและมองหาข้อดีของเด็กได้นั่น ไม่ว่าจะเป็นเด็กคนไหน ก็ต้องใจฟูกันทั้งนั้นแหละค่ะ
- “ผู้สร้างบรรยากาศ” ในทุกๆตอน ในเวลาที่โอนิซึกะอยู่กับเด็กๆ นั้น จะเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ มีแต่เรื่องสนุกสนาน ชวนเด็กๆ ทำโน่นทำนี้ สนุกกันจริงๆ ซึ่งนีทมองว่า บรรยากาศเหล่านี้ มันคือความเป็นมิตรที่เราสามารถมอบให้เด็กๆ ได้ เพื่อลดกำแพง ระหว่างครูกับนักเรียน เพื่อทำให้เราเข้าใกล้กันมากขึ้น
- “ผู้ไม่ยอมแพ้” หากเราได้ดู โอนิซึกะ เราจะรู้เลยว่า การเข้าหานักเรียนในห้องของเขานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หรือการปรับตัวการกลุ่มครูก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่โอนิซึกะ นั้นเป็นผู้ไม่ยอมแพ้…. เขานั้นไม่เคยถอดใจที่จะสื่อสารกับเด็กๆ ไม่ยอมแพ้ที่จะเข้าหาเด็กๆ ซึ่งทำให้ในแต่ละตอนของ โอนิซึกะ เราจึงเห็นว่า เขาค่อยๆ เปิดใจเด็กได้ที่ละคน สองคน จนตอนจบ เขาก็สามารถเปิดใจเด็กๆ ได้ทั้งห้อง

คนสุดท้ายที่เราจะมอบมงให้คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก อ.โคโระ จาก Assassination Classroom นั่นเอง
- “ผู้มอบความหวัง” ต้องบอกเลยว่า นักเรียนห้อง 3-E นั้น เป็นนักเรียนที่โดนสังคมบอกว่า พวกเขาเป็นผู้พ่ายแพ้ จนแววตาที่เป็นประกายแสงแห่งความหวังได้ดับไป พวกเขาไม่เชื่อถึงความสามารถที่ตนเองมี พวกเขาเหมือนรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า แต่เพราะพวกเขาได้ อ.โคโระ มาเป็นครูประจำชั้น ตัวพวกเขานั้นจึงสามารถกลับมามีความหวังได้อีกครั้งหนึ่ง อย่างตอนที่นีทชอบมากๆ คือ ตอนสอบกลางภาคครั้งที่ 1 ที่เด็กๆ ทุกคนถูกปลุกใจ ได้รับกำลังใจอ.โคโระ จนเริ่มกัลบมามีความหวังอีกครั้งหนึ่ง ผ่านการกระทำและคำพูดของ อ.โคโระ ที่ว่า “ เพราะมีความมั่นใจในไพ่ใบถัดไปอยู่ จึงเป็นมือสังหารที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่น แต่พวกเธอล่ะเป็นอย่างไร เพราะมีเป้าหมายในการลอบฆ่า จึงทำให้เป้าหมายในการเรียนตกลง นั่นเป็นเพียงการหลบสายตาจากปมด้อย…….อ.จะให้คำแนะนำนะครับ ผู้ที่ไร้ซึ่งดาบที่สอง ไม่มีคุณสมบัติจะเป็นมือลอบสังหาร” หากเราได้ดูในตัวอนิเมะ เราจะรู้เลยว่า เป็นการมอบความหวัง ให้เราก้าวไปข้าวหน้า อย่างไม่กลัววปมด้อยของตนเอง ซึ่งอ.โคโระ เขาไม่ได้เพียงแค่พูดห้กำลังใจเท่านั้น แต่เขายังลงมือทำ ผ่านการสอน การติว เพื่อเด็กๆ ในห้องด้วย
- “ผู้มอบกลยุทธ์” มีหลายครั้ง ที่เด็กนักเรียนห้อง E จะถูกท้าทายในโ๗ทย์ที่ยากและเสียเปรียบว่าเด็กห้องอื่น ซึ่งมันดูไม่แฟร์เอาเสียเลย แต่อ.โคโระ ได้มอบกลยุทธ์ ให้เด็กๆ สู้ ในวิธีของตนเอง หรือมอบหาความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นซึ่ง ตอนที่นีทชอบมากๆ ก็คงเป็นตัวแข่งเบสบอลกับทีมตัวจริงของโรงเรียน ที่เป็นเบสบอลกลยุทธ์ ที่ห้อง E จะทำแตาบันท์ และไปปกป้องแบบประชิดตัว ที่ทำให้เอาตี ไม่กล้าตีลูกเลยทีเดียว หรืออย่างตอน งานโรงเรียน ที่ห้อง E ต้องเปิดร้านอาหารในพื้นที่ที่แสนห่างไกล บุคคลต้องขึ้นเขาไป จึงจะสามารถกินอาหารของห้อง E ได้ แต่พวกเขาก็ได้รับกลยุทธ์ว่า จงดึงธรรมชาติ มาเป็นพวก สร้างร้านอาหารที่มาอาหารแปลกๆ เป็นวัตถุดิบจากของในป่า ซึ่งกลยุทธ์เหล่านี้ มันคือการฝึกเด็กๆ มองและคิด เพื่อหาความเป็นไปได้ ที่อาจจะเกิดขึ้น
- “ผู้มอบหัวใจ” อ.โคโระ เป็นอาจารย์ที่มอบหัวใจให้กับเด็กๆ จริงๆ เพราะเขาเฝ้ามองเด็กๆ แต่ละคนแบบจริงๆจังๆ เข้าใจถึงความเป็นเด็กคนนั้น และหาวิธีให้ความช่วยเหลือ มอบข้อคิดต่างๆ ให้เด็กเติบโตขึ้น ทั้งทางร่ายกาย ความสามารถ และจิตใจ เพื่อให้เด็กๆ สามารถใช้ชีวิตในวันข้างหน้าได้อย่างมั่นคง เช่น หนุ่มน้อยนักเบสบอลของเรา สุกิโนะ โทโมฮิโตะ ก็ได้ อ.โคโระ ช่วยค้นหาเอกลักษณ์ของตนเองในการขว้างลูก นั่นคือ ความอ่อนนุ่มของข้อมือและข้อศอก ซึ่งถ้าฝึกฝนในสิ่งนี้ คงจะเก่งขึ้นได้อย่างแน่ๆ เลย หรือ แม้กระทั่งก่อนจะจากกันก็ยังสอนเด็กๆ เลยว่า “ขออาจารย์ให้คำแนะนำหน่อยนะครับ ชีวิตของพวกเธอต่อจากนี้ จะถูกกระแสสังคมเข้ามาขวาง และจะมีเรื่องที่ผลลัพธ์ไม่เป็นตามที่หวังแน่นอน ถึงเวลานั้น ไม่ควรตามหาสาเหตุจากสังคม จะปฏิเสธสังคมไม่ได้ครับ ในเวลาแบบนั้น ให้คิดว่า โลกก็เป็นแบบนั้น และหาทางผ่านความรู้สึกคับแค้นไปให้ได้ หลังจากที่ผ่านไปแล้ว ก็ให้คิดครับว่า ถ้ากระแสสังคมมันรุนแรง จนเหมือนเราเป็นของเล่น แล้วตนเองควรจะว่ายอยู่ในนั้นแบบใดวิธีการน่าจะได้เรียนรู้จากห้อง E กันไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องเข้าปะทะโดยตรงตลอดเวลาก็ได้ ซ่อนตัวก็ได้ ถ้าไม่ผิดกฎจะซุ่มโจมตีก็ได้ พกความตั้งใจไว้ ไม่ต้องรีบร้อน หากลองผิดลองถูกซ้ำๆ รับรองผลลัพธ์ที่วิเศษต้องตามมาแน่ครับ เพราะพวกเธอทุกคน เป็นแอซซาซินชั้นเลิศที่สามารถทำเรื่องนั้นได้ไงครับ” (คำพูดของ อ.โคโระ ในตอนที่ 22)
ทุกคำพูด ทุกการกระทำของครูทั้ง 5 ตัวละครนี้ มันเหมือนเป็นการเอาใจมาแลกใจ ซึ่งมันเป็นเรื่องราวที่น่าจดจำ เติมพลังให้ทั้งครูและนักเรียน… ว่า ให้เราได้เดินมารู้จักกันมากขึ้นอีก คนละก้าว
แล้วทุกคนชอบครูแบบไหนกันบ้างคะ?
บทความโดย คุณนีท-เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น