ครูควรทำอย่างไร เมื่อนักเรียนตัดสินใจ Come out
หมายเหตุ : come out หมายถึง การเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตน เกิดขึ้นจากการค้นหาและนิยามอัตลักษณ์ทางเพศของแต่ละคน ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา
ฟัง ฟัง และฟัง
ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับคุณครูเป็นอย่างยิ่ง เพราะการที่นักเรียนคนหนึ่งตัดสินใจที่จะมา come out กับคุณครูนั้น แสดงว่าคุณครูได้สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเขาเรียบร้อยแล้วละ! จุดพลุฉลองงงง
แต่อย่างเพิ่งแสดงอาการออกไปละ หายใจเข้าลึก ๆ แล้วตั้งใจฟังในสิ่งที่นักเรียนกำลังจะเล่าให้ฟัง การฟังนั้นดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือที่เรียบง่าย ไม่มีค่าใช้จ่าย และดูเหมือนว่าจะไม่ต้องเตรียมตัวใด ๆ แต่รู้หรือไม่ว่าการฟังนั้นเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมาก ๆ เลยนะ การฟังโดยไม่ด่วนตัดสินถือว่าเป็นการเคารพการตัดสินใจของนักเรียน ทำให้นักเรียนได้เห็นว่าเขามีตัวตน มีคนรับฟังเขา รู้สึกว่าเขาถูกมองเห็นในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
นอกจากนี้ คุณครูสามารถใช้คำถามปลายเปิดประกอบการสนทนา เช่น “ตอนนี้รู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง?” “รู้สึกปลอดภัยที่ต้องใช้ชีวิตในโรงเรียนไหม?” หรือ “มีอะไรอยากให้ครูช่วยเหลือหรือเปล่า?” เพื่อเป็นการแสดงให้นักเรียนเห็นว่าคุณครูพร้อมจะอยู่เคียงข้างนักเรียนต่อไป
รักษาความเป็นส่วนตัวของนักเรียน
การที่นักเรียนตัดสินใจมา come out กับคุณครูนั้น แสดงว่าเขาเชื่อมั่นว่าคุณครูสามารถรักษาความเป็นส่วนตัวให้กับเขาได้ โปรดอย่ามีพฤติกรรม “ครูรู้ โลกรู้” นักเรียนเลือกที่จะ come out กับคุณครู ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องการ come out กับทุกคนในสังคม เพราะฉะนั้น เก็บเรื่องราวที่ได้พูดคุยให้เป็นส่วนตัวที่สุด อย่าเผลอไปทำลายพื้นที่ปลอดภัยที่พยายามสร้างมาละ
เตรียมข้อมูลไว้ให้พร้อม
ให้คุณครูลองประเมินว่าการที่นักเรียนเลือกที่จะมา come out ในครั้งนี้ นักเรียนมีจุดประสงค์อะไร บางคนต้องการเพียงแค่มาบอกเล่าให้ฟัง แต่บางคนต้องการความช่วยเหลือจากคุณครู เนื่องจากมีความกังวลใจ ความเครียด หรือไม่รู้จะบอกเพื่อนอย่างไรดี
ลองค้นหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน เช่น YouTube Channel “SPECTRUM" ที่รวบรวมสื่อวิดีโอที่สื่อสารเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ หรือ Website “Amnesty International Thailand” ที่รวบรวมบทความเกี่ยวกับสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
มาพยายามกันอีกนิดนึงนะคุณครู!
ทำตัวให้เหมือนเดิม
นักเรียนที่มา come out กับเราในตอนนี้ ก็คือนักเรียนคนเดียวกันเมื่อ 10 นาทีก่อน เขายังคงเป็นคนเดิม ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง นักเรียนเพียงแค่พยายามค้นหาและนิยามความเป็นตัวตนของเขา เพราะฉะนั้นคุณครูไม่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองหลังจากที่นักเรียนมา come out
ยิ่งคุณครูพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองเท่าไร นักเรียนจะยิ่งรู้สึกกดดัน ไม่ปลอดภัย เพราะการตัดสินใจ come out ของเขานั้นทำให้ครูต้องลำบากในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพราะฉะนั้นทำใจให้สบาย ปฏิบัติกับเขาในฐานะของมนุษย์คนนึงก็เพียงพอแล้ว
ใช้สรรพนามตามที่นักเรียนต้องการ
ความหลากหลายทางเพศนั้นมีความลื่นไหลและมีความซับซ้อน คุณครูอาจจะเกิดความสงสัยว่านักเรียนที่มา come out นั้น “มีเพศวิถีแบบไหน และเราต้องเรียกเขาด้วยสรรพนามอะไรกันนะ?” วิธีการนั้นแสนเรียบง่าย คือ ถามนักเรียนได้เลย!
คุณครูไม่จำเป็นต้องพยายามรู้ให้ได้ว่านักเรียนนิยามตัวเองอยู่ในเพศวิถีแบบใด เช่น เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล หรือทรานส์เจนเดอร์ เพราะเพศวิถีนั้นมีความลื่นไหลตามกาลเวลา เพราะฉะนั้นโปรดถามนักเรียนว่าเขายินยอมที่จะให้เรียกเขาด้วยสรรพนามใด
และไม่ต้องแปลกใจว่านักเรียนอาจจะเปลี่ยนสรรพนามที่ใช้เรียกเมื่อเวลาผ่านไป ยินดีกับนักเรียนที่เขากำลังพยายามค้นหาตัวตน ลองเติบโตไปกับเขาอย่างช้า ๆ เชื่อได้เลยว่าคุณครูจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งทางกายและทางใจเลยละ
เรียบเรียงจากบทความ
Best Practices for Serving LGBTQ Students | Learning for Justice
แท็กที่เกี่ยวข้อง