💭 6 เรื่องน่าคิด ก่อนคุณครูตัดสินใจลาออก
ช่วงนี้คุณครูทำอะไรกันอยู่นะ กำลังเหนื่อยอยู่หรือเปล่า
ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดกำลังรุนแรงขึ้น
คุณครูหลายคนอาจจะเกิดความเครียด กดดัน เหนื่อยล้า
จนเกิดความรู้สึกลึก ๆ ขึ้นมาภายในว่า “อยากลาออก”
แต่ก่อนที่จะตัดสินใจทำตามความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น
ชวนคุณครูมาทำความรู้จักกับอาการ “อยากลาออก”
สำรวจที่ไปที่มาของความรู้สึกและวิธีการเยียวยาตัวเอง
ถ้าพร้อมแล้ว หายใจเข้าลึก ๆ แล้วค่อย ๆ อ่านไปด้วยกันนะ
💖 ความรู้สึก “อยากลาออก” ไม่ใช่เรื่องผิดธรรมชาติ
คุณครูหลายคนอาจตกใจเมื่อตนเองต้องเผชิญหน้ากับความรู้สึกอยากลาออก ยิ่งถ้านำเรื่องนี้ไปบอกใครยิ่งตื่นตระหนกตกใจกันเข้าไปใหญ่ “ทำไมถึงอยากลาออก!” “เกิดอะไรขึ้น!” คำถามเหล่านี้ยิ่งทำให้ความต้องการลาออกเป็นเรื่องใหญ่โต และมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความรู้สึกอยากลาออกเป็นเรื่องธรรมชาติที่จะเข้ามาแวะเวียนคุณครูอยู่เรื่อย ๆ ยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งตอกย้ำความต้องการลาออกให้ทวีคูณมากขึ้นอีก เราจึงอยากชวนคุณครูให้ลองปรับมุมมองที่มีต่อการลาออกให้เป็นเรื่องปกติ และหาวิธีเผชิญหน้ากับมันอย่างเป็นมิตร ก็จะทำให้ความเครียดและความกดดันลดลงได้
✨ ความรู้สึกอยากลาออก เป็นวงจรที่จะต้องพบเจอซ้ำ ๆ
ชวนคุณครูทบทวนความรู้สึกตลอดช่วงเวลาในการทำงาน หากลองบันทึกความรู้สึกที่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะพบว่า ความรู้สึกอยากลาออกนั้นจะเกิดขึ้นเป็นวงจรซ้ำ ๆ ที่คาดเดาได้ ในบางช่วงเราอาจมีพลังในการทำงานอย่างเต็มที่ ความคิดสร้างสรรค์พุ่งกระฉูด แต่ในบางช่วงเราอาจจะรู้สึกอ่อนล้า ท้อถอยจนอยากลาออก ความรู้สึกเหล่านี้จึงมีลักษณะเป็นวงจร (Cycle) ที่วนซ้ำต่อเนื่อง
เมื่อเข้าใจลักษณะของวงจรนี้แล้ว คุณครูอาจจะเห็นภาพว่าในขณะนี้ ตนเองกำลังอยู่ในช่วงที่ “ความรู้สึกอยากลาออกมาเคาะประตูบ้าน” จึงไม่แปลกที่จะเกิดความรู้สึกนี้ขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้รู้ว่าเมื่อเวลาผ่านไป อาจจะมีความสุขเล็ก ๆ รออยู่ภายหน้าก็ได้!
🤩 ผลลัพธ์จากการทำงาน อาจไม่ปรากฏทันตาเห็น
เนื่องจากธรรมชาติของงานครูนั้นเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามนุษย์ เพราะฉะนั้นการคาดหวังผลลัพธ์อย่างรวดเร็วอาจเป็นไปได้ยาก เช่น คาดหวังว่านักเรียนจะเติบโตอย่างทันที นักเรียนจะต้องเก่งในวิชาของเราอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งคาดหวังในระยะสั้นมากเท่าไร ยิ่งทำให้หมดกำลังใจมากเท่านั้น
แต่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เช่น ช่วงรอยต่อระหว่างการปิดเทอม-เปิดเทอม หรือวันประชุมผู้ปกครอง เชื่อว่าคุณครูหลายท่านต้องเคยพบกับประสบการณ์ที่ผู้ปกครองส่งของขวัญมาให้เป็นกำลังใจ นักเรียนเอ่ยปากชื่นชมว่าชอบเรียนกับคุณครู ได้เห็นการเติบโตของนักเรียนที่ชัดเจนขึ้น เมื่อรู้แบบนี้แล้ว ชวนให้คุณครูอดใจรออีกหน่อยนะ เมล็ดพันธุ์ที่หว่านไว้อาจจะผลิดอกออกผลในช่วงเวลาอีกไม่นาน รอชมความงดงามกันก่อนนะ
🔥 อย่าคาดหวังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเวลาอันสั้น
คุณครูหลายท่านมีความฝันที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้ดีขึ้น มีความคาดหวังว่าตนเองจะเป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แต่เมื่อได้เจอกับปัญหาจริง ๆ กลับทำให้เกิดความรู้สึกว่า “ฉันคงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ เพราะปัญหามันมากมายเหลือเกิน” จึงตัดสินใจที่จะถอยออกมาด้วยการลาออก
ลองปรับมุมมองในการทำงานด้านการศึกษา ว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จาก “คนตัวเล็ก ๆ ที่ช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลง” ทำงานร่วมกับคุณครูคนอื่นมากยิ่งขึ้น ออกไปเข้าร่วมกับหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนด้านการศึกษา เราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยจุดไฟในตัวคุณครู และมองเห็นทิศทางในการทำงานได้ชัดเจนขึ้น
🥛 ดูแลตัวเองในเรื่องพื้นฐาน เหนื่อยก็พัก หิวก็กิน
เมื่อพบเจอกับปัญหารุมเร้า หลายครั้งที่เราเอาใจไปผูกกับปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามา จนหลงลืมการดูแลตัวเองในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ทำงานจนไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน อดหลับอดนอนเพื่อต้องเตรียมการสอน ปล่อยให้ตัวเองทรุดโทรมโดยไม่ออกกำลังกาย
ลองกลับมาดูแลตัวเองให้มากขึ้น ดื่มน้ำให้มาก ขยับร่างกายบ้าง ง่วงก็งีบเล็กน้อย โทรหาเพื่อนในวันที่รู้สึกเหงา ๆ ทำอะไรให้ช้าลงอีกนิด พูดคุยกับนักเรียนที่ไม่ใช่เรื่องการเรียนบ้าง หาเวลาสัก 30 นาทีในแต่ละวันเพื่อทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยชุบชูใจของคุณครูได้มากเลยละ
🎯 ทดลองทำอะไรสนุก ๆ ในเรื่องที่เคยสนใจมาก่อน
นอกจากการเป็นครูแล้ว คุณครูเคยอยากทำอะไรมาก่อนไหมนะ หากเคยอยากเป็นนักดนตรี ลองหยิบเครื่องดนตรีมาเล่นก่อนนอนดูไหม หากเคยอยากเป็นนักเขียน ลองเขียนบทความในทุก ๆ เช้า หากเคยอยากเป็นผู้บริหาร ลองศึกษาเส้นทางการศึกษาต่อก็ไม่เลวนะ
การทำสิ่งเหล่านี้ นอกจากจะเป็นการฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ ที่นอกเหนือจากงานหลักแล้ว ยังทำให้เรามองชีวิตไปข้างหน้า พัฒนาตัวเองให้ไม่หยุดอยู่กับที่ และอาจจะเกิดเป็นทักษะใหม่ ๆ ที่นำไปใช้ประกอบอาชีพในอนาคตก็ได้นะ!
คุณครูที่กำลังรู้สึกเหนื่อยล้าอยู่ในตอนนี้
พวกเราขอเป็นกำลังใจให้คุณครูทุกคนเลย
อย่าลืมหาเวลาพักผ่อนให้ตัวเองบ้างนะ
พวกเรา insKru พร้อมซัพพอร์ตเสมอ ๆ เลย
เรียบเรียงจาก
edutopia.org/.../6-things-consider-leaving...
Buddy Kru เพื่อนซี้คนใหม่ที่พร้อมเป็นกำลังใจให้คุณครูเสมอ เปิดให้ทดลองใช้ Buddy Kru ฟรี 1 ปี ในฐานะกลุ่มวิจัยได้แล้ววันนี้ คลิก forms.gle/6PPBgFXAYvVEJzML6
แท็กที่เกี่ยวข้อง