✨ คาบเรียนนี้ดีจัง แต่ไม่รู้จะเล่าให้คนอื่นฟังยังไงดี?
คำถาม 5 ข้อ ที่ช่วยถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นในห้องเรียน
เคยไหม? ที่รู้สึกว่าคาบเรียนล่าสุดนั้นเต็มเติมหัวใจจัง!
อยากจะบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในคาบเรียนนั้น
แต่ก็ดันคิดไม่ออก ไม่รู้จะบอกเล่าให้คนอื่นฟังอย่างไรดี
“เฮ้อ เอาไว้ก่อนละกัน” สุดท้ายเหตุการณ์ก็ลอยหายไป
ชวนคุณครูทุกคนบอกเล่าเรื่องราวผ่านชุดคำถาม 5 ข้อ
เพื่อบันทึกและถ่ายทอดความประทับใจในคาบเรียน
เล่ายังไงให้เข้าใจ เขียนอย่างไรให้เห็นภาพ ไปดูกัน!
💭 คำถามที่ 1 คาบเรียนนี้ มีหลักการ แนวคิดอย่างไร?
ย้อนกลับมาตั้งคำถามกับมุมมอง หลักการ และแนวคิด
คาบเรียนที่เกิดขึ้นนั้นอยู่บนฐานคิดแบบไหนของเรานะ
ทำไมเราถึงสอนเรื่องนี้ มันมีความสำคัญต่อนักเรียนยังไง
แล้วมันนำไปสู่การสร้างบทเรียนของในคาบนี้ได้อย่างไร
✏️ ตัวอย่างการเล่าเรื่อง
“เราอยากสร้างการเรียนรู้ในหัวข้อ ‘อุปสงค์-อุปทาน’
และไม่เชื่อว่าการพูดบรรยายจะสร้างการเรียนรู้ที่ดีได้
จึงอยากลองออกแบบกิจกรรมที่นักเรียนได้ลงมือทำ”
💭 คำถามที่ 2 เรามีบทบาทในการสร้างการเรียนรู้อย่างไร?
กลับมาทบทวนกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในคาบเรียนนั้น
ตัวคุณครูเองมีบทบาทในการสร้างการเรียนรู้อย่างไรบ้าง
เราใช้คำถามแบบไหนไป เรายกตัวอย่างสถานการณ์ไหน
เราหยิบยกประเด็นไหนเพื่อขยายขอบเขตของบทสนทนา
✏️ ตัวอย่างการเล่าเรื่อง
“เราจะออกแบบกิจกรรมให้นักเรียนได้เป็น ผู้ซื้อและผู้ขาย
และกำหนดเงื่อนไขให้นักเรียนต่อรองราคาซื้อขายน้ำมัน
บทบาทของเราจะมีเพียงการดำเนินกิจกรรมในช่วงหลัก
และใช้คำถามถอดบทเรียนในช่วงท้ายคาบเรียนเท่านั้น”
💭 คำถามที่ 3 เราเห็นอะไร เรียนรู้อะไร และรู้สึกอย่างไร?
คาบเรียนที่เกิดขึ้น ตัวคุณครูได้เห็น รับรู้ และรู้สึกอย่างไร
คาบเรียนที่เราออกแบบ นักเรียนแสดงพฤติกรรมอะไรบ้าง
นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กับบทเรียนและเพื่อนร่วมห้องอย่างไร
คุณครูเกิดความคิดหรือรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ตรงหน้า
✏️ ตัวอย่างการเล่าเรื่อง
“หลังจากที่นักเรียนเริ่มทำกิจกรรมที่จะต้องซื้อ-ขายน้ำมัน
ห้องเรียนเสียงดังมาก จากการต่อรองราคาของผู้ซื้อผู้ขาย
แต่เรากลับรู้สึกดีมาก เพราะมันคือธรรมชาติของกิจกรรม
จึงตัดสินใจเพิ่มคำถามในการกระตุ้นความคิดของนักเรียน”
💭 คำถามที่ 4 บทสนทนาใดที่ทำให้เรารู้สึกประทับใจ?
นอกจากการสังเกตเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในคาบเรียน
การรับรู้ว่านักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างไรจากบทสนทนา
อาจจะเป็นวิธีที่ทำให้มองเห็นบางสิ่งที่ซ่อนอยู่ในคาบนั้น
และทำไมบทสนทนานั้นมันทำให้เรารู้สึกประทับใจกันนะ
✏️ ตัวอย่างการเล่าเรื่อง
“ระหว่างที่ทำกิจกรรม นักเรียนคนหนึ่งได้พูดขึ้นมาว่า
‘มีแต่ผู้ขายเต็มไปหมด แบบนี้จะต่อรองราคาได้ยังไง!’
เราจึงรู้สึกว่ากิจกรรมที่เราออกแบบมาในคาบเรียนนี้
ทำให้เขาได้เข้าใจ ‘ธรรมชาติของกลไกราคาตลาด’
ซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่เราคิดว่าเราทำสำเร็จแล้วละ!”
💭 คำถามที่ 5 คาบเรียนต่อไปจะมีหน้าตายังไงนะ?
จากคาบเรียนที่เกิดขึ้น ควรมีจุดไหนต้องปรับปรุงบ้าง
ทบทวนวิธีคิดของตนเอง พร้อมกับบทเรียนที่สร้างขึ้น
หรือมีจุดไหนที่คิดว่าถ้าเพิ่มเติมไป จะทำให้เกิดผลดี
เพื่อเป็นการท้าทายตัวเองในการออกแบบครั้งต่อไป
✏️ ตัวอย่างการเล่าเรื่อง
“แม้ว่ากิจกรรมในวันนี้จะน่าพึงพอใจ แต่เราสังเกตว่า
นักเรียนบางคนเลือกที่จะไม่ซื้อขายน้ำมันกับเพื่อนเลย
เราน่าจะต้องเพิ่มเงื่อนไขของกิจกรรมเข้าไปอีกนิดนึง
เพื่อกระตุ้นให้ทุก ๆ คนอยากร่วมกิจกรรมมากยิ่งขึ้น
การเขียนเล่าเรื่องราวในห้องเรียนนั้นมีความสำคัญ
ทำให้เราได้กลับมาทบทวนความคิดและความรู้สึก
นอกจากนี้อาจจะเป็นการจุดประกายเพื่อนครูคนอื่น
เพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ในการสอนใหม่ ๆ ก็ได้นะ
มาเขียนเล่าเรื่องราวการสอนของแต่ละคนกันเถอะ!
บทความโดย ครูพล-อรรถพล ประภาสโนบล
เรียบเรียงโดย มะพร้าว-ฉัตรบดินทร์ อาจหาญ
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!