icon
giftClose
profile
frame

สอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์โดยบูรณาการณ์ทฤษฏีสหบท intertextua

16673
ภาพประกอบไอเดีย สอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์โดยบูรณาการณ์ทฤษฏีสหบท intertextua

ที่มาของไอเดีย หรือ จุดประสงค์การสอน

 สอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์โดยบูรณาการณ์ทฤษฏีสหบท (intertextuality)

              การจัดการเรียนรู้เรื่องการเขียนเชิงสร้างสรรค์โดยบูรณาการณ์ทฤษฏีสหบท (intertextuality) ดังกล่าวนี้ข้าพเจ้าได้รับแนวความคิดมาจาก อ.ดร.อธิกมาส มากจุ้ย อาจารย์ของข้าพเจ้าในสมัยเรียน และนำมาปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนในระดับมัธยมมากยิ่งขึ้นโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ขั้นตอน

๑. ตัวชี้วัด

            ผลิตงานเขียนของตนเองในรูปแบบต่าง ๆ

๒. จุดประสงค์การเรียนรู้

๒.๑ นักเรียนสามารถสร้างงานเขียนเรื่องสั้นอย่างสร้างสรรค์ได้


ตัวอย่างการจัดการเรียนรู้

๑. นักเรียนและครูร่วมกันอภิปรายในหัวข้อ “เรื่องสั้นและทฤษฏี Intertextuality”

๒. นักเรียนอ่านเรื่องสั้นเรื่อง ข้ามดาว (แนบท้ายแผน)

๓.  นักเรียนช่วยกันวิเคราะห์เรื่องสั้นเรื่อง ข้ามดาว ผ่านคำถามดังนี้

“นักเรียนคิดว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้สหบทโดยใช้กลวิธีใดและสหบทมาจากอะไร”

(แนวคำตอบ : Askesis การสร้างงานใหม่ให้แตกต่างและโดดเด่นจากงานเก่า สหบทมาจากเพลง ฝนตกไหม)

"ตัวบทที่ ๑ และตัวบทที่ ๒ มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง"

( แนวคำตอบ : ตัวบทที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่มีโครงเรื่องใหม่ ตัวละครใหม่แต่ยังคงฉากและนำเหตุการณ์สำคัญของตัวบทที่ ๑ เอาไว้ )

๔. นักเรียนทำกิจกรรม “คบเด็กสร้างเรื่อง” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

๔.๑ นักเรียนกลับเข้ากลุ่มเดิมของตนนักเรียนฟังเพลง “ทุ่งนางคอย”

๔.๒ นักเรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันร่างงานเขียน (เขียนโครงเรื่อง) โดยจะต้องสหบทกับบทเพลงที่ฟังซึ่งจะ

เลือกใช้เทคนิคการสหบทแบบใดก็ได้

หมายเหตุ : ในขั้นนี้ ครูจะทำหน้าที่เป็นผู้คอยให้คำปรึกษาเนื่องจากนักเรียนเป็นผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการสร้างงานเขียน

๔.๓ นักเรียนแต่ละกลุ่มออกมานำเสนอโครงเรื่องสั้นของกลุ่มตนเอง เมื่อนำเสนอจบนักเรียนจะต้องช่วยกันวิเคราะห์ว่ากลุ่มที่นำเสนอใช้เทคนิคใดในการสหบทแบบใด

๕.  นักเรียนร่วมกันอภิปรายในหัวข้อ “ปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญในขั้นตอนการสร้างเรื่องสั้น”

๖.  นักเรียนจับสลากเพลงคนละ ๑ เพลงและต้องแต่งเรื่องสั้นโดยจะต้องใช้เทคนิคสหบทกับเรื่องสั้นอย่างน้อย ๑ เทคนิค


สหบทคืออะไร?

สหบท นำมาใช้อธิบายเรื่องตัวบทวรรณกรรม วรรณคดีมีลักษณะที่ไม่แน่นอน เป็นผลผลิตของความปรารถนาและแรงผลักดันอันเป็นอัตวิสัย ซึ่งจะมีหลากหลายวิธีทั้งนี้ข้าพเจ้าได้เลือกมา 3 แบบเพื่อใช้ในการบูรณาการณ์สอนดังนี้

1. การปรับแต่งงานเขียนเดิม (Clinamen) หมายถึง การติดตามงานของผู้ที่เขียนมาก่อนและหลบหลีกแนวทางจากกวีรุ่นก่อน เป็นการอ่านเพื่อตีความใหม่ หรือการเข้าใจในบทร้อยกรองที่แตกต่างไปโดยการอ่านบทร้อยกรองของนักเขียนรุ่นก่อนและดำเนินการแก้ไขบทร้อยกรองของเขา ซึ่งหมายถึง บทร้อยกรองของนักเขียนรุ่นก่อนมีความถูกต้องตามความเข้าใจของเขาแต่นักเขียนรุ่นต่อมาได้แก้ไขปรับใหม่เพื่อให้เกิดบทร้อยกรองใหม่

2. การหลอมรวมงานหลายชิ้นแล้วใส่จินตนาการเพิ่มเติม (Tessara) คือ ความตั้งใจในการสร้างส่วนที่จะเป็นไปได้โดยพิจารณาจากงานของคนที่เขียนมาก่อนในฐานะงานใหม่ทั้งหมด ซึ่งหมายถึง นักเขียนนำแนวคิดหนึ่งหรือหลายแนวคิดจากแหล่งที่มาที่แตกต่างกันและเชื่อมโยงแนวคิดเหล่านั้นเข้าด้วยกันเป็นจินตนาการใหม่ หรือเรื่องใหม่ ดังนั้นนักเขียนรุ่นใหม่จะต่อต้านความสมบูรณ์ของงานของนักเขียนรุ่นก่อน โดยจะทำการอ่านงานของกวีต้นแบบเพื่อรักษาไว้ หากแต่ก็นำแนวคิดของงานนั้นมาทำใหม่จนเกิดเป็นงานใหม่ 

3. การหลีกหนีแนวการเขียนตามขนบเดิม (Kenosis) อธิบายว่า ความพยายามในการเลี่ยงการเขียนตามแนวทางของนักเขียนรุ่นก่อน ซึ่งเป็นเสมือนกลไกการป้องกันตนเองที่จะไม่ทำงานเขียนซ้ำกับงานที่มีอยู่เดิม ดังนั้น นักเขียนรุ่นหลังจะแสดงความสัมพันธ์กับงานเขียนของนักเขียนรุ่นก่อนน้อยลงซึ่งเป็นการลดทอนอิทธิพลของงานเขียนของนักเขียนดั้งเดิม



 

ผลลัพธ์ที่เกิด หรือ คาดว่าจะเกิดขึ้น

การใช้ทฤษฏีสหบทเข้ามาจะช่วยทำให้นักเรียนสามารถเขียนเรื่องสั้นอย่างสร้างสรรค์ได้ ง่ายขึ้นเนื่องจากมีสื่อต่าง ๆ ที่จะนำมาสหบทเป็นฐานให้ผู้เรียนได้ต่อยอดความคิด

บริบท หรือ ข้อเสนอแนะ

ฝากติดตามผลงานการเขียนเรื่องสั้นโดยใช้ทฤษฏีสหบทของนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร (มัธยมศึกษา) ได้ที่

เผจ : กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร

หรือ : https://www.facebook.com/profile.php?id=100057546395778

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 1

ชื่อไฟล์​: ตัวอย่างเรื่องสั้นสหบท ข้ามดาว.pdf

ดาวน์โหลดแล้ว 13 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(2)
เก็บไว้อ่าน
(12)