จากการศึกษาสภาพปัญหาการอ่านและการเขียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑–๓ พบว่านักเรียนยังมีปัญหาการสะกดคำ การผันวรรณยุกต์ และการวิเคราะห์ประโยคโดยมีสาเหตุมาจากการจัดการเรียนการสอนของครูที่เน้นวิธีการท่องจำ ฝึกซ้ำ ย้ำทวนในรูปแบบเดิมส่งผลให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่าย ไม่มีความสุขในการเรียนรู้
การศึกษาแนวคิดทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์ พบว่า นักเรียนในช่วงวัยประถมศึกษา (๗-๑๑ ปี) สามารถคิดย้อนกลับ ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ยิ่งไปกว่านั้น ทฤษฎีลำดับขั้นการพัฒนาบุคลิกภาพของอีริคสัน กล่าวว่า เด็กอายุ ๖-๑๑ ปี หากมีความคิดริเริ่มตั้งแต่ต้นจะทำให้เป็นคนอุตสาหะ ยิ่งได้รับแรงกระตุ้นจากผู้ใหญ่จะทำให้เกิดความขยันมากขึ้น ดังนั้น สามารถสรุปได้ว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาจะมีลักษณะที่สำคัญ คือ เด็กจะเกิดการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำด้วยตัวเองจากความอยากรู้อยากเห็น ตลอดจนเกิดการเรียนรู้ผ่านการเล่น การแข่งขัน การแสดงความสามารถ การแสดงความคิดเห็นในกระบวนการกลุ่ม
จากสภาพปัญหา ธรรมชาติ และความสนใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษา ตลอดจนบริบทและสิ่งแวดล้อมรอบโรงเรียนจึงทำให้เกิดการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรม “แผงเพลินอักษร” โดยใช้วัสดุเหลือใช้ (ฝาขวดน้ำ) มาประดิษฐ์เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ในรายวิชาภาษาไทย เรื่อง การอ่านเขียนสะกดคำ การวิเคราะห์ประโยค และการผันวรรณยุกต์โดยใช้แนวคิดการจัดการเรียนรู้ผ่านการเล่นอย่างเพลิดเพลิน (Play+Learn=Plearn) รูปแบบครูมาร์ชและการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ซึ่งเหมาะสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา นอกจากนี้ยังบูรณาการแหล่งเรียนรู้ในชุมชนโดยใช้ความคุ้นเคยกับบริบทชุมชนเป็นพื้นฐานในการกำหนดคำ ข้อความเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย