กิจกรรม "นักสืบลายนิ้วมือ (Fingerprint’s spy)" เป็นกิจกรรมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากนิตยสาร สสวท. ปีที่ 43 ฉบับที่ 191 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2557) ซึ่งรูปแบบของกิจกรรมจะเป็นการสืบเสาะร่วมกับความรู้ทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อยืนยันบุคคลว่าใครคือคนร้าย โดยสังเกตจากสิ่งที่ทุกคนมีอยู่บนร่างกายและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นั่นก็คือ "ลายนิ้วมือ" ที่คนร้ายได้ทิ้งหลักฐานเอาไว้ ผ่านสถานการณ์ดังนี้
"เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2566 เวลา 22.00 น. ได้เกิดเหตุขโมยขึ้นหอพักของนางสาวเจน (นามสมมติ)อาศัยอยู่ในตัวเมืองสงขลา โดยคนร้ายได้ก่อเหตุขโมยสิ่งของมีค่าของผู้เสียหายและทำร้ายร่างกายนางสาวเจน จนหมดสติ เมื่อวิเคราะห์ภาพจากกล้องวงจรปิดพบว่า คนร้ายได้งัดประตู โดยใส่หมวกและผ้าปิดหน้ามิดชิดแต่ไม่ใส่ถุงมือ พร้อมหยิบจับสิ่งของเพื่อค้นหาทรัพย์สินของนางสาวเจนหลายตำแหน่ง เมื่อทำการตรวจสอบลายนิ้วมือบนทรัพย์สินภายในห้องของนางสาวเจน ได้แก่ ลูกบิดประตู กระเป๋าสะพาย ลิ้นชัก ผนักพิงเก้าอี้ บานเปิดหน้าต่าง โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ พบว่าสิ่งของข้างต้นปรากฏลายนิ้วมือของผู้ต้องสงสัย เมื่อพิจารณาร่วมกับลักษณะสัณฐานของคนร้ายจากกล้องวงจรปิดแล้ว พบว่ามีลักษณะคล้ายกับผู้ต้องสงสัย 3 คน ได้แก่ นางสาวบุษบา นายแมน และนายยอด"
ลายนิ้วมือที่ปรากฏบนวัตถุต้องสงสัย
ข้อมูลประวัติส่วนตัวและลายนิ้วมือของผู้ต้องสงสัย
จากนั้นให้ร่วมกันพิสูจน์ว่าใครเป็นคนร้ายจากลายนิ้วมือที่ปรากฏบนวัตถุต้องสงสัยร่วมกับลายนิ้วมือของผู้ต้องสงสัย พร้อมอธิบายวิธีการดำเนินการเพื่อหาตัวคนร้ายจากสถานการณ์ครั้งนี้อย่างไร
จากกิจกรรมข้างต้น ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ระดมสมอง (Brainstorming) ร่วมกันคิดวิเคราะห์จากข้อมูลที่ได้ เพื่อคาดการณ์และเชื่อมโยงข้อมูลกับสิ่งที่เกิดขึ้น สรุปองค์ความรู้ได้ด้วยตนเองผ่านกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งให้เห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำความรู้มาแก้ปัญหาในชีวิตจริง เป็นการสร้างห้องเรียนร่วมกับนิติวิทยาศาสตร์ทำให้ห้องเรียนมีความแปลกใหม่และเพิ่มความท้าทายแก่ผู้เรียนมากยิ่งขึ้น
กิจกรรม "นักสืบลายนิ้วมือ (Fingerprint’s spy)" ได้จัดขึ้นในโครงการ "ค่ายพัฒนาศักยภาพหลักสูตรและครูผู้สอนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในระบบการศึกษาด้วยแนวทางเชิงสมรรถนะวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21" เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ณ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ถึงแม้จะเป็นการจัดกิจกรรมให้กับเพื่อนร่วมวิชาชีพ แต่ก็เป็นการส่งต่อไอเดียให้คุณครูได้นำไปจัดกิจกรรมกับผู้เรียนต่อไป (ฟีลรู้สึกดีไปอีกแบบ)
ขอขอบคุณ ดร.ฮามีด๊ะ มูสอ ที่เปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรม "นักสืบลายนิ้วมือ (Fingerprint’s spy)" ในการพัฒนากิจกรรมให้กับคุณครูที่เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ อีกครั้ง
สุดท้ายนี้ ผมเชื่อว่าทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสามารถนำมาจัดกิจกรรมในห้องเรียนได้ มาสร้างห้องเรียนที่แปลกใหม่และสนุกสนานไปด้วยกัน
ขอบคุณครับ
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!