โค้ช เป็นคำสากล ที่นำมาใช้ในหลายวงการ
โดยคำว่า การโค้ช คือ
"การเป็นหุ้นส่วนกับผู้รับการโค้ช
ในกระบวนการกระตุ้นความคิดอย่างสร้างสรรค์
เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขา
นำเอาศักยภาพทั้งส่วนตัวและวิชาชีพมาใช้อย่างสูงสุด"
โดยผมนำนิยามศัพท์นี้มาจากสหพันธ์การโค้ชนานาชาติ
ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับรองวิทยฐานะของสถาบันด้านการโค้ชทั่วโลก
และออกใบประกอบวิชาชีพโค้ชในระดับสากล
ทำให้เราได้เข้าใจว่า การโค้ช กับ การสอน มีความแตกต่างกัน
หากเราดูนิยามของการโค้ช เราพบคำว่า "หุ้นส่วน"
ที่ ครูโค้ช เราจะเป็นกัลยาณมิตร โดยไม่นำ อำนาจนิยม มาใช้ในชั้นเรียน
และนำทฤษฏีทางจิตวิทยาเชิงบวก มาสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้
โดยกระตุ้นความคิดอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ
บทบาทจากครูสอน จึงเปลี่ยนไปในมิติให้ผู้เรียนได้เห็นถึง ความสำคัญในการเรียนรู้
ซึ่งเราเชื่อมได้กับคำว่า Engagement เพื่อสร้างความสนใจให้กับผู้เรียน
ที่เป็นวัฏจักรการเรียนรู้แบบ 5 ขั้น (5E) ของ สสวท.
และหัวใจสำคัญคือประโยคสุดท้าย
ที่เป็นคำตอบได้เลยว่าทำไม ครูสอน จึงต้องเป็น โค้ช
เพราะการศึกษาในปัจจุบัน เน้นเรื่อง Competency Based Education
บนความเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ ความถนัด และพรสวรรค์ เฉพาะตน
การศึกษาจึงต้อง บ่มเพาะ (Cultivate) เมล็ดพันธุ์ทางปัญหาให้กับผู้เรียนของเรา
ทั้งความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) และคุณลักษณะ (Attribute)
เพื่อกระตุ้นผู้เรียน ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
และครูโค้ช ดึง ศักยภาพ ของผู้เรียนออกมาได้นั้น
ทักษะ การถาม จึงสำคัญสำหรับครูโค้ช
โดยเราอาจลองตั้ง 4 คำถามทองคำ เมื่อจบแต่ละกิจกรรม
ครูโค้ชอาจให้ผู้เรียนได้ตอบคำถามเหล่านี้เป็นรายบุคคล
และหลังจากนั้นมาจัดกลุ่ม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ก่อเกิดการทำงานร่วมกัน (Collaboration)
ด้วยการสื่อสาร (Communication)
ให้ได้คิดวิเคราะห์ (Critical Thinking)
และสร้างผลงาน เกิดความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)
หัวใจสำคัญ สำหรับการตั้งคำถาม
คือ เราต้องเชื่อมโยงกับบทสนทนา
เพื่อให้การตั้งคำถาม ไม่กระโดด และรื่นไหล
ไม่คาดคั้น ไม่จ้องจับผิด
เราจึงหลีกเลี่ยงคำถามที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ทำไม
และให้ใช้คำขึ้นต้นว่า อะไร
โดยเป็นคำถามปลายเปิด เพื่อให้อิสระในการตอบ
ให้ผู้เรียนได้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และความตระหนักรู้
ครูโค้ช จึงใช้ คำถาม
เป็น การสอน
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย