เมื่อเรายอมรับทางบวกกับใครสักคน อย่างไม่มีเงื่อนไข
Unconditional Positive Regard แสดงว่า
เราเชื่อใน ศักยภาพ ของผู้นั้นอย่างสุดหัวใจ
ทำให้ผมนึกถึงตอนที่เริ่มเรียนการโค้ชมืออาชีพจากสถาบันโค้ชไทย
อาจารย์ ดร.เทอดทูน ไทศรีวิชัย สอนเสมอว่า
จงเชื่อมั่นว่ามนุษย์ที่อยู่ตรงหน้ามีศักยภาพ
ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีของ Carl Rogers ผู้คิดค้นทฤษฎีการบำบัด
แบบผู้รับการปรึกษาเป็นศูนย์กลาง (Client-centered Therapy)
โดยผู้ที่เป็นโค้ช ต้องใส่ใจที่จะฟัง (Deep listening)
ไม่ด่วนตัดสิน ชี้ผิด ชี้ถูก โดยเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน
และเคารพในคุณค่าความเป็นมนุษย์และศักยภาพของผู้รับคำปรึกษา
เมื่อเรากลับมาประยุกต์ใช้ในมุมของ ครู
การเป็น ครูโค้ช จึงต้องเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Student centered) เช่นกัน
แต่ เอ๊ะ!! คำว่า Student centered เป็นวาทะกรรม
ที่ผมได้ยินมาตั้งแต่เป็นนิสิตฝึกสอน เมื่อกว่า 30 ปี ก่อน
และเราเองก็สอนตามหนังสือ ที่โรงเรียนประมูลมาได้
โดยอธิบายทุกสิ่งอย่าง และเราก็คิดไปเองว่า ครู คือ ผู้รู้ทุกอย่าง
ให้นักเรียนนั่งตาใส ฟังเราบรรยาย
แล้วให้นักเรียนท่องจำ เป็นนกแก้ว นกขุนทองกันไป
หากเราย้อนกลับไปดูคุณค่าความเป็นมนุษย์ของ Carl Rogers
ทฤษฎีนี้ทำให้ผมตระหนักรู้ถึงการเชื่อมั่นในศักยภาพของคน (Potential)
ครูโค้ชจึงต้องสร้างสถานการณ์ ออกแบบภารกิจ (Task) หรือสถานการณ์ชีวิต (Life situations)
เพื่อดึงสมรรถนะ (Competency) ที่ประกอบด้วย
ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) และคุณลักษณะ (Attribute)
โดยครูโค้ชใช้ทักษะทั้งการฟัง การถาม การสะท้อนกลับและชื่นชม
ที่ผมได้เคยเขียนไว้ใน Ep 1-3 เพื่อให้ผู้เรียนได้ประยุกต์ใช้ K S A
แล้วแสดงออกมาเป็น Performance
ตามผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome)
และนี่ก็คือ กรอบแนวคิดเกี่ยวกับ สมรรถนะ
คุณลักษณะของ ครูโค้ช
จึงสอดคล้องกับหลักสูตรและกิจกรรมฐานสมรรถนะ
ที่เปลี่ยนบทบาทจากครูผู้สอน เป็นโค้ช
ภายใต้สถานการณ์ที่ผู้เรียนมีความสนใจ (Engagement)
และสอดคล้องกับบริบทชีวิตจริง สร้างการเรียนรู้
แบบ Authentic Learning อย่างมีความหมายในชีวิต
แล้วครูโค้ชก็เป็นที่ปรึกษา คอยชี้ทางบรรเทาทุกข์
และชี้สุขเกษมสานต์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้เรียน
ได้เกิดความสงสัย มึนงง กวนน้ำให้ขุ่น
เมื่อศิษย์พร้อม ครูโค้ชก็ปรากฏเองครับ
จังหวะนี้ เรียกว่าผู้เรียนเกิด Self awareness
ที่ผู้เรียนรู้เท่าทันในการควบคุมอารมณ์ของตนเอง
การรับรู้ในเรื่องของความคิด ความอ่านของตน
และเลือกกระทำสิ่งต่าง ๆ ให้มีผลลัพธ์ที่ดี
รวมถึงการใช้ชีวิตกับคนในสังคม
โดยมีพฤติกรรมอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้
แนวทางการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน
จึงต้องเปลี่ยนบทบาทจากครูสอน เป็น โค้ช
ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Student centered)
ที่ครูโค้ชต้องสร้างสถานการณ์ที่สัมพันธ์ในชีวิต
โดยครูโค้ชใช้ทักษะการฟัง การถาม สะท้อนกลับและชื่นชม
เพื่อให้ผู้เรียนได้ตระหนักรู้ (Self awareness)
เมื่อศิษย์พร้อม ครูก็ปรากฏ
เพื่อชี้ทางบรรเทาทุกข์ ในประเด็นที่ผู้เรียนคาดหวัง
โดยมุ่งที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome)
มากกว่ามุ่งไปที่ผลสอบที่เป็น Learning output
และจงเชื่อใน ศักยภาพ ของมนุษย์ที่อยู่ตรงหน้าครับ
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย