inskru
insKru Selected

กิจกรรม พยายามส่ง จำกัด เมื่อฉันเป็นประธานบริษัท

0
0
ภาพประกอบไอเดีย กิจกรรม พยายามส่ง จำกัด เมื่อฉันเป็นประธานบริษัท

ที่มาของไอเดีย หรือ จุดประสงค์การสอน

จากกฎของนิวตันเข้าสู่การเคลื่อนที่ ซึ่งเราเริ่มจากการเคลื่อนที่แนวตรง ด้วยโจทย์ที่ว่าทำยังไงนักเรียนจะสามารถประมาณเวลาเดินทางในชีวิตประจำวันได้

พร้อมๆกับรู้จักอัตราเร็ว ความเร็ว ระยะทาง การกระจัดไปพร้อมๆกัน และอาจจะแถมทักษะอื่นๆ

เช่น การวางแผน จินตนาการ คิดวิเคราะห์ การประมูล และความรู้ด้านอื่นๆผสมไปด้วย

.

จากคำถามชวนสงสัยว่า shopee และ Lazada รวมถึงรูปแบบธุรกิจขนส่งอื่นๆ ทำงานอย่างไร อยู่กันได้อย่างไร มีจุดเด่นแบบไหน ก็เลยลองทำเป็นกิจกรรมนี้ขึ้นมาครับ

หลักๆกิจกรรมนี้จะเป็นการให้นักเรียนแข่งกัน "ตั้งบริษัทขนส่ง" ขึ้นมา แข่งกับ Line Man Lazada และ shopee โดยบริษัทเหล่านี้จะทำธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่ง เช่น ขนส่งคน ขนส่งสิ่งของ และเดลิเวอรี่ขนส่งอาหาร เพื่อทำกำไรแข่งกัน

โดยมีจุดมุ่งหมายว่าบริษัทไหนได้กำไรและมีเงินคงคลังมากที่สุดถือว่าเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดและเป็นผู้ชนะกิจกรรมนี้ไป

ขั้นตอน

ด้วยรูปแบบหลักๆของกิจกรรม จะมีลักษณะแบ่งเป็น 2 ช่วง

ช่วงแรก เราจะให้งบลงทุนไปเพียงบริษัทละ 40,000 บาทเป็นเงินสมมุติครับ จากนั้นแต่ละบริษัท จะนำเงินไปซื้ออุปกรณ์ และทรัพยากรให้กับทีม อาทิ เช่น รถ เครื่องบินมอเตอร์ไซค์ และพาหนะที่จะใช้ในการขนส่งสินค้า โดยมีตั้งแต่เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ มอเตอร์ไซค์ รถ 6 ล้อ รถบัสที่แต่ละแบบก็ต้องใช้ค่าดำเนินการ ค่าน้ำมัน รวมถึงให้ผลประกอบการที่แตกต่างกัน

จากนั้นช่วงที่สองทั้งทีม จะนำทรัพยากรที่ได้ ทำการให้บริการ กับผู้รับบริการ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งของทั่วไป การขนส่งคน และการเดลิเวอรี่ขนส่งอาหาร เป็นต้น ในระหว่างที่ทำธุรกิจนี้จะได้รับเงินตอบแทนในแต่ละ Order ภารกิจ ทีมไหนที่ได้เงินมากที่สุด บริษัทก็จะเติบโตและเป็นผู้ชนะไปครับ

.

เริ่มกิจกรรม จากการชวนคุยเรื่องใกล้ตัว เช่นทุกวันนี้เราซื้อของหรือเดินทางกันอย่างไร โดยส่วนใหญ่ก็จะตอบว่า shopee ครับ Lazada ครับ ซื้อออนไลน์บ้าง ไปซื้อที่ห้างสรรพสินค้าบ้าง เดินทางด้วยเครื่องบินบ้าง รถไฟฟ้า BTS บ้างจากนั้น ชวนวิเคราะห์ก่อนว่า ทำไมเราถึงเลือกใช้บริการ platform เหล่านี้ เขามีจุดเด่นอะไรและเขาได้กำไรจากตรงส่วนไหน

.

จากนั้นชวนนักเรียนแชร์ วงใหญ่ กันทั้งห้องครับ หลังจากแชร์แล้วก็จะชวนทำกิจกรรม

.

โดยกิจกรรมจะรับสมัครคนที่อยากจะเป็น ประธานบริษัท จำนวน 5 คน เพื่อก่อตั้งบริษัทจำนวน 5 บริษัท

จากนั้นกำหนดฝ่ายต่างๆที่จะเป็นพนักงานให้แต่ละบริษัท

ฝ่ายนักประมูล จำนวน 5 คนจากทั้งห้อง ทำหน้าที่ประมูลในภารกิจต่างๆของบริษัท

ฝ่ายการคลัง จำนวน 5 คน จะดูรายการเงิน คำนวณต้นทุน กำไรในแต่ละวัน

ฝ่ายยานพาหนะ จำนวน 5 คน ซึ่งจะควบคุมดูแลยานพาหนะทั้งหมดของบริษัทว่า ในวันนี้มีภารกิจใดบ้างที่สามารถใช้งานได้

ฝ่ายนักวางแผน จำนวน 10 คน ถึงต้องเป็นฝ่ายที่วางแผนรับภารกิจต่างๆ ให้ได้มาซึ่งเงินและกำไร รวมถึงคำสั่งซื้อของบริษัท

ฝ่ายนักคำนวณเส้นทาง จำนวน 10 คน ซึ่งจะต้องคำนวณเส้นทางในการเดินทางเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายให้ทันก่อนเส้นตาย เพื่อให้สามารถส่งของหรือส่งอุปกรณ์ได้อย่างสมบูรณ์

.

จากนั้นเราชวนนักเรียนให้ไปสมัครงานกับบริษัททั้ง 5

ซึ่งก่อนหน้านั้นเราจะให้ประธานบริษัททั้ง 5 แนะนำชื่อบริษัท พร้อมสโลแกนและวิธีการทำงานของแต่ละบริษัทเพื่อดึงดูด พนักงาน ที่ตอนนี้กำลังจะต้องเลือกสมัครงาน

โดยที่ตำแหน่งที่มี 10 คน จะกำหนดให้บริษัทมี 2 ตำแหน่ง

ตำแหน่งที่มี 5 คน จะกำหนดให้บริษัท มีได้ตำแหน่งละ 1 คน

ซึ่งจะทำการเรียกให้ออกมาสมัครงานทีละฝ่าย

หากมีพนักงานสมัครกับบริษัทนั้นเกินจำนวนที่สามารถรับได้ ให้ประธานบริษัท สามารถคัดเลือกในการสัมภาษณ์เองได้

จากนั้นจะให้เงินทุน 40,000 บาทต่อ 1 บริษัทเพื่อจัดตั้งบริษัทพร้อมทั้งเขียนชื่อพนักงานขึ้นมา เริ่ม set up กิจกรรมดังนี้แล้ว

.

ต่อจากนั้นก็จะเริ่ม ช่วงประมูล เพื่อซื้อยานพาหนะสำหรับรับงานขนส่ง

พาหนะ 8 อย่าง ซึ่งแต่ละแบบ จะมีราคา ค่าใช้จ่ายในการใช้งาน และการบำรุงรักษา รวมถึงอัตราเร็ว และรูปแบบการใช้งานแตกต่างกันไป ซึ่งสามารถดูได้จากไฟล์ชุดแรก

นักเรียนจะประมูลแข่งกัน ทีมไหนประมูลได้ ก็จะได้พาหนะนั้นไปตามราคาที่กลุ่มตนเองประมูล ตัวครูซึ่งจะทำหน้าที่เป็นร้านค้า สุ่มขายพาหนะที่มีจำนวน 16 คัน จากที่มีเท่านั้น โดยแต่ละทีมจะประมูลพาหนะกี่คันก็ได้

.

เฟสสุดท้าย ในเฟสสุดท้ายจะนำยานพาหนะมาให้บริการในธุรกิจการขนส่ง

ซึ่งจะแบ่งเป็น 5 วัน

ในแต่ละวันจะมีออเดอร์เข้าประมาณ 7 ภารกิจ เริ่มตั้งแต่ลำดับที่ 1 2 3 4 5 6 7 ซึ่งก็จะมี ค่าตอบแทน เวลาที่จะต้องส่ง แตกต่างกันไป

ฝ่ายคำนวณเส้นทาง จะต้องคำนวณหายานพาหนะที่เป็นไปได้ที่จะใช้ส่งตามภารกิจนั้นๆ

โดยใช้สมการ v = s/t ในการคำนวณหาเวลา จากอัตราเร็วของยานพาหนะ และระยะทางขนส่งของเงื่อนไขภารกิจนั้นๆ

ฝ่ายการคลังจะทำการคำนวณต้นทุน และหักลบกับเงินที่ได้ เป็นกำไรเข้าสู่บริษัท

จากการใช้ค่าใช้จ่ายต่อรอบคูณกับ ระยะทางขนส่งของเงื่อนไขภารกิจ เป็นต้นทุนของภารกิจนั้น

เพื่อส่งข้อมูลให้ฝ่ายวางแผนได้เลือกว่าจะเลือกใช้ยานพาหนะชนิดใดในการใช้ส่งสินค้า เพื่อให้ได้กำไรสูงที่สุดจากแต่ละภารกิจ

ในช่วงเลือกภารกิจหากมีบริษัทต้องการให้บริการในภารกิจเดียวกันมากกว่าหนึ่งบริษัท จะต้องประมูลลดราคาค่าตอบแทนภารกิจนั้นๆ บริษัทใดให้ราคาดีที่สุดจะได้รีบภารกิจนั้นไป

เมื่อเลือกภารกิจแล้วจะได้รับมอบหมายในการขนส่งภารกิจนั้น

เมื่อจบ 1 วันจะรวบรวมเงินทั้งหมดที่มีและประกาศเงินที่บริษัทมีอยู่ เพื่อเรียงลำดับบริษัทที่เติบโตลำดับที่ 1 2 3 4 และ 5

จากนั้นเริ่มเล่นวันที่ 2 ไปจนถึงวันที่ 5 เมื่อจบวันที่ 5 แล้ว จะทำการหาบริษัทที่เติบโตสูงที่สุดถือว่าเป็นผู้ชนะ

ภารกิจใดเดินทางข้ามวันในวันถัดมา ยานพาหนะที่ใช้ขนส่งในภารกิจนั้นจะไม่สามารถนำมาใช้งานได้ในวันถัดไป เมื่อผ่านพ้นไปแล้วจึงจะสามารถนำกลับมาใช้ได้ในวันถัดไปอีกครั้งหนึ่ง

ผลสะท้อนจากนักเรียน หรือ ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

เราคาดหวังว่า

เด็กๆจะสามารถประมาณเวลาในการเดินทางได้ พอเข้าใจการประมูล

แถมๆทักษะการซื้อขาย หลัก Demand & Supply การแข่งขันทางการค้า การผูกขาด

จากการรีวิวปรากฏว่า เสียงโคตรดังเลยครับ 55 จนบางทีเพื่อนห้องอื่นมาชะโงกดู บางห้องก็เดือดมาก รวมๆแล้วก็สนุกดี

เผื่อเป็นไอเดียเล็กๆอันนึงครับ

บริบท หรือ ข้อเสนอแนะ

กิจกรรมเสียงค่อนข้างดังคุณครูอาจต้องปรับบริบทให้เหมาะสมครับ

ค่อนข้างใช้เวลานาน หากต้องการลดเวลาอาจลดจำนวนวันและจำนวนภารกิจแต่ยังคงความหลากหลายของสถานที่ไว้

บางจุดในกิจกรรมมีความไม่สมดุลบ้างหากใช้หลักการคำนวณตามความเป็นจริงอาจปรับตัวเลขต่างๆให้สมดุลเพิ่มเติม

ไฟล์ที่แบ่งปัน

    วิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ทักษะการคิดวิเคราะห์

    ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

    0
    ได้แรงบันดาลใจ
    0
    ลงไอเดียอีกน้า~
    avatar-frame
    แบ่งปันโดย
    insNattawut Salangsingha
    ครูคนนึงที่อยากเห็นห้องเรียนมีความหมาย

    อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

    please login

    แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

    เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

    icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!

    ไอเดียนี้ถูกต่อยอดเป็น... ✨

    หากได้แรงบันดาลใจจากไอเดียนี้เหมือนกัน
    บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

    ไอเดียน่าอ่านต่อ