กิจกรรมนี้การเรียนรู้นี้เกิดขึ้นในคลาสรายวิชาพลวัตการเมืองการปกครองไทยครับ ซึ่งเป็นวิชาเพิ่มเติมของนักเรียนในสายการเรียนรัฐศาสตร์
แต่ได้ทำการบูรณาการ นำประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ มาจับมือกัน เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการสร้างบ้านแปงเมืองในแผ่นดินประเทศไทย
"สร้างบ้านแปงเมือง" เป็นแนวคิดการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ที่มาจากหนังสือชื่อ "สร้างบ้านแปงเมือง" ของอ.ศรีศักร วัลลิโภดม
ที่นำเสนอเกี่ยวกับภูมิวัฒนธรรม (Cultural Landscape) ที่สัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานของผู้คน
ภูมิวัฒนธรรม (Cultural Landscape) หมายถึงลักษณะภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographical Landscape) ในอาณาบริเวณใดบริเวณหนึ่ง เช่น ป่าเขา ท้องทุ่ง หนองบึง แม่น้ำลำคลอง อันสัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองของผู้คนในท้องถิ่น จนเป็นที่รู้จักและมีการกำหนดนามชื่อเป็นสถานที่ต่าง ๆ ให้เป็นที่รู้จักร่วมกัน ในลักษณะที่เป็นแผนภูมิหรือแผนที่เพื่อสื่อสารถึงกัน และมักจะสร้างเป็น “ตำนาน” (Myth) ขึ้นมาอธิบายถึงความเป็นมาและความหมายความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม (ศรีศักร วัลลิโภดม, (2560), สร้างบ้านแปงเมือง, กรุงเทพฯ: มติชน)
โดยกิจกรรมการเรียนรู้นี้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ
๐ ช่วงที่ 1 : เรียนรู้เกี่ยวกับเมืองโบราณต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินประเทศไทย
๐ ช่วงที่ 2 : เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งของ 3 สิ่ง ได้แก่ เกลือ เหล็ก และลูกปัด ว่าสัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานของผู้คนอย่างไร
ในกิจกรรมช่วงที่ 1 จะให้นักเรียนศึกษาเมืองโบราณต่าง ๆ โดยครูได้จัดเตรียมการ์ดเมืองโบราณไว้ให้
ภายในการ์ดจะประกอบด้วย 'ชื่อเมือง' และ 'ภาพแผนผังของเมือง' ซึ่งจะแสดงลักษณะทางภูมิศาสตร์ของบริเวณนั้น
บางการ์ดอาจจะเป็นลักษณะของโบราณสถานที่ยังคงหลงเหลืออยู่
[ภาพแผนผังของเมือง มาจากนิตยสารเมืองโบราณครับ]
ตัวอย่างการ์ดเมืองโบราณ
เมืองที่เลือกมาให้นักเรียนได้ศึกษา
คูบัว, อู่ทอง, พริบพรี, เพนียด, พระรถ, สุพรรณภูมิ, อโยธยา, สทิงพระ, พระเวียง, ไชยา, พิมาย, ประทายสมันต์, ร้อยเอ็ด, ฟ้าแดดสงยาง, เชียงแสน, เขลางค์นคร, ภูกามยาว, ศรีมโหสถ, ดงละคร, สงขลา, ตะกั่วป่า, ละโว้, ศรีเทพ, เวียงกุมกาม, ทุ่งยั้ง, นครชัยศรี (นักเรียนในคลาสมี 26 คนจึงเตรียมให้พอดีคนครับ)
ประเด็นที่ใช้ในการศึกษาข้อมูล
1) สภาพทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งของเมือง (ลักษณะทางกายภาพ, อากาศ, ทรัพยากรธรรมชาติ)
2) การกำเนิดและล่มสลายของเมือง
3) ลักษณะทางสังคมและเศรษฐกิจของเมืองนั้น
4) ความสำคัญของเมืองที่มีต่อพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
หลังจากนั้นจึงให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับที่ตั้งของเมืองต่าง ๆ แล้วนำมาลองวางบนแผนที่ประเทศประเทศไทย
จากนั้นก็มาพิจารณาร่วมกันถึงที่ตั้งและลักษณะของเมืองที่อยู่บนแผนที่
ในการค้นหาข้อมูล ผมเตรียมนิตยสารเมืองโบราณที่เกี่ยวข้องกับเมืองต่าง ๆ ให้นักเรียนได้ใช้ศึกษาด้วย
ในกิจกรรมช่วงที่ 2 เป็นการศึกษาต่อยอดเกี่ยวกับลักษณะทางเศรษฐกิจต่อยอดจากกิจกรรมที่ 1
โดยดึงสินค้าสำคัญ 3 อย่าง มาใช้เป็นประเด็นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ 1) เกลือ 2) เหล็ก 3) ลูกปัด
มีโจทย์ให้นักเรียนเป็นคำถามท้าทายเพียงแค่ว่า
"สินค้าแต่ละอย่างนั้นส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนโบราณหรือเมืองโบราณอย่างไร"
แล้วให้นักเรียนค้นหาข้อมูลกันก่อน รวมถึงแตกประเด็นออกมาเองจากคำถาม
ครูเข้าไปช่วยในการแนะนำเพื่อการแตกประเด็น รวมถึงนำทางให้นักเรียนเชื่อมโยงไปสู่เรื่องของเศรษฐกิจที่มีผลต่อพัฒนาการของเมือง
จากนั้นใช้วิธีการจัดนิทรรศการภายในห้อง ให้นักเรียนหมุนเวียนไปเรียนรู้แลกเปลี่ยนตามจุดต่าง ๆ
โดยให้มีตัวแทนนักเรียนแต่ละกลุ่ม 1 คน เป็นผู้แทนในการนำเสนอข้อมูลให้
หลังจากนั้นนักเรียนและครูมาช่วยกันสรุปความรู้อีกครั้ง
บทบาทของครูในกิจกรรมทั้ง 2 ช่วงคือ การเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ให้กับนักเรียน (facilitator) คอยเดินดูกระบวนการทำงาน กระบวนการสืบเสาะหาข้อมูล โยนคำถามหรือประเด็นท้าทายอื่น ๆ ให้นักเรียนได้ร่วมกันคิดต่อ
สิ่งที่นักเรียนจะได้จากกิจกรรมนี้คือ
1) การเรียนรู้เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองบนแผ่นดินไทย ได้รู้จักชื่อเมืองโบราณที่อาจไม่เคยคุ้นเคยมาก่อน
2) นักเรียนได้เรียนรู้แบบบูรณาการ ดึงความรู้ทั้งประวัติศาสตร์ไทยและภูมิศาสตร์มาผสมผสานกัน เพื่อให้เห็นว่าศาสตร์แต่ละอย่างมันไม่ได้อยู่อย่างเดี่ยว ๆ แต่การจะทำความเข้าใจสังคมหรืออะไรสักอย่างต้องมีความรู้จากศาสตร์อื่น ๆ มาช่วย
3) ได้รู้จักการคัดเลือกแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ ว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ทำการเปรียบเทียบข้อมูลก่อนมานำเสนอ
4) ได้วิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ความรู้ด้วยตนเอง จากการศึกษาข้อมูลและการแตกประเด็น
5) ได้ทักษะการสื่อสารจากการนำเสนอทั้งผ่านการเขียนและการพูด, ทักษะการสืบเสาะหาความรู้, ทักษะการร่วมมือกันทำงาน
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย