inskru
gift-close

วิธีออกแบบบอร์ดเกมให้เล่นได้ทั้งห้องเรียน

8
3
ภาพประกอบไอเดีย วิธีออกแบบบอร์ดเกมให้เล่นได้ทั้งห้องเรียน

6 วิธีออกแบบบอร์ดเกมให้เล่นได้ทั้งห้องเรียน

ปัญหาสำคัญของการออกแบบบอร์ดเกมเพื่อการใช้ห้องเรียน คือ จำนวนนักเรียนที่มาก เช่น ห้องเรียนที่มีจำนวน 40 คน หรือ 50 คน ดังนั้นปัญหาของการออกแบบเพื่อนำไปใช้ คือ ปัญหาจำนวนนักเรียนในห้องเรียนมาก ในขณะที่จำนวนผู้เล่นบอร์ดเกมปกติเเล้ว จะเล่นได้ไม่เกิน 8 คน หากจะใช้เกมที่นักเรียนเล่นได้ 8 คนต่อ 1 กลุ่ม (จากนักเรียน 40 คน) นั่นเเสดงว่าต้องมีชุดบอร์ดเกมเดียวกันทั้งหมด 5 กล่อง ถึงจะให้เล่นด้วยกันในห้องเรียนได้ หรือไม่ก็ทำเกมที่แตกต่างบทเรียนกันไว้ 4 ชุด เเล้วจัดฐานหมุนเวียนการเล่น เป็นต้น ในบทเรียนของผู้เขียนที่ได้ผู้นำบอร์ดเกมไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เสนอแนวทาง 6 วิธีออกแบบบอร์ดเกมให้เล่นได้ทั้งห้องเรียน ดังนี้

  1. ใช้โครงสร้างเกมแบบเล่นเป็นทีม (Team Based Game) โดยมีผู้นำเกมอยู่หน้าชั้น(ครู) อาจมีการเปิดการ์ดสถานการณ์ต่าง ๆ นักเรียนแต่ละทีมมีบทบาทในการจัดสรรกระดานการเล่นหรือการ์ดหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่จะสัมพันธ์กันกับการ์ดสถานการณ์ที่เปิดขึ้นหน้าชั้นเรียน กิจกรรมในทีมผู้เล่นอาจต้องคิดช่วยกันว่าจะทำอย่างไรให้สามารถทำกำไรในเกมหรืออยู่รอดจากการ์ดสถานการณ์ที่ถูกเปิดขึ้นได้ โดยเเต่ละทีมจะเเข่งขันกัน อาจมีระดับคะแนนเพื่อเพิ่มบรรยากาศในการเเข่งขันมาขึ้น ตัวอย่างเกมที่เล่นง่ายเเละต่อยอดนำไปใช้ในห้องเรียนได้ คือ เกม Farmily
  2. ใช้โครงสร้างเกมหาผู้ร้าย (Traitor Game) โดยมีผู้นำเกมอยู่หน้าชั้น(ครู) เป็นผู้คุมเกม สร้างสถานการณ์ของการหาผู้ร้ายในวง โดยอาจกำหนดจำนวนผู้เล่นได้ถึง 50 คน(ทั้งห้องเรียน) ผู้ร้ายจะแฝงตัวอยู่กับกลุ่มประชาชนในเกม โดยไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ร้าย บทบาทของผู้เล่นฝั่งประชาชน คือ หาผู้ร้ายให้ได้ก่อนที่ผู้ร้ายจะสังหารตนเองไปทีละคน กระบวนการในการหาอาจใช้การเจรจา การโหวต และการสุ่ม โดยผลสุดท้ายผู้เล่นจะแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ได้แก่ ฝั่งคนดีเเละคนร้าย ตัวอย่างเกมที่เล่นง่ายเละต่อยอดนำไปใช้ในห้องเรียนได้ คือ เกม werewolf
  3. ใช้บอร์ดบนจอหรือจับสลาก หากใช้บอร์ดของเกมเป็นจอภาพควรใช้ PowerPoint, Word Wall หรือ เว็บไซต์อื่น ๆ ที่สามารถสร้างลูกเล่นในการเปิดแผ่นป้าย โดยแผ่นป้ายที่ถูกเปิดขึ้น จะมีเงื่อนไขสัมพันธ์กับกระดานผู้เล่นของนักเรียน สัมพันธ์กับการ์ด หรือ สัมพันธ์กับอุปกรณ์ของการเล่น เช่น เปิดแผ่นป้ายเเล้วหมายเลขตรงกับกระดานของผู้เล่นคนใดจะต้องทำตามเงื่อนไขที่แผ่นป้ายนั้นระบุไว้ ตัวอย่างเกมแนวจับสลากที่เล่นง่านเเละต่อยอดนำไปใช้ในห้องเรียนได้ คือ เกมบิงโก
  4. ใช้บอร์ดขนาดใหญ่ที่เล่นได้ทั้งห้อง การใช้บอร์ดขนาดใหญ่จำเป็นต้องพิมพ์ในกระดาษแผ่นใหญ่หรือพิมพ์ไวนิล เพื่อสะดวกต่อการใช้ ส่งผลดีต่อจำนวนผู้เล่นที่บอร์ดขนาดใหญ่แผ่นเดียวนักเรียนสามารถล้อมวงกันเล่นได้ทั้งห้อง จำนวนผู้เล่นเมื่อมีบอร์ดเดียว อาจเเบ่งเป็นทีมหรือใช้เทคนิคเพื่อนคู่คิด(เล่นเป็นคู่) เข้ามาเป็นข้อกำหนดร่วมด้วย เพื่อความเหมาะสมต่อการเล่นได้ทั้งห้อง
  5. ใช้เกมแนว Draw & Write, Roll & Write เกมแนว Draw & Write เป็นเกมที่เปิดการ์ดเเล้ววาดขีดเขียน และเกมแนว Roll & Write เป็นเกมแนวทอยลูกเต๋าเเล้ววาดขีดเขียน ซึ่งกระดานผู้เล่นส่วนใหญ่ใช้กระดาษเป็นแผ่นสำหรับขีดเขียนได้ เมื่อใช้กองการ์ดหรือลูกเต๋าเพื่อสุ่มสามารถใช้สุ่มหน้าชั้นเรียนได้ ส่วนผู้เล่นที่ต้องวาดหรือขีดเขียนตามการ์ดหรือลูกเต๋าที่ทอยได้ ต้องทำตามความน่าจะเป็นที่เกิดขึ้นของการสุ่มในแต่ละครั้ง ตัวอย่างเกมที่เล่นง่ายเละต่อยอดนำไปใช้ในห้องเรียนได้ คือ เกม Cartographer
  6. ใช้โครงสร้าง Cooperative Game เป็นโครงสร้างของเกมแนวร่วมมือกัน ความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นจากสถาการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในเกมเเล้วนำพาทุกคนมาแก้ไขหรือเผชิญสถานการณ์ดังกล่าวด้วยกัน ผู้เล่นต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาหรือร่วมกันเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ การกำหนดสถานการณ์สามารถกำหนดได้อย่างอิสระ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นสามารถกำหนดกลุ่มได้ว่าต้องใช้ความร่วมมือจำนวนกี่คนตามสถานการณ์นั้น ๆ มีการกำหนดบทบาทของผู้เล่นที่มีความหลากหลาย ตัวอย่างเกมที่เล่นง่ายเละต่อยอดนำไปใช้ในห้องเรียนได้ คือ เกม Pandemic

นอกจาก 6 วิธีการนี้ อาจยังมีวิธีการอื่น ๆ ในการออกแบบเพื่อให้ครูสามารถใช้เกมทั้งห้องเรียนได้ ในวิธีการที่ผู้เขียนนำเสนอเป็นเพียงเบื้องต้นของการออกแบบให้บอร์ดเกมใช้จัดกิจกรรมอย่างครอบคลุมทั้งห้องเรียน ในการออกแบบจริงอาจบูรณาการแนวทางโดยไม่จำเป็นต้องยึดว่าต้องใช้วิธีการเดียว แต่อาจใช้หลายวิธีการบูรณาการเข้าไว้ด้วยกัน

เกมและกิจกรรม

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

8
ได้แรงบันดาลใจ
3
ลงไอเดียอีกน้า~
แบ่งปันโดย
นายแสน Facilitator & Board Game
เราเชื่อว่า "บอร์ดเกมสามารถเปลี่ยนแปลงผู้เรียนได้"

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
credit idea

ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

ไอเดียน่าอ่านต่อ