icon
giftClose
profile

ทำยังไงให้วิชา IS มีความหมายกับนักเรียน 😶‍🌫️

14070
ภาพประกอบไอเดีย ทำยังไงให้วิชา IS มีความหมายกับนักเรียน 😶‍🌫️

✍️ วิชา IS (Individual Study) หรือ วิชาค้นคว้าอิสระ

เป็นเหมือนยาขมของนักเรียน เพราะต้องนั่งเขียนรายงานมาส่งอยู่เรื่อยๆ

แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราเปลี่ยนวิชา IS ให้มีความหมายกับนักเรียน

อาจจะไม่ได้ถึงกับเปลี่ยนยาขมเป็นลูกอมรสหวาน

เเต่นักเรียนเข้าใจมากขึ้นว่าเราจะกินยาไปทำไม

📑 วิชาค้นคว้าอิสระ มักเป็นวิชาที่ถูกมองว่าไม่สำคัญ ต่างจากวิชาที่เป็นวิชาการทั่วไป แถมยังถูกมองว่าเป็นวิชาที่ต้องเขียนรายงานส่งครู ดูเป็นภาระงานที่เหนื่อยกายเเละเหนื่อยใจ

เราจึงอยากนำเสนอมุมมองของวิชานี้ใหม่ เป็นฉากทัศน์ที่ควรจะเป็น โดยใช้การตั้งคำถาม หาคำตอบ จากความอยากรู้ของนักเรียนเอง

ความอยากรู้ของนักเรียนเองนั้น จะเป็นเเรงจูงใจจากภายใน ซึ่งจะทำให้ความรู้สึกที่มีต่อการค้นคว้า และทำรายงาน ปรับเปลี่ยนเป็นความรู้สึกที่ดีขึ้นได้เเน่ๆ

🤔 หากเรามองเห็นว่ามนุษย์ล้วนมีคำถามต่อโลกหรือสังคม ที่เขาอยู่และต้องการทำความเข้าใจถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของสิ่งที่เกิดให้มากขึ้น

เราจึงจำเป็นต้องมีวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบ ซึ่งเป็นความรู้ที่ช่วยให้เราเข้าใจโลกและสังคมมากขึ้น

แน่นอนว่า วิธีการที่แตกต่างก็อาจนำมาซึ่งคำตอบที่ต่างกันออกไป ความรู้จึงไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งตายตัว แต่เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ จากวิธีการและตั้งคำถามที่ต่างกันออกไป นอกจากนี้ การตั้งคำถามของมนุษย์ ก็เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ผลักดันผู้คนไปค้นคว้าความรู้บางอย่าง และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกหรือสังคมที่เราอยู่ได้อีกด้วย เช่น การตั้งคำถามว่า เราจะเดินทางเร็วกว่าเดิมได้อย่างไร? หรือ ทำอย่างไรเราจะบินได้อย่างนก?

ก็เป็นคำถาม ที่ทำให้เกิดเครื่องบินที่เราใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันได้นั่นเอง

การค้นคว้าบางอย่างจึงเป็นไปเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ มากกว่าสิ่งที่เราเห็นตอนนี้ และมากกว่าสิ่งที่คนอื่นๆบอกมา การตั้งคำถามของมนุษย์จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก และสามารถเริ่มเรียนรู้ได้จากวิชาค้นคว้าอิสระ โดยเริ่มตั้งคำถามให้ถูกจุดก่อนว่า เรากำลังทำการค้นคว้าไปทำไม? สิ่งที่เราค้นคว้าอยู่นั้นสำคัญอย่างไร?

💭 เราสามารถวางโครงคาบเรียนวิชาค้นคว้าอิสระได้เป็น 3 ส่วน

  1. คำถามและแรงผลักดัน
  2. ออกแบบวิธีการค้นหามาซึ่งคำตอบ
  3. นำเสนอ สร้างการเปลี่ยนแปลง

ทั้ง 3 ส่วนนี้จะทำให้นักเรียนเข้าใจ และเห็นประโยชน์จากวิชา IS ของเรามากขึ้น และมองวิชานี้เป็นมากกว่าการทำรายงานส่งครูธรรมดาๆ

🌟 “คำถามและแรงผลักดัน”

ก่อนหน้านี้เราได้เห็นความสำคัญของการตั้งคำถามแล้ว แต่เราจะทำให้เกิดการตั้งคำถามได้อย่างไรบ้างล่ะ เราขอนำเสนอ 3 วิธีง่ายๆ ที่ชวนให้นักเรียนเกิดการตั้งคำถามในห้อง

💡 ครูอาจเริ่มต้นให้นักเรียนได้ลองเล่าประสบการณ์ที่เขาพบเจอในชีวิต ที่เขามีอารมณ์ร่วมไปกับมัน รู้สึกสงสัย หรือมีข้อสังเกต เป็นตัวตั้งต้นไปสู่การตั้งคำถามสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น นักเรียนอาจเล่าถึงประสบการณ์ความเครียด หรือความกดดันจากการเรียน เพราะครอบครัวคาดหวังในตัวเขาไว้ นั่นอาจทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า “ความเครียดจากการเรียนส่งผลต่อชีวิตของนักเรียนไทยอย่างไร?”

💡 ครูอาจเริ่มต้นโดยการชวนคุยในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับด้านธรรมชาติและเทคโนโลยี นักเรียนอาจมีความสงสัยต่อสิ่งที่อยู่บนท้องฟ้า จนอาจมีคำถามว่า “ทำไมเครื่องบินและยานอวกาศ จึงลอยขึ้นไปบนท้องฟ้าได้?”

💡 อีกวิธีที่น่าสนใจคือ การชวนคุยในด้านเศรษฐกิจ นักเรียนอาจเล่าถึงความเป็นอยู่ของทางบ้าน ที่เปิดร้านของชำอยู่ ช่วงนี้อาจจะเงียบเหงา ซบเซาลง ก็อาจทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า “หากต้องเปิดร้านขายของ ต้องทำร้านแบบไหนที่จะดึงดูดลูกค้าได้จำนวนมาก?”

💡 [แถม] เรื่องปกติที่พบเจอทั่วไป เห็นจนชินตาทุกวัน ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามได้เหมือนกันนะ เช่น “ทำไมหน้าโรงเรียน นักเรียนถึงไม่นิยมใช้สะพานลอย?” หรือ “ทำไมในโรงเรียน เพื่อนๆของเขาจึงไม่ทิ้งขยะลงถัง?”

เมื่อนักเรียนได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจขึ้นมาเเล้ว สิ่งต่อไปที่คุณครูสามารถชวนคุยให้ลึกซึ่งลงไปอีกได้ คือการคุยเพื่อศึกษาเเรงผลักดันของนักเรียน ว่ากำลังค้นคว้าเรื่องนั้นเพื่ออะไร? หรือตั้งใจจะเอาไปทำอะไรต่อไป? เช่น นักเรียนที่ตั้งใจจะค้นคว้าประสบการณ์ของนักเรียนที่ถูกบูลลี่ในโรงเรียน เพื่อนำมาสร้างการตระหนักรู้ในโรงเรียน และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น เป็นต้น

🌟 “ออกแบบวิธีการค้นหาให้ได้มาซึ่งคำตอบ”

เมื่อนักเรียนแต่ละคนได้บอกเล่าและตั้งคำถามเบื้องต้น แล้วครูอาจให้เขาจับกลุ่มตามความสนใจที่ใกล้เคียงกัน เช่น นักเรียนที่สนใจเรื่อง ปัญหาการศึกษา อาจมาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน จากนั้นอาจเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สร้างคำถามสำคัญร่วมกันว่าเขาอยากรู้อะไร

จากนั้นชวนให้นักเรียนระดมความคิดกันว่า พวกเขาจะมีวิธีการค้นคว้าให้ได้คำตอบเรื่องนี้อย่างไร ตัวอย่างเช่น บางกลุ่มสนใจปัญหาในโรงเรียนเกี่ยวกับการทิ้งขยะไม่เป็นที่ เขาตั้งคำถามว่า สาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดปัญหา ทำให้พวกเขาเห็นว่า การค้นหาถึงสาเหตุ อาจจำเป็นต้องมีการสอบถามพูดคุยกับเพื่อน ๆ ของเขา ซึ่งสามารถทำได้ถ้าต้องคุยกับเพื่อนๆจำนวนไม่มากนัก เเล้วถ้าต้องสอบถามทั้งโรงเรียนขึ้นมาล่ะ!? การไปคุยกับทุกคนก็อาจเป็นเรื่องยาก เราอาจต้องออกแบบการสำรวจข้อมูลตรงนี้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เเบบสอบถาม หรือการสุ่มสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง ที่แบ่งตาม ระดับชั้น อายุ 

การออกแบบวิธีการค้นหาเพื่อได้มาซึ่งคำตอบ จึงเป็นส่วนสำคัญมากที่จะนักเรียนจะได้มาถกเถียงกัน ว่าวิธีการแบบไหนที่น่าเชื่อถือ หากต้องการทำความเข้าใจเรื่องที่ตัวเองอยากรู้ ทำไมเราถึงใช้วิธีนี้? มันดีกว่าวิธีอื่นอย่างไร? มากไปกว่านั้น ยังพาให้นักเรียนได้กลับไปอ่านสิ่งที่ผู้คนเคยศึกษามาก่อนหน้า เพื่อเป็นแนวทางก่อนลงไปศึกษาค้นคว้าจริงอีกด้วย

🌟 “นำเสนอ สร้างการเปลี่ยนแปลง”

เมื่อเราเข้าใจความรู้ที่ได้ค้นคว้ามา เราก็ต้องหาวิธีอธิบาย ถ่ายทอดมันออกมาเพื่อให้คนอื่นเข้าใจ คุณครูอาจชวนนักเรียนวิเคราะห์หรือตีความเพื่อสร้างเป็นข้อสรุป และอาจมอบหมายงานให้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบที่เราคุ้นเคย อย่างเช่น การเขียนรายงาน แต่เป็นรูปแบบอะไรก็ได้ที่จะช่วยอธิบายให้เข้าใจข้อมูลนั้นได้ง่ายที่สุด เช่น นักเรียนที่ไปสัมภาษณ์พี่วินมอเตอร์ไซค์ที่ขับบนฟุตบาทมา อาจได้ข้อสรุปว่า การไม่มีที่กลับรถทำให้พี่วินหลายคนเลือกที่จะขี่บนฟุตบาทเพื่อส่งผู้โดยสาร คุณครูก็อาจจัดวงคุยถึงการออกแบบผังเมืองที่ไม่สอดคล้องกับชีวิตคนเเทนก็ได้ จะเห็นว่าถึงเปลี่ยนรูปแบบในการนำเสนอไป ไม่ว่านักเรียนอาจทำออกมาเป็นหนังสือการ์ตูน เพลง หนังสั้น งานศิลปะ Talk ก็ตาม แก่นสำคัญของงานคือความเข้าใจในการนำเสนอ ก็ยังคงไว้อยู่ได้เหมือนเดิม

💖 เมื่อนักเรียนได้เรียนรู้ เข้าใจโลก ผ่านการค้นคว้าข้อมูลต่างๆมากขึ้น ผ่านความรู้ที่เราได้มา

อีกสิ่งหนึ่งที่คุณครูสามารถทำได้คือ การเเนะนำให้นักเรียนเป็น Active Citizen ที่สามารถนำความรู้เข้าไปมีส่วนร่วม สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมต่อไปได้อีกด้วย เช่น นักเรียนอาจนำผลจากการค้นคว้าเกี่ยวกับการบูลลี่ เข้าเสนอต่อผู้บริหารในโรงเรียนให้เข้ามามีส่วนแก้ไขปัญหานี้ก็เป็นไปได้


จะเห็นได้ว่าวิชาค้นคว้าอิสระ หรือวิชา IS นี้ มีประโยชน์กับตัวนักเรียน เเละสังคมมากๆ และคุณครูสามารถช่วยจุดประกาย เน้นให้นักเรียนเห็นความสำคัญได้จริงๆ

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(2)
เก็บไว้อ่าน
(5)