icon
giftClose
profile

ถ้าเราพูด..อย่าโกรธนะ

46653
ภาพประกอบไอเดีย ถ้าเราพูด..อย่าโกรธนะ

“เราเป็นเพื่อนกันแค่บางเรื่อง ก็ได้นะ :)”

สีหน้าบึ้งตึง โกรธ แม้จะเป็นเรื่องปกติที่เราทุกคนเห็นเกือบทุกวัน แต่ในชั้นเรียนของเรา สีหน้าบึ้งตึงของเด็กๆ มักเกิดจากการได้ยินถ้อยคำที่ไม่ถูกใจจากอีกฝ่าย จนเพื่อนแสดงออกด้วยสีหน้า


กิจกรรมนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากอารมณ์ของเด็กๆในชั้นเรียนค่ะ เราสังเกตได้ว่าเด็กๆหงุดหงิดได้ง่ายมาก จากคำพูด จากการหยอกล้อ หรือแม้กระทั่งการมองหน้ากันเฉยๆ


ขั้นที่ 1 ครูสำรวจความรู้สึกเด็กๆด้วยตัวเอง

เราสังเกตพฤติกรรมของเด็กๆตั้งแต่เปิดภาคเรียน พบว่ามีการหยอกล้อกันด้วยร่างกาย คำพูด และส่วนใหญ่จบด้วยอารมณ์โกรธ ต่อด้วยการฟ้องคุณครู

ทุกครั้งที่มีการฟ้อง เราจะถามว่า "ทั้ง 2 ฝ่าย ชอบที่อีกฝ่ายทำกับเราหรือไม่" เด็กๆตอบเหมือนเดิมทุกครั้งว่าไม่ชอบ ค่ะ//ครับ และทุกคนมีเหตุผลของตัวเองเสมอ


ขั้นที่ 2 เด็กๆและครู สำรวจความรู้สึกกันและกัน ด้วยกิจกรรม "ถ้าเราพูด...อย่าโกรธนะ" มีข้อตกลงว่า แม้ว่าระหว่างวันเราจะโกรธอะไรกันมา ในชั่วโมงนี้เราจะเปิดใจให้กัน ❤️

เราใช้กิจกรรม แลก(วาด)นามบัตร จากคุณครู Faii insKru ว่าเด็กๆรู้จักกันมากน้อยแค่ไหน ผ่านภาพวาด (รวมตัวครูด้วยนะคะ)


หลังจากวาดภาพเสร็จ ทุกคนอธิบายลักษณะของตนเองผ่านภาพวาด และเลือกภาพวาดในกระดาษของตนเอง(ที่เพื่อนวาดให้)ที่สนใจ และให้เพื่อนที่วาดให้ตอบว่า ทำไมถึงวาดภาพนั้น?


ภาพวาดที่เพื่อนวาดให้ มีทั้งภาพที่แสดงความรู้สึกเชิงบวกและเชิงลบ และส่วนใหญ่เด็กๆสนใจภาพที่ดูแล้วรู้สึกไม่สบายใจ เช่น

  • การเขียนคำพูดที่เพื่อนเจ้าของนามบัตร มักพูดเวลาโมโห (สมน้ำหน้า,มาดิ ไม่กลัวหรอก!,จำไว้!)
  • คำพูดที่เจ้าของนามบัตรบอกว่าอ่านแล้วไม่สบายใจ (ออกไป,สวยมากมั้ง)
  • บางภาพมีความหมายไม่ชัดเจน เอนไปทางสิ่งที่ไม่เหมาะสม

ช่วงแรก เด็กๆไม่กล้าบอกว่าตัวเองเป็นคนวาด เพราะกลัวเพื่อนโกรธ กลัวครูดุ

…เราถามเด็กว่า ที่เราไม่กล้าบอกว่าเราวาดรูปนั้นให้เพื่อน เพราะเราเองก็ไม่สบายใจกับภาพหรือคำพูดนั้นรึเปล่าคะ? ที่เพื่อนเจ้าของนามบัตรอยากรู้ว่าใครวาด เพื่อนก็ไม่สบายใจเหมือนกันน้า…..


เราประทับใจในความกล้าหาญของเด็กที่กล้าบอกว่าเขาเขียนคำนั้น หัวใจเต้นแรงมากๆ

(ออกไป!)

” Aชอบหงุดหงิดใส่หนูค่ะ ที่หนูเขียนคำนั้น เพราะหนูอยากให้เขาอยู่ห่างจากหนูเวลาที่เขาโมโห”


(มาดิๆไม่กลัวหรอก!)

”เขายกนิ้วกลางใส่ผมครับ ผมโกรธมาก)


(สวยมากมั้ง!)

”หนูเห็นเขาชอบหนีบผมและแต่งตัวค่ะ”


บางคำตอบ แม้ว่าจะเป็นการบอกข้อเสียของเจ้าของนามบัตร เด็กๆก็กล้าที่จะยอมรับ


ขั้นตอนนี้เด็กๆได้บอกความรู้สึกของตัวเอง ช่วงหลัง เด็กๆกล้าบอกว่า เคยแกล้งเพื่อนแบบนี้ เพื่อนโกรธมากครับตอนนี้เคลียร์กันแล้ว

ทุกคนรับรู้ว่าเพื่อนๆมีคำพูดที่ไม่อยากได้ยิน ได้ยินแล้วโมโห ไม่สบายใจ รับรู้ว่าทุกคนมีนิสัยที่เป็นข้อดีและข้อเสีย


“งั้นเราเป็นเพื่อนกันแค่บางเรื่อง ดีมั้ยคะ?☺️”



…คุยกันในบรรยากาศแบบที่ไม่เคยคุยมาก่อน อ่อนไหวมากๆค่ะ


เราเองเป็นคนหนึ่งที่มักเลี่ยงและไม่พูดความรู้สึกที่อ่อนไหวเท่าไหร่ ชั่วโมงนี้ได้ร่วมเปิดใจคุยกับเด็กๆ รู้สึกอ่อนไหวไม่แพ้กันเลยยย


...ใจฟูนะ เราเชื่อว่าเด็กๆคงอ่อนไหวพร้อมกับใจฟูเหมือนกัน…


”หนูอยากให้มีแบบนี้อีกค่ะ/ครับ” นักเรียนกล่าว

ครูป๊อปกับแก้วกาแฟ

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(5)
เก็บไว้อ่าน
(15)