icon
giftClose
profile

สถิติ กับการเลือกตั้ง

12941
ภาพประกอบไอเดีย สถิติ กับการเลือกตั้ง

ที่มาของไอเดีย หรือ จุดประสงค์การสอน

เกิดจากในช่วงที่เปิดเทอม กำลังอยู่ในช่วงที่มีการเลือกตั้งพอดี

และมีนักเรียนบางส่วนที่อายุถึง 18 ปี สามารถไปเลือกตั้งได้


แต่ก็มีบางส่วนที่อายุยังไม่ถึง ไม่สามารถเลือกตั้งได้


จึงนำสถานการณ์การเลือกตั้ง มาเชื่อมโยงกับกระบวนการทางสถิติ


โดยจำลองสถานการณ์ เป็นการจำลองการเลือกตั้งขึ้นมา

ขั้นตอน

เริ่มจากนำเข้าสู่บทเรียนโดยพูดถึงผลการเลือกตั้งในพื้นที่เขตเลือกของจังหวัดนักเรียน และถามถึงความเห็นนักเรียน ต่อผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น


จากนั้นคุยกับนักเรียนว่า เรามาลองเลือกตั้งกันในห้องบ้างดีกว่า


โดยขอตัวแทนนักเรียนออกมาเป็นผู้สมัคร จำนวน 3 คน (ไม่ควรจะขอเยอะไป เดี๋ยวหาเสียงไม่ทัน 😅)

และ ขออาสาสมัครเป็น กกต. จำนวน 3-5 คน เพื่อช่วยดำเนินการเตรียมสถานที่ บัตรเลือกตั้ง และนับคะแนน


(ระหว่างที่ขออาสาสมัคร กกต. เราควรให้นักเรียนที่เป็นผู้สมัครเตรียมหาเสียงเลย เพราะกว่าจะได้ กกต. อาจจะใช้เวลาพอสมควร เพราะนักเรียนบางห้องอาจจะแย่งกันเป็น กกต. หรือบางห้องที่ช้ากว่า อาจจะไม่มีใครอยากเป็น กกต. ครูควรใช้การสุ่มอย่างง่ายเลือก กกต. เพื่อให้การสอนราบรื่นขึ้น)


พอได้ กกต. เรียบร้อย ก็ให้นักเรียนที่เป็นผู้สมัคร ออกมาหาเสียง โดยจำกัดเวลาคนละ 1-3 นาที (ซึ่งตอนนี้จะเป็นช่วงที่ นักเรียนชอบมาก เพราะจะได้แสดงความเห็นอยากให้มีการเปลี่ยนแปลง หรือ แสดงความต้องการที่อยากได้จริง ๆ เช่น จะให้มีการติดแอร์ทุกห้องเรียน ให้นักเรียนใส่ชุดพละมาโรงเรียนทุกวัน เป็นต้น)


จากนั้นให้ กกต. ช่วยจัดพื้นที่สำหรับการลงคะแนนลงในบัตรเลือกตั้ง และ เริ่มการนับคะแนน


เมื่อนับคะแนนเรียบร้อย ทั้งห้องจะร่วมกันแสดงความยินดีกับนายกห้อง (เพียงในนามเท่านั้น 😆)


จากนั้นครูพานักเรียน สรุป เชื่อมโยง การดำเนินการเลือกตั้ง กับขั้นตอนทางสถิติ ดังนี้


เราเริ่มจากคำถามว่า ผู้สมัครคนไหน ควรจะเป็นนายกห้องเรียน

จากนั้นเราจึงใช้บัตรเลือกตั้ง แทนแบบสอบถาม เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล

จากนั้น เมื่อ กกต. เริ่ม ทำการนับคะแนน เราจะเห็นว่า มีการตีตาราง เพื่อจัดการข้อมูลที่ได้ สำหรับการนำข้อมูลไปวิเคราะห์


โดยค่ากลางที่เราใช้สำหรับเป็นตัวแทนเพื่อวิเคราะห์ในการเลือกตั้งนี้คือ ฐานนิยม

เพราะนักเรียนได้เลือกผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุด


จากนั้นครูให้นักเรียนในห้องช่วยกันวิเคราะห์ว่า ผู้สมัครแต่ละคนได้คะแนนเสียงคิดเป็นร้อยละเท่าใดบ้าง และมีผู้ทำบัตรเสียคิดเป็นร้อยละเท่าใด


และให้นักเรียนลองตีความจากผลลัพธ์ที่ได้ว่าจากข้อมูลที่เราช่วยกันวิเคราะห์นั้นสามารถแปลผลได้อย่างไร


โดยนักเรียนจะพูดคุยกันเกี่ยวกับผลคะแนน คนที่ไม่ประสงค์ออกเสียง คนที่ทำบัตรเสีย (บัตรเสียเกิดจากการที่นักเรียนทำเครื่องหมายถูก แทน กากบาท หรือทำสัญลักษณ์อื่น ๆ)


เพื่อนำไปสู่การนำเสนอข้อมูล ครูควรให้คำถามว่า จากผลคะแนนนี้ เราจะแสดงออกมาอย่างไร เพื่อให้เข้าใจง่าย และสามารถมองแป๊บเดียวก็เก็ท ซึ่งมีนักเรียนเสนอความเห็นว่าควรทำเป็นแผนภาพ หรือแผนภูมิต่าง ๆ เหมือนที่มีการนำเสนอผลการเลือกตั้งในข่าวตามโทรทัศน์


ครูจึงให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกัน เพื่อนำเสนอข้อมูลผลการเลือกตั้งนี้ ตามที่นักเรียนคิดว่าจะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เป็นการบ้าน นำส่งในคาบถัดไป

ผลลัพธ์ที่เกิด หรือ คาดว่าจะเกิดขึ้น

นักเรียนได้ทบทวนกระบวนการทางสถิติ ในการเก็บรวบรวมข้อมูล การจัดการข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การแปลความหมาย และการนำเสนอข้อมูล ผ่านสถานการณ์ที่กำลังเป็นเทรนด์ในปัจจุบัน ทำให้นักเรียนรู้สึกอยากมีส่วนร่วมในการเรียน ได้ฝึกทักษะการนำเสนอข้อมูลโดยใช้แผนภูมิ และแผนภาพ และเป็นเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับเรื่องราวในชีวิตของนักเรียนได้เป็นอย่างดี

บริบท หรือ ข้อเสนอแนะ

อาจจะต้องบิ๊วนักเรียนก่อนทำกิจกรรมซักนิดหากเวลาล่วงเลยช่วงเลือกตั้งไปแล้วนะคะ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(1)