ครูเอกกี้มาเเบ่งปันการจัดการเรียนรู้ การอ่านจับใจความ จำนวน ๒ แผนการจัดการเรียนรู้ ” ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ขั้นนำเข้าสู่บทเรียนนักเรียนยิ้ม หัวเราะ สนุกสนานตลอดทั้งคาบ โดยครูเอกกี้นำวิธีสอนของคุณครู ครูวุฒิชัย ครองสิทธิ์โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม จ.อ่างทอง https://youtu.be/lXuqSIfuTEo มาปรับประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของนักเรียนที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ ครูเอกกี้นำวิธีกระบวนจัดการเรียนรู้ เเละสื่อประกอบการสอน เช่น สไลด์การสอน ใบความรู้ ใบงาน เป็นต้น มาให้คุณครูทุกท่านนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอน
โดยครูเอกกี้ใช้เวลาในการกิจกรรมนี้จำนวน ๒ คาบเรียน ชั่วโมงเเรกจะกระตุ้นนักเรียนให้คิดโดยใช้กระบวนการกลุ่ม ชั่วโมงที่สองครูจะทบทวนความรู้เดิม (เเละให้เขียนความสึกของนักเรียนในช่วงเวลานั้น) กระดาษเขียนความรู้สึกครูจะเปิดอ่านตอนที่นักเรียนทำใบงาน จะทำให้บรรยากาศไม่ตึงเครียดจนเกินไป เเละที่สำคัญนักเรียนจะได้รอยยิ้มเสียงหัวเราะอีกด้วย *จุดมุ่งหมายที่ครูให้นักเรียนเขียนถ่ายทอดความรูู้สึกออกมา เพราะเราจะได้ทราบปัญหาที่แฝงอยู่ในความรู้สึกนั้น ครูจะได้เเนะนำให้กำลังใจเเละบอกแนวทางในการทำสิ่งนั้นได้อย่างรอบคอบ
กิจกรรมการเรียนรู้ (ชั่วโมงที่ ๑)
ขั้นที่ ๑ นำเข้าสู่บทเรียน (๕ นาที)
๑) ครูกล่าวทักทายนักเรียน จากนั้นครูนำนักเรียนเล่นกิจกรรม “ส่งสาร” เพื่อกระตุ้นความคิดโดยครูมีข้อความให้นักเรียนคนที่ ๑ อ่าน จากนั้นนักเรียนคนที่ ๑ ค่อยส่งสารต่อให้คนที่ ๒ ๓ จนกระทั่งถึงคนสุดท้าย และให้คนสุดท้ายออกมานำเสนอว่าคนที่ ๑ ส่งสารเรื่องใด ตัวอย่างข้อความ
หลับตาลงก็เห็นแต่ใบหน้าเธอ
กี่เช้าตื่นมาก็เจอว่าคิดถึงเธออยู่เป็นประจำ
ใจมันลอยออกไปหาเธออยู่ทุกเช้าค่ำไม่รู้จะทำยังไง
เพลง กรุณาฟังให้จบ
ศิลปิน แช่ม แช่มรัมย์
๒) จากนั้นครูอธิบายและแจ้งจุดประสงค์ของการเรียนในคาบนี้
ขั้นที่ ๒ ขั้นสอน (๔๐ นาที)
๓) ครูแจกใบความรู้เรื่อง “การอ่านจับใจความ”
๔) ครูเปิดโปรแกรมนำเสนอ Power point เรื่อง “การอ่านจับใจความ” ให้นักเรียนอ่านความหมายของพร้อมกัน
๕) ครูอธิบายความรู้เรื่องการอ่านจับใจความในหัวข้อต่อไปนี้ (ใช้เวลา ๒๐ นาที)
๑. การอ่านจับใจความโดยรวม
๒. การอ่านจับใจความสำคัญ
๓. ตำแหน่งของใจความสำคัญ
๔. การจับใจความสารคดี
๖) เมื่อจบแต่ละหัวข้อครูจะตั้งคำถาม ให้นักเรียนร่วมกันตอบคำถามเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในเนื้อหาที่ครูสอน โดยใช้เพลง ส้มตำ (๒๕๑๓) เนื้อร้องพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
ต่อไปนี้จะเล่าถึงอาหารอร่อย คือ ส้มตำกินบ่อยบ่อย ๆ รสชาติแซ่บดี วิธีทำก็ง่ายจะบอกได้ต่อไปนี้ มันเป็นวิธีพิเศษเหลือหลาย ไปซื้อมะละกอลูกพอเหมาะ ๆ สับ ๆ เฉาะ ๆ ไม่ต้องมากมาย ตำพริกกับกระเทียมยอดเยี่ยมกลิ่นอาย น้ำปลา มะนาว น้ำตาลทราย น้ำตาลปิ๊ปถ้ามี *ปรุงรสให้แน่หนอใส่มะละกอลงไป อ้อ…อย่าลืมใส่กุ้งแห้งป่นของดี มะเขือเทศเร็วเข้าเอาถั่วฝักยาวใส่เร็วรี่ เสร็จสรรพแล้วสิยกออกจากครัว กินกับข้าวเหนียวเที่ยวแจกให้ทั่วกลิ่นหอมยวนยั่วน่าน้ำลายไหล จดตำราจำส้มตำลาว เอาตำรามา ใครหม่ำเกินอัตราระวังท้องจะพังขอแถมอีกนิดแล้วจะติดใจใหญ่ ไก่ย่างด้วยเป็นไรอร่อยแน่จริงเอย
๗) ครูแบ่งกลุ่มนักเรียนจำนวน ๒ กลุ่ม ใช้วิธีแบ่งกลุ่มโดยการนับเลข ๑ ๒ จนครบทุกคนจากนั้นให้นั่งตามกลุ่มหมายเลขที่นักเรียนนับ
๘) นักเรียนส่งตัวแทนกลุ่มออกมาจับสลากหน้าชั้นเรียน ว่าจะได้หัวข้อใด
๙) ครูแจกกระดาษชาร์ตให้นักเรียนแต่ละกลุ่มตามหัวข้อที่ได้รับ โดยในสลากมีข้อความคำถามดังต่อไปนี้
ข้อความที่ ๑
“ในสังคมไทยปัจจุบันเต็มไปด้วยความเชื่อมากกว่าความคิด พฤติกรรมของผู้คนในสังคมแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ชีวิตอยู่ด้วยความเชื่อมากกว่าอยู่ด้วยความคิด ดังนั้นถ้อยคำที่กระจกหลังของรถที่ปรากฏตามท้องถนน จึงมีแต่คำว่า รถคันนี้สี...ตรงข้ามกับรถที่เป็นสีจริง เช่น รถสีแดงก็เขียนว่ารถคันนี้สีเขียว หรือในจอโทรทัศน์ก็มีแต่ความเชื่อมากกว่าความคิด แม้หลายรายการจะขึ้นตัวอักษรว่าโปรดใช้วิจารณญาณในการชมด้วยก็ตาม จะมีสักกี่คนจะอ่านหรือฟังถ้อยคำเหล่านั้น หรือแม้แต่ในชีวิตทั่วไปในทันทีที่เกิดเรื่องประหลาดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติที่ผิดเพี้ยนหรืออย่างใดก็ตาม สิ่งแรกที่คนในสังคมจะทำคือ บูชากราบไหว้และขอหวย สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้วและเป็นที่เฮฮาสำหรับบางกลุ่ม คนในสายการเมืองและสายบันเทิงที่เป็นสายคุมความคิดและความรู้สึกของคนทั้งประเทศก็ใช้ความเชื่อนำเช่นกันจนดิฉันคิดว่า เราอาจเปลี่ยนแปลงสังคมแห่งความเชื่อนี้กลับมาเป็นสังคมแห่งการคิดได้ยากยิ่งแล้ว จึงอยากให้เราช่วยกันทำสังคมแห่งความเชื่อนี้เป็นสังคมแห่งความเชื่อที่เป็นบวก แต่พอดีและพอควร
ข้อความที่ ๒
“ผมผ่านการใช้ชีวิตมามากแล้ว ทั้งชีวิตเพื่อการงาน ชีวิตเพื่อสังคม ชีวิตเพื่อครอบครัว ญาติมิตร และชีวิตเพื่อตนเอง รู้สึกว่าได้ผ่านการใช้ชีวิตมามากพอแล้ว ที่ยังมีชีวิตและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อยู่บ้าง ถือเป็นโชคดีและเป็นของแถม จึงใช้ชีวิตและทำกิจกรรมเท่าที่ทำได้ไปเรื่อยๆ อย่างสบายใจ แม้จะมีภาวะเจ็บป่วยอยู่แต่ก็ไม่รุนแรงมากยังคงช่วยตัวเองได้ ไปไหนมาไหนได้ แม้ในอัตราที่ค่อนข้างช้าและเจ็บปวดเพราะมีแรงน้อย”
๑๐) เมื่อนักเรียนได้หัวข้อแล้ว นักเรียนในกลุ่มช่วยกันสรุปใจความสำคัญลงในกระดาษชาร์ต
(ใช้เวลา ๒๐ นาที)
๑๑) เมื่อเขียนสรุปใจความสำคัญเสร็จ ให้แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียน และครูร่วมแสดงความคิดเห็น (ใช้เวลาในการนำเสนอ ๑๐ นาที)
ขั้นที่ ๓ ขั้นสรุป (๕ นาที)
๑๒) ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปบทเรียนเรื่องการอ่านจับใจความ
สื่อ/แหล่งเรียนรู้
๑. ใบความรู้เรื่อง “การอ่านจับใจความสารคดี”
๒. โปรแกรมนำเสนอ Power point เรื่อง “การอ่านจับใจความ”
๓. ปากกาเมจิก ๒ ด้าม
๔. กระดาษชาร์ต ๒ แผ่น
กิจกรรมการจัดการเรียนรู้ (ชั่วโมงที่ ๒ )
ขั้นที่ ๑ นำเข้าสู่บทเรียน (๕ นาที)
๑) ครูกล่าวทักทายนักเรียน และแจกกระดาษให้นักเรียนทุกคนเขียนความรู้สึกของตนเอง จากนั้นนำมาหย่อนในกล่องที่ครูเตรียมไว้
๒) ครูถามกระตุ้นความคิด “สารคดี คืออะไร” จากนั้นครูอธิบายและแจ้งจุดประสงค์ของการเรียนในคาบนี้
ขั้นที่ ๒ ขั้นสอน (๔๐ นาที)
๓) นักเรียนร่วมกันทบทวนความรู้เกี่ยวกับหลักการอ่านจับใจความ โดยในระหว่างการสอนครูจะสุ่มหยิบกระดาษความรู้สึกที่นักเรียนเขียนไว้ขึ้นมา จากนั้นเพื่อนร่วมชั้นช่วยจับใจความสำคัญว่าเพื่อนต้องการสื่ออะไร อีกทั้งเป็นการให้กำลังใจนักเรียน
๔) นักเรียนแต่ละคนเลือกอ่านสารคดีที่ครูนำมาเป็นตัวอย่าง ๑ เรื่อง จากนั้นนำความรู้จากการอ่านสารคดีที่เลือกมาทำใบงานที่ ๑ เรื่อง “อ่านให้คล่อง ลองจับใจความ” ใช้เวลาในการทำ ๓๐ นาทีเมื่อทำเสร็จแล้วให้นำส่งครูตรวจ
๕) นักเรียนตอบคำถามกระตุ้นความคิด “เพราะเหตุใด นักเรียนจึงเลือกสารคดีเรื่องดังกล่าวมาจับใจความ”
๖) ครูตรวจสอบการทำใบงานที่ ๑ เรื่อง “อ่านให้คล่อง ลองจับใจความ” เพื่อพิจารณาความถูกต้องของการจับใจความสารคดี
ขั้นที่ ๓ ขั้นสรุป (๕ นาที)
๗) ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปบทเรียนเรื่องการอ่านจับใจความ
สื่อ/แหล่งเรียนรู้
๑. ใบงานเรื่อง “อ่านให้คล่อง ลองจับใจความ”
๒. โปรแกรมนำเสนอ Power point เรื่อง “การอ่านจับใจความ”
๓. กระดาษโน้ต Double A
๔. กล่องความรู้สึก
ขอขอบพระคุณรูปภาพประกอบการสอน
เพจเฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/InskruThailand
หมายเหตุ : ใช้สำหรับการศึกษา เเละกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนเท่านั้น
นักเรียนมีสนใจในการเรียนการสอนมากขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่ครูอ่านกระดาษความรู้สึกนักเรียนยิ้ม หัวเราะ สนุกสนาน งานที่ครูมอบหมายเสร็จในชั่วโมง
คุณครูควรปรับกิจกรรมให้เข้ากับบริบทของโรงเรียน เเละนักเรียนของคุณครูนะครับ
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!